พระเจ้าอโศกมหาราช
กษัตริย์ผู้เป็นดั่งดวงดาว เจิดจรัสแสงท่ามกลางหมู่มวลกษัตริย์
ในประวัติศาสตร์ของโลก มีกษัตริย์และจักรพรรดิหลายพันพระองค์ที่ “ส่องแสงเพียงครู่เดียวแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว แต่ “พระเจ้าอโศกมหาราช” ส่องแสงเจิดจรัสเหมือนดาวจรัสแสงมาจนทุกวันนี้”
ประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นถูกบันทึกไว้หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์หลายศตวรรษ ดังนั้นเรื่องราวตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งพระเจ้าอโศกมหาราชหันมานับถือพุทธศาสนานั้น จึงไม่มีหลักฐานปรากฎชัดเจน
ยกตัวอย่างคำนิยมในหนังสือเรื่อง “พระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนูปถัมภกผู้ยิ่งใหญ่” ได้กล่าวไว้ว่า “เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นตำนานจึงปรากฎในคัมภีร์และพงศาวดารโบราณหลายเล่ม ซึ่งเนื้อความตรงกันบ้างต่างกันบ้าง เรื่องราวบางอย่างก็แปลกพิสดารอย่างน่าสนใจ ส.พลายน้อย จึงนำมาเล่าให้ฟังโดยสังเขปเพื่อผู้อ่านจะได้ความรู้เชิงเปรียบเทียบ เพราะยากจะยืนยันได้ว่าตำนานเล่มใดถูกต้อง”
และแล้วก็เป็นจริงอย่างที่ผู้รู้ท่านบอก พอผู้เขียนได้อ่านประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราชจากหลายๆ แหล่งข้อมูลแล้ว ก็เริ่มรู้สึกสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูกเพราะเรื่องราวนั้นหลากหลาย และบางเรื่องก็เล่าได้แตกต่างกันมาก
ดังนั้นพระราชประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ผู้เขียนนำมาเรียบเรียงนี้ จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่สุด หากแต่หยิบยกข้อมูลมาจากหนังสือหลายๆ เล่ม ซึ่งนักประพันธ์แต่ละท่านได้ทุ่มเทเวลาศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลของพระเจ้าอโศกมาแล้วไม่ใช่น้อย
ผู้เขียนเองก็ไม่ได้ปักใจเชื่อถึงความโหดร้ายสุดๆ ของพระเจ้าอโศก เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช ฆ่าพี่น้องไปร้อยคน ประหารชีวิตเสนาบดี 500 คน หรือ ตั้งใจจะจับพระภิกษุ 500 รูปถ่วงน้ำ หรือ ที่พรรณนาว่าพระเจ้าอโศกตอนวัยเยาว์ รูปร่างอ้วนเตี้ย หน้าตาอัปลักษณ์ (ดูได้จากภาพแอนิเมชันด้านล่าง) ซึ่งดูขัดกับบุญบารมีของพระเจ้าอโศกยิ่งนัก
นอกจากหนังสือที่ประพันธ์โดยคุณ ส.พลายน้อยแล้ว ยังมีหนังสืออีกเล่มที่ผู้เขียนหยิบมาอ่าน ชื่อว่า “คัมภีร์ ศรีศากยอโศก พระราชประวัติ จอมจักรพรรดิ อโศกมหาราช” ผู้ประพันธ์ ใช้นามปากกาว่า “ศรีศากยอโศก”
เป็นการเล่าพระราชประวัติของพระเจ้าอโศกกึ่งธรรมนิยาย ประกอบกับเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ประพันธ์สามารถบรรยายให้เห็นภาพเหตุการณ์การสู้รบ สงคราม และสภาวะจิตใจของพระเจ้าอโศกมหาราชได้อย่างชัดแจ้ง และมีหลายจุดที่น่าสนใจและแตกต่างจากคัมภีร์อื่นๆ ซึ่งผู้เขียนสัมผัสได้ถึงความเลื่อมใสศรัทธาพระเจ้าอโศกมหาราชของคุณ “ศรีศากยอโศก” ราวกับบอกว่า นี่คือ “ตัวตนที่แท้จริง” ของพระเจ้าอโศกมหาราช
