๙ เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

๙ เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

เรื่องราวต่อเนื่องจากตอน พุทธประวัติ ฉบับ timeline” หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน มีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้าง ผู้เขียนได้เรียบเรียงในส่วนของเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ รวมถึงประวัติศาสตร์แบบย่อๆ 9 เรื่อง มีอะไรกันบ้าง มาดูแต่ละหัวข้อกันเลย

1.พระเทวทัต ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

อดีต – พระเทวทัต (Devadatta) คือ ชูชก ขอทานรูปร่างอัปลักษณ์ ได้ทูลขอพระกุมาร ชาลีและกันหาจากพระเวสสันดรมาเป็นทาสรับใช้ ในชาตินี้ชูชกถือว่าเป็นผู้ที่ทำให้พระเวสสันดรได้บำเพ็ญทานบารมีสำเร็จ

ปัจจุบัน – ตามที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า พระเทวทัตถูกธรณีสูบและได้ไปเกิดในนรกอเวจี ถ้าใครนึกไม่ออกว่านรกอเวจีทุกข์ทรมานแค่ไหน ให้ลองนึกภาพว่า ในนรกขุมนี้มีกำแพง 6 ด้าน ด้านข้าง 4 และด้านบนและล่าง มีเหล็กหลาวพุ่งเสียบทะลุร่างจากทุกด้านตรึงเอาไว้ พระเทวทัตยืนกางแขนกางขาอยู่ตรงกลาง ถูกไฟเผาตลอดเวลา กระดูกแดงฉานและไม่สามารถไหวติงได้ เมื่อทรมานจนจิตดับ ก็เกิดใหม่แบบโอปปาติกะ ทนทุกข์ทรมานไม่ได้หยุดพักจนกว่าจะชดใช้กรรมที่ทำไว้จนหมด

อนาคต – อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พระเทวทัตชดใช้กรรมหมดแล้ว ในกาลข้างหน้าพระพุทธเจ้าพยากรณ์ว่า พระเทวทัตนั้น จะได้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้า นามว่า “อัฏฐิสสระ” คือ ผู้ที่ถวายกระดูกคาง แต่จะได้เป็นหลังจากสิ้นสุดกัลป์ของพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้าโน่นเลย

แม้พระเทวทัตจะเป็นผู้ที่ทำอกุศลหนักมาก แต่ด้วยสังสารวัฏที่ยาวนานกับบุญบารมีที่ทำสะสมไว้ เมื่อถึงคราวที่บารมีสมบูรณ์พร้อมนั้น จะทำให้พระเทวทัตถึงความเป็นปัจเจกพุทธเจ้าได้

เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
บริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นหลุมที่พระเทวทัตถูกธรณีสูบ อยู่ใกล้ประตูทางออกวัดเชตวัน ใกล้ๆ กับวัดพม่า (ตำแหน่งที่ผู้เขียนชี้ในรูปอาจจะไม่ถูกต้อง) พวกฮินดูถือว่าเป็นสระศักดิ์สิทธิ์มีขุมทรัพย์อยู่ด้านใต้ ใกล้ๆ กับวัดศรีลังกามีอีกหลุม ว่ากันว่าเป็นหลุมของนางจิญจมาณวิกา

2.พระอานนท์ถูกไต่สวน

หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอานนท์ (Ananda) ได้เข้าร่วมการสังคายนาครั้งแรก โดยมีพระมหากัสสปเถระทำหน้าที่เป็นประธาน พระอานนท์โดนซักถาม ไต่สวนในเรื่องต่างๆ ขณะที่เป็นพระอุปัฏฐาก โดยคณะสงฆ์ได้มีมติให้ท่านมีความผิดหลายข้อ เช่น

1.พระอานนท์แจ้งในที่ประชุมว่า เมื่อตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพานได้ตรัสสั่งไว้ว่า “สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ หากสงฆ์จำนงจะถอน ก็ให้ถอนได้” เมื่อถูกถามว่า สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ เช่นอะไรบ้าง พระอานนท์ตอบว่าไม่ได้ทูลถาม พระมหากัสสปเถระจึงปรับอาบัติพระอานนท์ในที่ประชุมเนื่องจากขาดความรอบคอบ