สื่ออื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ พระเจ้าอโศกมหาราช 1. หนังสือจารึกอโศก – พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ฉบับงานรำลึกพระคุณ ม.ร.ว. สอางค์ เทวกุล ในวาระอายุครบร้อยปี พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2541 2. ภาพยนตร์เรื่อง อโศกมหาราช (Asoka) ภาพยนตร์เรื่องนี้ กล่าวถึง “ดาบ” ซึ่งเป็นดาบอันชั่วร้ายที่ต้องการเลือดและการทำลายล้าง เรื่องราวจึงเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ในสงคราม การแย่งชิงบัลลังก์ และความรักของพระเจ้าอโศก 3. ละครโทรทัศน์ เรื่อง “อโศกมหาราช” (Chakravartin Ashoka Samrat) ออกฉายทางช่อง 13 Family เรื่องราวตั้งแต่ความรักระหว่างพระเจ้าพินทุสาร และพระนางธรรมา ผู้เป็นพระบิดาและพระมารดาของพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกในเยาว์วัย จนกระทั่งถึงสงครามนองเลือดครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้พระองค์หันหน้าเข้าสู่ทางธรรม (อ่าน :: เรื่องย่อ ) 4. สารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้า EP.07 กองทัพธรรมของพระเจ้าอโศก |
ราชวงศ์โมริยะ
ผู้เขียนขอเท้าความตั้งแต่เหตุการณ์ ที่พระเจ้าวิฑูฑภะ ยกกองทัพไปทำลายล้างพวกเจ้าศากยะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์จนเกือบจะสิ้นราชวงศ์
ศากยะวงศ์ที่รอดพ้นจากเงื้อมมือของพระเจ้าวิฑูฑภะไปได้นั้น ในตำราทางพุทธศาสนากล่าวว่าได้หนีไปตั้งหลักแหล่งใหม่แถบเทือกเขาหิมาลัย โดยตั้งชื่อเผ่าว่า “โมริยะ” หรือ “เมารยะ” (Maurya) ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ของนกยูง เนื่องจากแถบที่อยู่นั้นเต็มไปด้วยนกยูง
จันทรคุปต์ กำเนิดในเผ่าโมริยะ จึงถือว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพระพุทธเจ้า (ศากยะ) พระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน จึงสืบเชื้อสายจากศากยะวงศ์เช่นเดียวกัน
ช่วงปี พ.ศ 187-220 อินเดียถูกรุกรานจากกองทัพกรีก โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เข้าตีแคว้นปัญจาบ และยึดเมืองต่างๆ ทางทิศเหนือ ณ เวลานั้นแค้วนมคธซึ่งมีพระเจ้านันทะปกครองอยู่ยังอยู่รอดปลอดภัย
หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ จันทรคุปต์ ได้เป็นผู้นำกองทัพกู้ชาติขับไล่กรีกออกจากชมพูทวีปโดยมีจาณักยะ เสนาบดีของปาฏลิบุตรเป็นผู้ให้การสนับสนุนยึดเมืองปาฏลิบุตรจากพระเจ้านันทะ และสถาปนาราชวงศ์ “โมริยะ” พระเจ้าจันทรคุปต์ ผนวกดินแดนของอินเดีย และปกครองชมพูทวีปอย่างยิ่งใหญ่
จันทรคุปต์ แปลว่า “ผู้ซึ่งพระจันทร์คุ้มครอง” พระราชประวัติของพระเจ้าจันทรคุปต์เองก็ดูสับสน กล่าวกันว่าก่อนที่พระองค์จะเป็นพระราชา เคยเป็นมหาโจรมาก่อน และคิดจะยึดครองเมืองมคธ วันหนึ่งได้ยินหญิงคนหนึ่งด่าลูกที่กินขนมเบื้องแล้วกัดกินตรงกลางก้อนตอนที่มันร้อนๆ อยู่ พอร้อน กินไม่ได้ ลูกนางก็คายขนมทิ้ง นางจึงด่าลูกว่า “ไอ้โง่ ไม่มีความคิดแทนที่จะค่อยๆ แทะจากขอบขนมเข้าไปก็จะได้กินทั้งหมด นี่โลภมากัดตรงกลางก่อน มึงต้องเป็นลูกของมหาโจรจันทคุปต์แน่ๆ เลย แทนที่จะค่อยๆ ตีเมืองเล็กเมืองน้อยก่อน นี่ดันโลภมากมาตีเมืองใหญ่เกินกำลัง ก็เลยแพ้ ” จอมโจรจันทรคุปต์ได้ยินจึงเกิดความคิด และวางแผนการตีเมืองมคธจนสำเร็จ |
ราว พ.ศ 246 พระเจ้าพินทุสาร ขึ้นครองราชย์ (แย่งชิงราชสมบัติจากรัชทายาท คือ เจ้าชายสิงหเสน) พระเจ้าพินทุสาร มีมเหสีและพระโอรสหลายหลายพระองค์ ทรงแต่งตั้งเจ้าชายสุสิมะ เป็นรัชทายาท ในขณะเจ้าชายอโศก เกิดจากพระนาง “ศิริธรรมา” ซึ่งเป็นหนึ่งในพระสนมของพระเจ้าพินทุสาร
พระเจ้าจันทรคุปต์ – นับถือศาสนาเชน พระเจ้าพินทุสาร – นับถือศาสนาพราหมณ์ แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่เมืองมคธ ก็ยังมีพุทธศาสนายังเป็นศูนย์กลางอยู่ |
พระราชประวัติ พระเจ้าอโศกมหาราช
พระเจ้าอโศกมหาราช ในวัยเยาว์
- พระเจ้าอโศกมหาราช (Ashoka the Great) ประสูติ ณ เมืองปาฏลิบุตร
- พระราชบิดา คือ พระเจ้าพินทุสาร (Bindusara)
- พระราชมารดา คือ พระนางศิริธรรมา
- พระอนุชา (น้องชาย) ชื่อ วีตโศก (ในตำราบาลี ชื่อ ติสสะ)
- อโศก (Ashoka) แปลว่า ผู้ไม่มีความเศร้าหมอง the one who eliminates all the sorrows วีตโศก (Vithshoka) แปลว่า ผู้หมดสิ้นซึ่งความเศร้าหมอง (eliminator of sorrows)
- เจ้าชายสุสิมะ มีศักดิ์เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา มีตำแหน่งเป็นรัชทายาท เป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าพินทุสาร
- อุปนิสัยของเจ้าชายอโศกในวัยเด็ก ในคัมภีร์กล่าวว่า เป็นคนชอบผจญภัย เป็นนักสู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องทักษะการใช้ดาบ นอกจากนี้ยังเก่งกาจในการล่าสัตว์ มีพี่น้องต่างมารดาหลายคน บางคัมภีร์กล่าวว่าในบรรดาโอรสของพระเจ้าพินทุสาร เจ้าชายอโศกมีอุปนิสัยใจคอที่โหดเหี้ยมที่สุด
อุปราชแห่งแคว้นอวันตี
- เจ้าชายอโศก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชแห่งมคธ เมื่อพระชนมายุประมาณ 18 พรรษา พระองค์ถูกส่งจากเมืองปาฏลีบุตรไปยังเมืองอุเชเชนี แคว้นอวันตี เพื่อปราบจลาจล
- ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า พระเจ้าพินทุสาร ไม่ได้รักใคร่เจ้าชายอโศกมาก เบื้องหลังที่ส่งเจ้าชายอโศกไปปราบจลาจลนี้ ก็เพื่อกำจัดเจ้าชายอโศก และเปิดทางให้แก่รัชทายาทเจ้าชายสุสิมะ ขึ้นครองบัลลังก์
- กล่าวว่าพระเจ้าพินทุสารจัดหากองทัพให้ แต่ไม่มีอาวุธ หรือไม่ก็เป็นทหารฝึกใหม่ ที่ไม่ชำนาญด้านอาวุธ ทำให้พระองค์เสียเปรียบอย่างมาก แต่พระองค์ก็สามารถรวบรวมกองกำลังและสร้างกองทัพที่แข็งแกร่งได้
- เมื่อยกทัพเข้าจู่โจมแคว้นอวันตี เจ้าชายอโศกไม่ทำร้ายทหารที่ยอมวางอาวุธ ทรงมีชัยต่อศึกครั้งนี้ และได้เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นอวันตี
รักแรกของ พระเจ้าอโศกมหาราช
- ในคัมภีร์ภาษาบาลี กล่าวว่า เจ้าชายอโศกได้พบกับธิดาเศรษฐี นามว่า “เวทิสาเทวี” หรือ “เทวี” ระหว่างยกทัพไปอวันตี ครอบครัวของนางเวทิสา เป็นชาวพุทธ