2. คราวที่ท่านเย็บผ้าอาบน้ำถวายพระพุทธเจ้า ท่านเอาเท้าข้างหนึ่งเหยียบผ้า จึงถูกตำหนิว่าขาดความเคารพ ท่านชี้แจงว่า ไม่ได้มีจิตใจลบหลู่ เพียงแต่เหยียบให้ผ้าตึงและตอนนั้นไม่มีคนช่วย แต่ก็ถูกแย้งว่า ถ้ายอมเสียเวลาใช้ผ้าผูกติดกับเสา ก็จะสามารถทำให้ผ้าตึงได้

3. ท่านถูกตำหนิว่า ปล่อยให้สตรีถวายบังคมพระพุทธสรีะ และเมื่อสตรีเหล่านั้นร้องไห้ น้ำตาที่ไหลหยดถูกพระสรีะ ท่านชี้แจงว่าเหตุผลว่าที่ให้เข้าไปถวายบังคมก่อน เพราะสตรีไม่ควรอยู่ด้านนอกจนถึงเวลาค่ำ

4. เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทำนิมิต ท่านไม่ทูลอ้อนวอนขอให้ทรงดำรงอยู่ถึงกัปล์หนึ่ง ท่านรับสารภาพว่าตอนนั้นน่าจะถูกมารดลใจ

5.ข้อที่ว่าท่านทูลขอให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีบวชนั้น ท่านใช้ถ้อยคำที่คล้าย ๆ กับว่าหว่านล้อมและเอารัดเอาเปรียบ คือ พระอานนท์ถามพระองค์ว่า สตรีถ้าอุปสมบทแล้วจะสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้หรือไม่ เมื่อพระองค์ตรัสว่า “ได้” เนื่องจากมรรคผลไม่ได้จำกัดเพศ พระองค์ก็ทรงจำยอมให้บวช

จะเห็นว่าทุกข้อหานั้น จริงๆ แล้วพระอานนท์สามารถชี้แจงได้หมด และบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เจตนาจริงๆ แต่ท่านก็ยอมรับอาบัติทุกข้อ นั้นเพราะท่านให้ความเคารพแก่คณะสงฆ์ “ข้าพเจ้าไม่เห็นเหตุนั้นว่าเป็นอาบัติทุกกฎ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ายอมแสดงอาบัติทุกกฏนั้น ”

  • พระอาจารย์คนแรกของพระอานนท์ คือ พระปุณณะ ซึ่งได้เทศน์โปรดพระอานนท์จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
  • เหตุที่พระอานนท์บรรลุอรหันต์ช้า หนังสือ วิสัชนาธรรมโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้กล่าวไว้ว่า พระอานนท์เป็นคลังแห่งพระธรรม อะไรท่านรู้หมด ทำให้เนิ่นช้าเพราะท่านติดพระสูตรพระอภิธรรม ไม่น้อมลงมาปฏิบัติจึงสำเร็จช้า
  • เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ท่านไม่ได้ลงมาปฏิบัติส่วนหนึ่ง คือ งานในตำแหน่งพุทธอุปัฏฐากนั่นเอง
  • หนังสือ พระอานนท์ พุทธอนุชา เป็นธรรมนิยายอิงชีวประวัติ – ได้รับการยกย่อง จาก ENCYCLOPEDIA OF WORLD LITERATURE IN 20TH CENTURY  “วรรณคดีของโลกในศตวรรษ ที่ 20 ว่าเป็น วรรณกรรมศาสนาที่น่าอ่าน  สามารถนำมาเป็นหลักในการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันได้ เปิดอ่านหนังสือ พระอานนท์ พุทธอนุชา คลิกที่นี่

    3.สมัยก่อนพระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไร และสังคายนาแบบไหน

    ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเวลาแสดงธรรมนั้นจะใช้ภาษาท้องถิ่น สมัยนั้นอินเดียมีชนเผ่าต่าง ๆ อาศัยอยู่ ซึ่งภาษาก็มีหลากหลาย  ภาษาพูดก็สื่อถึงชนชั้นวรรณะได้ด้วยว่าผู้พูดอยู่ในชนชั้นไหน มีข้อสันนิษฐานกันว่า พระพุทธเจ้าใช้ภาษามคธโบราณ 

    ภาษาที่ใช้บันทึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าหรือพระไตรปิฎกนั้น คือ ภาษาบาลี แต่บางครั้งก็เรียกว่า ภาษามคธ ว่ากันตามจริงแล้ว ทุกวันนี้นักวิชาการก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าภาษาบาลี คือ ภาษามคธ จริงหรือไม่

    หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน การสืบทอดคำสอน ใช้วิธีมุขปาฐะ คือ ท่องจำสืบทอดกันไป วิธีการคือ จะมีพระสงฆ์กล่าวคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อไม่มีใครคัดค้านและรับรองว่าถูกต้องแล้ว คณะสงฆ์ก็จะท่องจำกัน สมมติต่างคนต่างใช้ภาษาท้องถิ่น เวลาท่องจำในภาษาที่เปลี่ยนใหม่ในแต่ละครั้ง น่าจะยุ่งยากมากและไม่น่าจะเป็นไปได้ แม้ว่าช่วงเวลานั้นจะมีอักษรใช้กันแล้วแต่ก็ไม่ได้จารึกพระพุทธพจน์ เพราะเชื่อว่าจะเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์

    ปัจจุบันภาษามคธยุคหลัง ยังมีใช้อยู่ในรัฐพิหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งเก่าของแคว้นมคธ และพระไตรปิฎกได้ถูกจัดทำและแปลหลายภาษา เช่น ภาษาบาลี ภาษาจีนโบราณ

    วัดแฮอินซา Haeinsa ภายในวัดประดิษฐานตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่และพระไตรปิฎกฉบับเกาหลีจำนวนมากที่สลักบนแผ่นพิมพ์ไม้กว่าแปดหมื่นแผ่น ภาพจาก gigema

    4.แคว้นมหาอำนาจทั้ง 5 ในอดีต ปัจจุบันอยู่ไหน

    4.1 แคว้นมคธ (Magadha) เมืองราชคฤห์

    ว่ากันว่าแคว้นมคธ ซึ่งปกครองโดยพระเจ้าพิมพิสารนั้นเป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขณะนั้น อาจจะใหญ่กว่าอินเดียปัจจุบันเสียอีก แต่ภายหลังเมืองหลวงถูกย้ายไปที่ปาฏลีบุตร แม่น้ำคงคา โดยพระเจ้าอชาตศัตรู

    ราชคฤห์ เป็นเมืองในหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบ 5 ลูก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เบญจคีรีนคร ปัจจุบันเป็นเมืองชนบทเล็กๆ อยู่ในรัฐพิหาร

    เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    สถานที่ที่สันนิษฐานว่าเป็น ป่าไผ่ เวฬุวัน วัดแห่งแรก ที่พระเจ้าพิมพิสารถวายแด่พระพุทธเจ้า อารามเดิมมีเนื้อที่ 105 เอเคอร์ แต่สิ่งที่เราเห็นมีพื้นที่ไม่เกิน 5 เอเคอร์ ภาพจาก Rakesh Ram Sheela

    4.2 แคว้นโกศล (Kosal) เมืองสาวัตถี (Shravasti)

    สาวัตถี เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าจำพรรษามากที่สุดถึง 25 พรรษา  นักโบราณคดีได้พบเมืองโบราณขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า สะเหต-มะเหต (Saheth-Maheth) ตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ มีซากปรักหักพังจำนวนมากซึ่งต่อมาพิสูจน์แล้วว่าเป็นเมืองสาวัตถี ที่นี่เป็นที่ตั้งของพระเชตวันมหาวิหาร ที่สร้างโดยอนาถบิณฑิกเศรษฐี และต้นโพธิ์ “อานันทโพธิ” ปัจจุบันนักโบราณคดียังคงค้นหาและบูรณะโบราณสถานในเมืองสาวัตถีอย่างต่อเนื่อง

    เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    ภาพบรรยากาศ เมือง สะเหต-มะเหต ภาพจาก Ryo Tezuka

    วัดบุพพารามที่สร้างถวายโดยนางวิสาขา มีการสันนิษฐานว่าปัจจุบันเป็นสถานที่ที่มีชาวฮินดูอาศัยอยู่ จึงไม่มีใครเห็นหรือพบซากปรักหักพัง ในประวัติกล่าวว่าวัดนี้สร้างเป็นโละปราสาท

    4.3 แคว้นวังสะ เมืองโกสัมพี (Kosambi)

    เป็นเมืองที่พุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ปัจจุบันสิ่งที่เป็นร่องรอยในอดีตที่พบเห็น คือ กำแพงโบราณที่สร้างเป็นแนวยาวเชื่อมต่อกับป้อมปราการรอบเมืองโกสัมพี โบราณสถานที่พบเป็นวัดโฆสิตาราม สร้างโดยโฆษกเศรษฐี เหตุที่ทราบว่าเป็นวัดโฆสิตารามเนื่องจากได้มีการขุดพบแผ่นหินจารึกชื่อวัด โฆสิตาราม ซึ่งแผ่นหินนี้ได้เก็บรักษาอยู่ที่คณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัลลาฮาบาด

    เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    บริเวณรอบๆ เมืองโกสัมพี ตอนนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ผืนนาที่กว้างใหญ่ และเนินดินสูง และซากกำแพง กองอิฐและหิน ภาพจาก OS Culture

    4.4 แคว้นวัชชี เมืองเวสาลี (Vaishali)

    พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่เมืองนี้ เมื่อพรรษาที่ 5 และเมื่อพรรษาสุดท้าย ทรงกล่าวกับพระอานนท์ว่า การเห็นเมืองเวสาลีของตถาคตครั้งนี้ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย เมืองนี้เป็นที่มาของรัตนสูตร เหตุเกิดจากโรคระบาดในสมัยพุทธกาล เมื่อย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธมายังเมืองเวสาลี ทำให้เมืองแห่งนี้เจริญถึงขีดสุด เมืองเวสาลีเป็นเมืองใหญ่มาก มั่งคั่ง มีผู้คนพลุกพล่าน แต่หลังจากนั้นได้ถูกลดความสำคัญ และในที่สุดได้ถูกทิ้งร้างมานับพันปี ปัจจุบันเมืองเวสาลีเป็นซากโบราณสถานอยู่ที่ตำบลบสาร์ท

    ในสารคดีตามรอยพระพุทธเจ้า ผู้ดำเนินรายการได้คุยกับผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเคยอาศัยอยู่ในบริเวณเมืองโบราณนี้ เขาเล่าว่าตอนนั้นไม่มีใครรู้จักเสาของพระเจ้าอโศก ชาวบ้านคิดว่าเป็นอาวุธของภีมะ ซึ่งเป็นตัวละครในมหาภารตะ จึงมาบูชาและฝากรอยจารึกไว้บนเสา

    เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    เสาอโศกและวัดป่ามหาวัน เมืองปัตนะ ประเทศอินเดีย ภาพจาก Hideyuki KAMON

    4.5. แคว้นอวันตี เมืองอุชเชนี (Ujjain)

    ในสมัยพุทธกาลแบ่งออกเป็น อวันตีเหนือ ซึ่งมีอุชเชนี เป็นเมืองหลวง กับ อวันตีใต้ เมืองหลวงชื่อมาหิสสติ ปัจจุบัน อุเชนี คือ เมืองอุชเชน (Ujjain) ตั้งอยู่ริมฝั่ง แม่น้ำศีปร  เจ็ดเมืองอันเป็นสถานที่แสวงบุญในศาสนาฮินดู 

    เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    ริมแม่น้ำศีปร  ภาพจาก haijebo

    แคว้นต่างๆ และสิ่งปลูกสร้างทั้งหลาย ได้ถูกทำลายไปตามกาลเวลา หากแต่ธรรมชาติ แม่น้ำ ภูเขา ลำธารต่างๆ ยังคงยืนหยัด คงทน ดังเช่น แม่น้ำสายสำคัญ แม่น้ำคงคา แม่น้ำเนรัญชรา

    เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    แม่น้ำเนรัญชรา (Lilājan River หรือ Nirañjanā หรือ Falgu River) พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ชาวบ้านเรียกว่า ลิลาจัน ซึ่งหมายถึง แม่น้ำที่มีสีใสสะอาด ในฤดูแล้งเนรัญชราเต็มไปด้วยทราย หากมีน้ำก็เป็นน้ำตื้นเขิน เป็นเส้นทางเดินระหว่าง พุทธคยา (Bodh Gaya) และหมู่บ้าน Dungeshwari ยกเว้นช่วงมรสุมที่อาจจะเห็นน้ำเต็มพื้นที่ ภาพจาก Purnendu Singh

    5.เชื้อสายของพระพุทธเจ้า ศากยะวงศ์ยังหลงเหลืออยู่หรือไม่

    เหตุการณ์ที่พระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพไปฆ่าพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า เชื้อสายศากยะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ นั้นเป็นเหตุให้เชื้อสายศากยะวงศ์แทบจะหมดไป ซึ่งศากยะวงศ์ของพระองค์นั้น อาจจะมีหลายพันหรือหมื่นคนที่เป็นผู้ทรงศีล เป็นชั้นพระอริยบุคคล เหตุเพราะพระองค์ได้เคยแสดงธรรมเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จกลับสู่เมืองกบิลพัสดุ์

    ในรายการตามรอยพระพุทธเจ้า ตอน “ค้นหาแผ่นดินเกิดพระพุทธเจ้า” มีอยู่ตอนหนึ่งในสารคดีที่ผู้ดำเนินรายการ ได้ออกตามหาพระสงฆ์จากเนปาล ผู้ซึ่งมีนามสกุลว่า “ศากยะ” ท่านวิมาลนันท์ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในวัดพุทธในเนปาล เล่าว่า ขนบธรรมเนียมแต่โบราณของตระกูลศากยะ คือ จะมีพิธีบวชให้คนในตระกูลปีละครั้ง และชาวเนปาลตระกูลศากยะ อาจจะมีเป็นหลักหมื่น และมีหลายคนที่ไม่รู้เรื่องราวของตระกูลเลยเพราะนับถือฮินดู

    เราอาจจะสรุปได้ว่า ตระกูลศากยะปัจจุบันมีอยู่จริง แต่สืบเชื้อสายตรงจากพระพุทธเจ้าจริง ๆ หรือไม่นั้น ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ ปัจจุบันชาวเนปาล นับถือศาสนาได้อย่างเสรี ไม่มีศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติหลังจากที่กษัตริย์เนปาลถูกล้มล้าง

    ถ้ามองในภาษาธรรม เราอาจจะตอบได้ว่า เชื้อสายของพระพุทธเจ้าศากยวงศ์ คือ พระอริยบุคคล นั่นเอง

    เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    ประเทศเนปาลมี “กุมารี” ซึ่งถือกันว่าเป็นเทพธิดาที่มีชีวิต ชีวิตของกุมารีมีข้อจำกัดข้อห้ามมากมาย แต่ประเพณีโบราณ เด็กสาวต้องมาจากครอบครัว ชาวศากยะ ซึ่งครอบครัวของกุมารีก็จะได้รับการดูแลจากรัฐบาลเป็นอย่างดี และมีเกียรติอย่างมาก ภาพจาก Sayni Chanda