- หลังจากได้เป็นอุปราชผู้ปกครองแคว้นอวันตีแล้ว เจ้าชายอโศกอภิเษกสมรสกับพระนางเวทิศา ประสูติโอรส นามว่า “เจ้าชายมหินท์” และพระธิดานามว่า “สังฆมิตา” ซึ่งได้เป็นพระเถระที่มีความสำคัญต่อพุทธศาสนาในเวลาต่อมา
- ถ้าใครเคยเวอร์ชั่นภาพยนต์จะเห็นว่ารักครั้งแรกของพระองค์ เป็นเจ้าหญิงแห่แคว้นกาลิงคะที่หนีจากการถูกตามล่า นามว่า “กรวกี” เจ้าหญิงกรวกีพบเจอกับเจ้าชายอโศกในขณะที่ไปใช้ชีวิตสามัญชนอยู่ที่ชายแดนเมืองกาลิงคะ และได้อภิเษกสมรสกัน หลังจากนั้นเจ้าชายอโศกไปทำศึกที่อวันตี และได้อภิเษกสมรสกับพระนางเทวีแบบจำยอม
ศึกแย่งชิงราชบัลลังก์
- พระเจ้าพินทุสาร ทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่องค์รัชทายาทสุสิมะ
- ทรงพระประชวร และสวรรคตช่วงปี พ.ศ.274 ทรงครองราชย์เป็นเวลาประมาณ 25 ปี บางคัมภีร์กล่าวว่าพระองค์เสด็จสวรรคตหลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชสมบัติ
- กองทัพของเจ้าชายอโศกเผชิญหน้ากับเจ้าชายสุสิมะ เจ้าชายอโศกมีชัยชนะและยึดราชบัลลังก์ของรัชทายาทได้สำเร็จ ขณะนั้นพระองค์น่าจะมีพระชนมายุราวๆ 30 กว่าพรรษา
- หลังจากที่ยึดราชบัลลังก์สำเร็จ เจ้าชายอโศกยังไม่ขึ้นเป็นกษัตริย์เลยทันที แต่ทรงบริหารจัดการราชสำนัก และแคว้นต่างๆ เป็นระยะเวลา 4 ปี
- การปกครองของราชวงศ์โมริยะ นับตั้งแต่พระเจ้าจันทรคุปต์ เป็นต้นมานั้น ได้ใช้คัมภีร์ที่เขียนโดย จอมปราชญ์ “จาณักยะ” ผู้เขียน คัมภีร์อรรถศาสตร์ (Arthashastra) หรือศาสตร์แห่งความมั่งคั่งของรัฐ แต่เดิมจาณักยะเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ตักศิลา ต่อมาเขาได้ช่วยพระเจ้าจันทรคุปต์ก่อตั้งจักรวรรดิเมารยะ จาณักยะจึงได้เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของพระเจ้าจันทรคุปต์ ต่อมาได้เป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าพินทุสาร
- ราวปี พ.ศ. 274 เจ้าชายอโศกปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์โมริยะ
- เหตุการณ์หลังจากที่พระองค์ทำศึกยึดราชบัลลังก์นี้ ในคัมภีร์พุทธศาสนา ได้กล่าวถึงความโหดร้ายป่าเถื่อนของพระองค์ต่างๆ นานา เช่น ทรงฆ่าพี่น้องต่างพระมารดา 99 องค์ เหลือเพียงเจ้าชายติสสะเท่านั้น จนมีผู้ตั้งพระนามให้พระองค์ว่า “จัณฑาโศก” (พระเจ้าอโศกผู้โหดเหี้ยม Ashoka the Fierce) บางคัมภีร์กล่าวว่าพระนามนี้ตั้งหลังจากทำสงครามกาลิงคะ
นักประวัติศาสตร์ชาวศรีลังกาที่มีชื่อเสียง K. M. de Silva ตั้งข้อสังเกตว่า คัมภีร์มหาวงศ์ “เต็มไปด้วยอคติทางศาสนาที่รุนแรงและเรื่องราวพิสดาร” อีกทั้งยังมีความคลาดเคลื่อนกับแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่มา – youthkiawaaz.com |
มหาสงคราม “กาลิงคะ”
- ในชมพูทวีป ยังมีแคว้นหนึ่งที่ยังไม่ได้อยู่ในอำนาจตั้งแต่สมัยพระเจ้าจันทคุปต์ จนถึงพระเจ้าพินทุสาร คือ แคว้นกาลิงคะ
- แคว้นกาลิงคะ อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย เป็นดินแดนที่อยู่ติดกับทะเล (อ่าวเบงกอล) เป็นเส้นทางค้าขายที่สำคัญ เป็นดินแดนที่ไม่เคยตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองใดๆ เรียกได้ว่า ปกครองตนเอง โดยอาจจะมีเจ้าผู้ปกครองนคร มีกองทัพที่แข็งแกร่งมาก แม้แต่พระเจ้าจันทคุปต์ และพระเจ้าพินทุสาร ยังไม่กล้าที่จะทำศึกสงคราม
- เหตุผลที่ พระเจ้าอโศกมหาราช ตั้งใจจะยึดครองแคว้นกาลิงคะ น่าจะมาจากความปรารถนาของพระองค์เอง ความใฝ่ฝันที่ต้องการเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เหนือเสด็จปู่พระเจ้าจันทรคุปต์
- 261 ปีก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าอโศกมหาราช ยกกำลังพลกว่า 3 แสนคน ทำสงครามกับแคว้นกาลิงคะ เป็นมหาสงครามครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ประชาชนกว่า 150,000 คนถูกจับเป็นเชลยและถูกนำไปยังเมืองปาฏลีบุตร มีผู้เสียชีวิต จากการสู้รบร่วม 100,000 คน และมีอีกที่ล้มหายตายจาก จากภาวะสงคราม อีกหลายเท่าตัว
- ปัจจุบันคือ แคว้นโอริสสา และได้ขุดพบพุทธศาสนสถาน ชื่อว่า รัตนคีรี อุทัยคีรี และลลิตาคีรี ซึ่งศาสนสถานแห่งนี้ไม่ได้สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-16 ตามความเชื่อทางพุทธศาสนามหายาน
คำสารภาพผิด
- ศิลาจาลึก หลักที่ 13 ได้จารึกถึงความในใจของพระเจ้าอโศกมหาราชที่รู้สึกโศกเศร้าเสียใจต่อศึกสงครามกาลิงคะ
- ทรงมีความสำนึกสลดพระทัย และที่ทรงเห็นว่าที่ทรงกระทำนั้น เป็นกรรมอันร้ายแรง และที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น คือ พราหมณ์ ผู้คน ทั้งหลาย ต้องได้รับบาดเจ็บ ถูกฆ่าตาย หรือไม่ก็ต้องพลัดพรากจากบุคคลซึ่งอันเป็นที่รัก ทรงสร้างความพังพินาศอันร้ายแรงและสร้างกรรมหนัก
- เมื่อสิ้นสุดสงครามกาลิงคะ ทำให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพระเจ้าอโศกมหาราชจากนักรบที่โหดเหี้ยมไปสู่นักธรรมที่ยิ่งใหญ่ ผลกระทบโดยตรงและในทันทีของสงครามกาลิงคะคือการเปลี่ยนแปลงของพระเจ้าอโศกมหาราชสู่พระพุทธศาสนา
เข้าสู่ร่มเงาพุทธศาสนา
- ข้อมูลในคัมภีร์หลายๆ เล่ม กล่าวถึงการเข้าสู่ร่มเงาพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกต่างๆ กันไป แม้แต่นักประวัติศาสตร์เอง ก็ให้ความเห็นที่แตกต่างกัน พระเจ้าอโศกไม่เคยระบุโดยตรงถึงวิธีการหรือสาเหตุที่พระองค์เปลี่ยนใจเลื่อมใสในจารึกใด ๆ แต่ตามแนวคิดของนักวิชาการแล้ว ทรงมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป
- ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนากล่าวว่า พระเจ้าอโศกเข้าสู่ร่มเงาพุทธศาสนานั้น เกิดจากการได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจากสามเณรนิโครธ ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากที่ทำสงครามกับแคว้นกาลิงคะ ที่พระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์พราหมณ์ และลัทธิต่างๆ แต่กลับไม่รู้สึกเลื่อมใส จนกระทั่งได้พบกับสามเณรนิโครธ ผู้ซึ่งเป็นพระอรหันต์
- ในขณะที่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่บางคน ให้ความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนับถือพุทธศาสนาก่อนสงครามกาลิงคะ และนับถือมาก่อนหน้านั้นหลายปี โดยอาจจะรู้จักมาจากพระนางเวทิสาเทวี ซึ่งเป็นชาวพุทธ
- ในขณะที่หนังสือ คัมภีร์ ศรีศากยอโศก ฯลฯ ผู้ประพันธ์มองว่าเป็น “สัญญาเก่า” คือ พระเจ้าอโศกเคยนับถือพุทธศาสนามาแล้วในอดีตชาติ และในชาตินี้ครั้นเมื่อได้เห็นพระภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่วัยเยาว์ก็เกิดความรู้สึกเคารพนับถือ
- ไม่ว่าคัมภีร์จะกล่าวแตกต่างกันอย่างไร แต่มีจุดหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นความสอดคล้องกันคือ สามเณรนิโครธ คือ ผู้ที่สนทนาธรรมกับพระเจ้าอโศก และทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชเกิดความศรัทธาและเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
เมื่อพระถังซำจั๋งเดินทางมาถึงแคว้นกาลิงคะ ท่านได้บันทึกไว้ว่า ได้เห็นสถูปที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้มากมาย และมีอยู่องค์หนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวพุทธจากทั่วสารทิศจะมาสักการะกัน สถูปนี้อยู่ที่ปุษปะคีรี ปัจจุบันคือ เนินเขาชื่อ ลังกุฎี (Langudi Hill) สิ่งที่ทำให้นักโบราณคดีตื่นเต้นที่สุด คือ ตรงทางเข้าสถูปนี้ ได้ขุดพบรูปพระเจ้าอโศกเป็นครั้งแรกในอินเดีย เป็นรูปแกะสลักหิน มีอักษรจารึกที่ฐานไว้ว่า “ราชาอโศก” |
ธรรมาโศกราช (พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงธรรม)
- ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชที่เหลืออยู่ พระองค์ได้ดำเนินนโยบายอย่างเป็นทางการว่าด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง (อหิงสา) และใช้นโยบายที่เรียกว่า “ธรรมวิชัย” คือ การมีชัยโดยธรรม และปกครองแบบบิดาปกครองบุตร ปิตาธิปไตย (Paternalism) ซึ่งในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็ใช้ระบบปกครองแบบเดียวกัน
- ทรงยกเลิกการทำศึกสงครามทั้งหมด (สงครามวิชัย) ยกเลิกการฆ่าสัตว์หรือการชำแหละสัตว์โดยไม่จำเป็น สัตว์ป่าได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายของกษัตริย์เพื่อต่อต้านการล่าสัตว์ อนุญาตให้ล่าได้จำกัดด้วยเหตุผลในการบริโภค ส่งเสริมการกินอาหารที่เว้นจากเนื้อสัตว์
- ทรงสร้างมหาวิทยาลัย และระบบขนส่งน้ำและระบบชลประทานเพื่อการค้าและการเกษตร
- ทรงสร้างวัดอโศการาม และวัดอื่นๆ อีก 84000 วัด รวมถึงการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3
- ทรงสร้างเสาศิลาจารึก เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า ไปทั่วราชอาณาจักร ซึ่งกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
- ทรงตั้ง “ธรรมมหาอำมาตย์” และทรง “ธรรมยาตรา” คือ ไปยังพุทธสถานต่างๆ และเยี่ยมเยือนประชาชน
- ทรงได้รับทรงได้รับการขนานพระราชสมัญญานามว่า ธรรมาโศกราช (พระเจ้าอโศกผู้ทรงธรรม)
เสาอโศก (Pillars of Ashoka) จารึกอโศก
- เสาอโศก สร้างเมื่อ 268 ถึง 232 ปี ก่อนคริสต์ศักราช สร้างจากหินทรายสีแดงอมชมพู และ หินทรายขาว จากเมืองจากเมืองจุณนา ทางตอนเหนือของอินเดีย
- ใชัอักษรพราหมี (Brahmi) เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวบ้านในแคว้นอวันตี
- ค้นพบครั้งแรกเมื่อ คริสต์ศตวรรษที่ 16 ในจารึก พระเจ้าอโศก ใช้พระนามว่า ปิยะทัสสี หมายถึง ผู้เป็นที่รักของเทพเทวา
- ปัจจุบันมีการค้นพบ 20 เสา มีประมาณ 13 เสา ที่ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์
- ประติมากรรมบนหัวเสา ที่เป็นจุดเด่นคือ รูปสิงห์ นอกจากสิงห์แล้ว ยังมีรูปอื่นๆ รูปช้าง รูปวัว แต่ส่วนใหญ่เป็นรูปสิงห์แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือ รูปราชสิงห์ทั้ง 4 หันหน้าไปยัง 4 ทิศ ที่สารนาถ ( Sarnath) รัฐอุตรประเทศ (Uttar Pradesh) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสารนาถ ซึ่งรูปราชสิงห์นี้ได้ใช้เป็นตราแผ่นดินของอินเดียในปัจจุบัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ธรรมในศิลาจารึก ไม่มีสักคำที่พูดถึงพระพุทธเจ้า หรือพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ 4 นิพพาน และหลักธรรมอันลึกซึ้ง สำคัญข้ออื่นๆ ของพุทธศาสนา แม้ว่าพระองค์จะศรัทธาพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า แต่กับประชาชนพระองค์ทรงสอนหลักธรรมที่เป็นกลาง สามารถนำไปใช้และยอมรับได้กับทุกศาสนา |
ต้นพระศรีมหาโพธิ์
- ในศิลาจารึก หลักที่ 8 ทรงกล่าวว่าเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ได้ครบ 10 ปีแล้ว ได้เสด็จไปนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา
- พระเจ้าอโศก ทรงเสด็จไปประทับอยู่ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่เป็นเนืองๆ เป็นที่รับรู้กันดีในหมู่มหาชนว่าพระองค์นั้น รักและบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้มากกว่าสิ่งใด
- เหตุการณ์ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกทำลายนั้น กล่าวกันว่าเป็นฝีมือของพระมเหสีของพระเจ้าอโศก ด้วยความที่คัมภีร์ไม่ได้กล่าวชื่อว่าพระมเหสีองค์ไหน จึงเข้าใจกันว่า เป็นพระอัครมเหสี นามว่า “ติสสรักขะ (ดิษยรักษิตา)” ที่ไม่พอใจที่พระองค์ให้ความสนใจกับต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้มากเกินไป ด้วยความอิจฉาริษยาจึงทำลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยการเทน้ำร้อนผสมยาพิษ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็ค่อยๆ เหี่ยวเฉาตาย (ในคัมภีร์แต่ละเล่มอาจจะกล่าววิธีการทำลายไม่เหมือนกัน) ทำให้พระเจ้าอโศกเสียพระทัยมาก
- ส่วนหนังสือ คัมภีร์ ศรีศากยอโศก ฯลฯ ให้ทรรศนะที่น่าสนใจว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกทำลายด้วยยาพิษ ผสมในน้ำซึ่งใช้ดูแลพระราชอุทยาน โดยชาวกาลิงคะที่เจ็บแค้นจากสงคราม และยาพิษคือ อาวุธสำคัญที่ชาวกาลิงคะใช้ในการต่อสู้
- ส่วนวิธีการที่จะให้ต้นพระศรีมหาโพธิ์แตกหน่อมาได้นั้น กล่าวกันว่า พระเจ้าอโศก ใช้วิธีตั้งจิตอธิษฐาน ไม่ยอมลุกไปไหนจนกว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์จะคืนชีพ ด้วยจิตอธิษฐานนี้หน่อของต้นพระศรีมหาโพธิจึงกำเนิดขึ้นมาใหม่
พระผู้ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
- เมื่อครั้งที่พระองค์ได้สนทนาธรรมกับสามเณรนิโครธ จิตของพระองค์ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ทรงถือเอา “ธรรมวิชัย” เป็นการปกครองพร้อมๆ กับที่ทรงฟื้นฟูพุทธศาสนาอย่างเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งกว่ากษัตริย์องค์ใดๆ
- ทรงสร้างวัดแห่งแรก ชื่อว่า “อโศการามมหาวิหาร” และมีรับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ทรงธรรมยาตรา และรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุอัญเชิญมาบรรจุไว้ในวิหารต่างๆ 84,000 แห่ง
- ปาฎลีบุตรจึงเปรียบเสมือนโรงทานมหึมา พระเจ้าอโศกบริจาคทานส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่เข้ามาสู่ใต้ร่มพุทธศาสนา จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากเข้ามาบรรพชา รวมถึงลัทธิอื่นๆ ที่ปลอมตัวเข้ามาบวชแอบแฝงเพื่อหวังลาภสักการะ และสร้างความวุ่นวายด้วยการใช้หลักคำสอนของศาสนาเก่าตัวเองมาอ้างว่าเป็นคำสอนของพระศาสดา เรียกว่าเป็นพวก อลัชชี
- ทรงเศร้าหมองพระทัยจากเรื่องนี้ จึงได้อาราธนาพระโมคคัลลีบุตรมาช่วยแก้ปัญหา พร้อมทั้งเล่าอำมาตย์ทั้งหลาย โดยการถามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วให้พระสงฆ์ตอบ หากตอบไม่ได้จึงถือว่าเป็นพวกอลัชชี
- ด้วยเหตุการณ์ความวุ่นวายนี้ พระโมคคัลลีบุตรและพระเจ้าอโศกมีความเห็นว่าสมควรที่จะทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ที่ อโศการาม ราวปี พ.ศ. 289-290
- ด้วยความมีวิสัยทัศน์ของพระเจ้าอโศก ในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้แผ่ไพศาล จึงได้มีการส่งธรรมทูต ไปประกาศพุทธศาสนา 9 คณะ 9 เส้นทาง หนึ่งในพระธรรมทูตคือ พระโอรสของพระเจ้าอโศก “พระมหินทเถรเจ้า”
– เมืองปาฎลีบุตร เป็นเมืองท่าสำคัญมีแม่น้ำสำคัญ 5 สาย ไหลมารวมกัน ทำให้มีมีการติดต่อค้าขายกันเป็นจำนวนมาก รายได้ที่พระเจ้าอโศกนำมาทำนุบำรุงพุทธศาสนานั้น วิเคราะห์กันว่าน่าจะมาจากการเก็บภาษีจากพ่อค้า – มหาวิทยาลัยนาลันทา สร้างครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอโศก ภายหลังราชวงศ์คุปตะได้ทำการสร้างอาคารเพิ่มเติม มหาวิทยาลัยนาลันทาเจริญรุ่งเรืองที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าหรรษวรรธนะ |
พระเจ้าอโศกมหาราช สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.311 เมื่อพระชนมายุ 72 พรรษา ครองราชย์เป็นเวลา 37 ปี รัชทายาทคือ เจ้าชายกุณาละ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงไม่ได้ครองราชย์ พระราชนัดดาจึงขึ้นครองราชย์ และมีกษัตริย์โมริยะสืบต่อมาอีก 4 พระองค์ พราหมณ์ปุษยมิตรซึ่งเป็นอำมาตย์ก่อการกบฏ ล้มราชวงศ์ ในที่สุดราชวงศ์โมริยะก็ถึงคราวสิ้นสุด พุทธศาสนาในอินเดียล่มสลายเมื่อประมาณพุทธศตวรรษ ที่ 18 นานถึง 700 ปี แต่กลับเจริญงอกงามในต่างแดน ด้วยพระบารมีและพระปรีชาญาณของพระเจ้าอโศกมหาราช
พระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของประวัติศาสตร์อินเดีย คำขวัญประจำชาติของอินเดีย มาจากข้อความในศิลาจารึกในเสาอโศก ว่า “ความจริงย่อมมีชัยเหนือทุกสิ่ง Truth Alone Triumphs”