    6.ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตามที่ประทับนั่งในวันตรัสรู้ จะมีชื่อเรียกว่า ต้นโพธิ์

    ต้นโพธิ์ Bodhi Tree หมายถึง ต้นไม้แห่งการตรัสรู้ นั่นแปลว่า ต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตามที่ประทับนั่งในวันตรัสรู้ จะมีชื่อเรียกว่า ต้นโพธิ์ เหมือนกันหมด ต้นโพธิ์ในกัปนี้ เดิมชื่อว่า ต้นอัสสัตถพฤกษ์ ซึ่งถือว่าเป็นสหชาติหรือสิ่งที่อุบัติในวันเดียวกับพระพุทธองค์

    เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา อินเดีย ภาพจาก Dechen Drolkar

    พระศรีมหาโพธิ์ ต้นแรกได้ล้มตายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 200 ปี ซึ่งตอนนั้นเป็นยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช เหตุเพราะพระองค์ดูแลต้นพระศรีมหาโพธิ์อย่างดี จนเหล่าพระมเหสี อิจฉาตาร้อนทำลายจนล้มตาย แต่ต้นที่สองก็ได้แตกหน่อมาจากต้นเดิม พระเจ้าอโศกจึงได้ให้คณะธรรมทูตนำต้นพระศรีมหาโพธิ์ไปปลูกในประเทศต่างๆ

    ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่เห็นอยู่ที่พุทธคยานั้น เป็นต้นที่ 4 ไม่ว่าจะล้มตายกี่ครั้ง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็ยังแตกหน่ออยู่ที่เดิม ต้นโพธิ์นั้นถือว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนใครที่อยากรู้ว่าต้นโพธิ์ มาอยู่เมืองไทยได้ยังไง link นี้ มีคำตอบ

    7.พระไตรปิฎกไม่ได้กล่าวถึงเทพเจ้า แล้วชาวพุทธนับถือเทพกันตอนไหน

    เทพเจ้าที่เราอ่านเจอในพระไตรปิฎกและหลายคนรู้จักกันดีนั้น คือ พระอินทร์ หรือ ท้าวสักกะ ซึ่งมีบทบาทมากในการช่วยเหลือพระพุทธเจ้า แท้ที่จริงแล้ว พระอินทร์ ถือว่าเป็นเทพองค์หนึ่งของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

    หลังจากการสังคายนาครั้งที่ 2 ได้มีการแตกออกเป็น 2 นิกาย จนถึง พ.ศ.400 ที่อินเดียมีถึง 20 นิกาย ราชวงศ์โมริยะ ของพระเจ้าอโศกได้ถูกพราหมณ์ปุษยมิตรก่อการกบฏ และก่อตั้งราชวงศ์ศุงศะ ออกกฎหมายให้เงินรางวัลแก่ผู้ตัดศรีษะพระภิกษุ ทำให้สงฆ์ต้องหนีไปจากแคว้นมคธ

    เพื่อลดช่องว่างของสองศาสนาและเพื่อความอยู่รอดของศาสนาพุทธ จึงเริ่มมีการแต่งพุทธประวัติที่มีสีสัน ในวรรณกรรมมีเทพจากทางพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการสอดแทรกเรื่องของพระโพธิสัตว์ในคติมหายานเพิ่มขึ้นไป เป็นแนวคิดแบบผสมผสานเพื่อให้เข้าถึงคนพุทธศาสนาได้มากขึ้น

    แนวคิดบางอย่างก็เสื่อมสลายในอินเดีย แต่กลับไปเจริญรุ่งเรืองในจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี แม้แต่ในเถรวาทของไทยเอง ก็รับในส่วนของนิทานชาดก หรือในพุทธประวัติตอนต่างๆ เช่น ตอนทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พระอินทร์ก็ลงมาดีดพิณสามสาย

    เรื่องน่ารู้ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    พระอินทร์ วัดสมาน ฉะเชิงเทรา ภาพจาก itthipolb

    พุทธประวัติ ในต่างประเทศนั้นกลับเป็นผู้หญิงร้องเพลง ว่า “เมื่อสายพิณของเราหย่อนเกิน ย่อมส่งเสียงไม่น่าฟัง …” หรือแม้แต่ตอนพระองค์หมดสติ เนื่องจากขาดพละกำลัง ของไทยเขียนไว้ว่า มีเทวดานำอาหารทิพย์ มาแทรกเข้าตามขุมขนของพระองค์ ทำให้ทรงมีพละกำลังอย่างเดิม แต่ต่างชาติกลับเขียนว่า มีเด็กเลี้ยงแพะมาถวายนม แก่พระองค์

    ผู้เขียนพอจะสรุปได้ว่า การนับถือเทพเจ้านั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากตำรา หรือคัมภีร์ที่เหล่าอาจารย์ทั้งหลายที่ได้ประพันธ์ขึ้นมาแต่งเติมเสริมต่อ รวมถึงแนวความคิดของมหายานที่เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและมีความสามารถที่จะบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ และสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้

    8. อลังการงานสร้าง “ถ้ำ”

    สมัยพุทธกาลแรกเริ่มเดิมทีเลย พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกพำนักอยู่ในป่าบ้าง ถ้ำบ้าง จนกระทั่งพระเจ้าพิมพิสารถวายป่าไผ่เป็นพระเวฬุวันเป็นที่ประทับและเป็นสถานที่แสดงธรรม ถือว่าเป็นอารามแห่งแรก

    กุฏิ คือ ที่พักอาศัยของสงฆ์ ที่ประทับของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า พระคันธกุฎี เพราะมีกลิ่นหอมอยู่ตลอดเวลา กุฏิจริงๆแล้ว มีความกว้างยาวเพียงแค่พอให้นั่งหรือนอนเท่านั้น

    หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ประมาณ 350 ปี เริ่มมีการสร้างถ้ำสำหรับภิกษุสงฆ์ คือ ถ้ำอชันตา บันทึกต้นฉบับกล่าวว่าถ้ำเหล่านี้เป็นสถานที่หลบมรสุมสำหรับพระสงฆ์ เช่นเดียวกับสถานที่พักผ่อนสำหรับพ่อค้าและผู้แสวงบุญในอินเดียโบราณ

    ถ้ำอชันตา ถือว่าเป็นถ้ำของฝ่ายเถรวาท สร้างต่อเนื่องเป็นเวลา 200 ปี จุดสังเกต คือ ไม่มีรูปแกะสลักใบหน้าของพระพุทธเจ้า หากแต่มีเพียงวิหารและสัญลักษณ์ หลังจากนั้นอีกร่วมพันปีต่อมา มีการสร้างถ้ำเพิ่มเติมตามแบบมหายานซึ่งอลังการมาก ห่างไปอีกประมาณ 100 กิโลเมตร มีการสร้างถ้ำคล้ายๆ กัน ที่ชื่อว่า เอลโลล่า แต่เป็นศิลปะที่สร้างจาก 3 ศาสนา คือ พุทธ ฮินดู และเชน

    ใครเป็นคนสร้างถ้ำพวกนี้ ? จะว่าพระสงฆ์สร้าง คงไม่ใช่แน่ๆ ต้องเป็นช่างที่มีฝีมือมากๆ เพราะต้องเจาะภูเขาหินทั้งลูก รวมถึงแกะสลักและงานจิตรกรรมต่างๆ

    นอกจากนี้ยังมีถ้ำ Ellora ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าโบราณที่เชื่อมต่อท่าเรือตะวันตกในทะเลอาหรับ ลักษณะเป็นหินบะซอลต์ ถ้าหากดูข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะเห็นว่า มนุษย์ตั้งแต่สมัยโบราณ ยุคหินตอนปลายก็เริ่มมีการแกะสลักแล้ว

    ร่องรอยลาวาภูเขาไฟโบราณในอินเดียซึ่งเป็นที่รู้จักในนามกับดักแดคแคน (Deccan Traps) การก่อหินบะซอลต์ของ Deccan เหมาะสำหรับการสกัดหิน ซึ่งเป็นเทคนิคที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางในสมัยโบราณ ถ้ำหมายเลข 16 ไกรลาศมนเทียร ถือเป็นสถาปัตยกรรมเจาะหินก้อนเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
    ถ้ำอชันตา ภาพจาก Marten Lagendijk

    9. ทำไมพุทธศาสนาจึงหายไปจากอินเดีย

    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ท่านวิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจในหัวข้อ บทเรียนของชาวพุทธ ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตสรุปสั้นๆ ว่าเหตุใดที่พุทธศาสนาสูญสิ้นจากอินเดีย

    • ชาวพุทธเราใจกว้าง เมื่อชาวพุทธได้เป็นใหญ่ ก็อุปถัมภ์ทุกศาสนา แต่ศาสนาอื่นกลับหาทางกำจัดชาวพุทธ
    • พุทธศาสนาถูกกลืนไปกับศาสนาฮินดู ดังเช่น ศิลปะที่ถ้ำอชันตา อโลร่า ที่เริ่มแรกเลยเป็นพุทธเถรวาท ต่อมาเป็นมหายาน ฮินดู และเชน
    • เชื่อในฤทธิ์ และปาฏิหาริย์
    • วางเฉยเกินไป เมื่อมีเรื่องราวหรือมีภัยเกี่ยวกับพุทธศาสนาชาวพุทธ ก็เฉยๆ ไม่เอาเรื่อง กลัวว่าไปยุ่งแล้วเป็นกิเลส
    • ฝากศาสนาไว้กับพระมากเกินไป เมื่อมุสลิมไล่ฆ่าพระหมด ชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ไม่มีหลัก เลยถูกฮินดูกลืนหมด 

    หากใครสนใจเรื่องราวโดยละเอียดสามารถอ่านได้จาก หนังสือ พระพุทธศาสนาในอาเซีย

    สรุป Timeline เหตุการณ์แบบย่อ หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน (.PDF)

    หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
  • ธงชาติของประเทศอินเดีย – มี 3 แถบสี ส้ม-ขาว-เขียว ตรงแถบขาวเป็นรูปธรรมจักรพระเจ้าอโศกมหาราชสีน้ำเงินตรงกลาง ซึ่งมีกำ 22 ซี่

  • ตราแผ่นดินของอินเดีย เริ่มใช้เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2493 มีส่วนประกอบคือ โล่ เป็นรูปแกะสลักสิงโตบนยอดเสาอโศกแห่งเมืองสารนาถ มีคำขวัญ เขียนว่า ความจริงคือสิ่งเดียวที่มีชัย

  • นิตยสารที่ก่อตั้งมาร้อยกว่าปี
    ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dhammapala) เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ และเป็นผู้เรียกร้องเอาพุทธสถานในอินเดียกลับคืนมาเป็นของชาวพุทธ
    ได้มีการออกนิตยสารภาคภาษาอังกฤษชื่อว่า “มหาโพธิรีวิว” เพื่อเผยแพร่กิจกรรมและแนวคิดทางพระพุทธศาสนา กว่าร้อยปี ซึ่งปัจจุบันชื่อ The Maha – Bodhi : Journal of the Maha – Bodhi society
  • ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูลอ้างอิง

    1. หนังสือและสารคดี “ตามรอยพระพุทธเจ้า”
    2. ถ้ำอชันตา https://en.wikipedia.org/wiki/Ajanta_Caves
    3. พระพุทธศาสนาในอาเซีย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
    4. ชวนคิด-พินิจธรรม บทเรียนของชาวพุทธ
    5. ไทยศึกษา เรื่อง กุฏิสงฆ์
    6. THAI CADET ประวัติศากยะวงศ์ในประเทศเนปาล
    7. ดาวดึงส์ : สวรรค์ของศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาพุทธ ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุข อินทราวุทธ
    8. ถิ่นกำเนิดภาษาบาลี พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ)