มังสวิรัติ ในทัศนะท่านพุทธทาสภิกขุ
Time reading :: 3 minutes
หนังสือ มังสวิรัติ ในทัศนะท่านพุทธทาสภิกขุ พร้อมด้วยทัศนะของพระราชวรมุนี นับว่าเป็นหนังสือหายาก เนื้อหาลึกซึ้งว่าด้วยเรื่องการกินเนื้อและผัก ซึ่งผู้เขียนอยากจะแบ่งปันบางตอนที่น่าสนใจให้ได้อ่านกัน
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่อง “อุททิสมังสะ” หรือเนื้อที่ไม่ควรฉันเพราะเป็นการฆ่าเจาะจงถวาย ในอดีตที่ยังไม่มีร้านขายเนื้อสัตว์ ผู้คนมักนิยมทำบุญด้วยการฆ่าสัตว์เพื่อถวายพระ ซึ่งกลายเป็นการ “ฆ่าเพื่อทำบุญ” อันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
เนื้อที่ไม่ควรบริโภค 3 อย่าง
ในพระพุทธพจน์ที่ตรัสแก่หมอชีวกโกมารภัจจ์ พระพุทธองค์ได้ทรงแจกแจงถึงเนื้อ 3 ประเภทที่ภิกษุไม่ควรบริโภค
1. เนื้อที่ตนเห็น หากภิกษุเห็นชาวบ้านฆ่าปลาเมื่อวาน แล้ววันนี้ชาวบ้านนำปลานั้นมาถวาย ภิกษุไม่ควรรับ แต่หากชาวบ้านบอกว่าเนื้อนี้เขาทำเพื่อประโยชน์ต่อตัวเองหรือเพื่อพระราชา ภิกษุสามารถรับได้
2. เนื้อที่ตนได้ยิน หากภิกษุได้ยินว่าชาวบ้านออกไปหาปลา แล้ววันนี้นำปลามาถวาย ก็ไม่ควรรับ แต่หากชาวบ้านอธิบายว่าเป็นเนื้อที่หามาเพื่อตนเองหรือเพื่อพระราชา ภิกษุก็สามารถรับได้
3.เนื้อที่ตนรังเกียจ แม้ภิกษุจะไม่ได้เห็นหรือได้ยิน แต่หากขณะบิณฑบาตรู้สึกระแวงหรือรังเกียจในเนื้อที่ชาวบ้านนำมาถวาย ก็ไม่ควรรับ เว้นแต่ชาวบ้านอธิบายว่าเป็นเนื้อที่หามาเพื่อตนเองหรือเพื่อพระราชา
จะเห็นได้ว่าพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกหรือจำกัดอาหารได้เลย แม้ในปัจจุบัน ไม่ว่าญาติโยมจะถวายอาหารเจหรืออาหารทั่วไป พระท่านก็ต้องรับตามที่ถวาย เพราะการเลือกว่าจะฉันเนื้อหรือผักอาจนำไปสู่บาปได้
อ่านเพิ่มเติม ชีวกสูตร
ตัวอย่างของ อุททิสะมังสะ
หลวงปู่แหวน กับ หลวงปู่ตื้อ ท่านได้เดินธุดงค์มายังหมู่บ้นแห่งหนึ่ง มีวัดประจำหมู่บ้าน แต่ไม่มีพระสงฆ์อยู่ มีเพียงสามเณรอยู่รูปเดียว สามเณรดีใจมากที่เห็นท่านทั้งสอง ได้จัดหาที่พักและน้ำร้อนมาถวาย เสร็จแล้วก็หลบออกไป สักพักหลวงปู่ทั้งสอง ได้ยินเสียงไก่ร้องกระโต๊กกระต๊าก แล้วก็เงียบเสียงลง สักครู่ใหญ่ๆ ก็มีกลิ่นไก่ย่างโชยมาตามลม หลังจากนั้นไก่ย่างร้อน ๆ ก็ถูกน้ำมาวางตรงหน้าหลวงปู่ทั้งสอง
สามเณประเคนถาดอาหารด้วยความนอบน้อม “นิมนต์ครูบาฉันไก่ก่อน ข้าวเหนียวกำลังร้อนๆ นิมนต์ครับ”
หลวงปู่ทั้งสองรับประเคนอาหารจากเณร ให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม แล้วท่านจะฝืนพระวินัยฉันไก่ย่างร้อนๆ นั้นได้อย่างไร ? เพราะเป็น อุททิสะมังสะ เป็นการจงใจฆ่าสัตว์เพื่อทำอาหารถวายโดยตรง ถึงแม้ท่านทั้งสองจะไม่เห็นแต่ท่านก็รู้และก็ได้ยิน ท่านจึงละเว้นการฉันไก่ย่าง ฉันแต่ข้าวเหนียวเท่านั้น
อีกเหตุการณ์หนึ่ง
ณ วัดหนองป่าพง ทางทิศเหนือของที่พำนักหลวงพ่อชา สุภัทโท มีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่ของปลานานาชนิด ทุกครั้งที่ฝนตกหนัก น้ำจะล้นฝั่ง พาฝูงปลาว่ายตะเกียกตะกายตามกระแสน้ำเข้ามา บางตัวแข็งแรงพอจะข้ามคันหินธรรมชาติที่กั้นเป็นขอบแอ่งได้ แต่หลายตัวหมดแรงเสียก่อน นอนดิ้นหายใจรวยรินอยู่บนคันหิน หลวงพ่อมักจะคอยช่วยปลาเหล่านี้ปล่อยลงแอ่งน้ำอยู่เสมอ
เช้าวันหนึ่ง ก่อนออกบิณฑบาต หลวงพ่อเดินไปดูปลาตามปกติ แต่ภาพที่พบกลับทำให้ท่านสลดใจ – เบ็ดตกปลาถูกวางเรียงรายริมแอ่งน้ำ บางตัวยังดิ้นทุรนทุรายติดเบ็ดอยู่ แต่ท่านช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเบ็ดมีเจ้าของ ได้แต่รำพึงด้วยความเวทนา
“เพราะปลากินเหยื่อเข้าไป เหยื่อนั้นมีเบ็ดด้วย ปลาจึงติดเบ็ด เห็นปลาติดเบ็ดแล้วก็สงสาร เพราะความหิวแท้ๆ ปลาจึงกินเหยื่อที่เขาล่อเอาไว้ ดิ้นเท่าไรๆ ก็ไม่หลุด เป็นกรรมของปลาเองที่ไม่พิจารณา คนเราก็เช่นเดียวกัน กินอาหารมูมมามไม่เลือกพิจารณา ย่อมเป็นเหมือนปลาหลงกินเหยื่อแล้วติดเบ็ด เป็นอันตรายแก่ตนเองได้ง่ายๆ”
เมื่อกลับจากบิณฑบาต ชาวบ้านนำต้มปลาตัวโต ๆ มาถวาย หลวงพ่อรู้ทันทีว่าต้องเป็นปลาที่ท่านเห็นติดเบ็ดเมื่อเช้านี้แน่ บางทีอาจเป็นปลาที่ท่านเคยช่วยชีวิตไว้ด้วยซ้ำ เกิดความรู้สึกรังเกียจไม่อยากฉันทันที
แม้วันนั้นจะมีอาหารน้อย มีแต่ปลาร้า แจ่วบอง และผักเท่านั้น แต่ท่านก็เลือกที่จะไม่ฉันต้มปลานั้น ด้วยเกรงว่าหากฉัน ชาวบ้านอาจเข้าใจผิดคิดว่าได้บุญ และจะไปตกเบ็ดเอาปลาในแอ่งมาถวายอีก…
คนกินเนื้อบาปกว่าคนที่กินผักหรือไม่ ?
ประเด็นที่มักถูกถกเถียงกันคือ การกินเนื้อบาปกว่าการกินผักจริงหรือไม่? ความจริงแล้ว ทุกการกระทำล้วนเกี่ยวข้องกับการทำลายชีวิต แม้แต่การปลูกผัก ก็ต้องใช้ยาฆ่าแมลง หรือการไถนาก็ทำให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยต้องตาย สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การยึดติดว่า “จะกินหรือไม่กินอะไร” แต่คือการเลือกบริโภคอย่างมีสติ กินเพื่อดำรงชีวิต และเลือกสิ่งที่ไม่เป็นโทษต่อร่างกาย
ปกหลังของหนังสือเรื่อง มังสวิรัติ ในทัศนะท่านพุทธทาสภิกขุ เขียนไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมความคิดเห็นจากข้อเขียนและคำบรรยายของท่าน ตั้งแต่ยุคต้นเมื่อแรกตั้งสวนโมกข์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างกันถึง 50 ปีไว้ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเห็นความคิดของท่านที่ก่อตัว คลี่คลาย จนได้บทสรุปที่ชัดเจน จากประสบการณ์ทางธรรมะอันยาวนานและแสดงเหตุผลตลอดจนความมุ่งหมายที่แท้จริงในการถือปฏิบัติเรื่องนี้ของท่านตั้งแต่เริ่มต้นด้วย
กล่าวคือ การปฏิบัตินี้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในใจตน ทั้งส่วนที่หยาบและประณีตโดยลำดับ ทั้งยังต้องหมั่นทบทวนตรวจสอบอยู่เสมอ ถึงความยึดมั่นถือมั่นของตนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติสิ่งนั้นๆ ดังนั้นข้อเขียนและคำบรรยายชุดนี้จึงมีประโยชน์อย่างน้อย 2 ด้านคือ ช่วยให้เข้าใจความคิดของท่านอาจารย์ต่อเรื่องมังสวิรัติโดยตลอดสาย มิใช่อ้างหรือตัดเอาตอนในตอนหนึ่งไปใช้อย่างผิดประเด็น และช่วยให้รู้จักวางท่าที่ที่ถูกต้อง และพึงปฏิบัติต่อเรื่องมังสวิรัติอีกส่วนหนึ่งด้วย“
ในหนังสือยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่ให้ข้อคิด เช่น เราจะไปนิพพานด้วยการกินผักกันหรือ ? ท่านพุทธทาสก็จะย้อนให้เราลองขบคิดว่า เราจะไปนิพพานได้โดยต้องบวชเท่านั้นหรือ ? ซึ่งจริงๆ แล้ว เราจะเห็นว่าฆราวาสก็บรรลุธรรมได้ หากแต่ว่าการบวชอาจจะช่วยให้บรรลุเร็วขึ้น การกินผักก็เช่นกัน ก็เหมือนเป็นเครื่องมือ ที่ช่วยฝึกให้เราลดตัณหาหรือเอาชนะลิ้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองว่าหากเราเริ่มปฏิบัติเพื่อการลดละ จริงๆ การกินผักก็อาจจะเป็นวิธีหนึ่งของการปฏิบัติธรรมก็ได้
การทดลองของท่านพุทธทาสภิกขุ
หนังสือตอนท้ายเล่ม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับบันทึกของท่านพุทธทาสภิกขุ ในการทดลองอาหารธรรมชาติ 3 เดือน ตลอดพรรษา ซึ่งเป็นไปอย่างเข้มข้น เช่น บางอาทิตย์ ฉันแต่กล้วยอย่างเดียว หรือ ผักอย่างเดียว หรือ ข้าวกับถั่ว
ผลที่ได้ในทางธรรม – เลี้ยงง่าย ชนะลิ้น พิจารณาเห็นความเป็นธาตุได้ง่าย กิเลสบางอย่างรบกวนน้อยลงไป
การกินเจครั้งแรกของผู้เขียน
หลังจากที่ผู้เขียนทดลองกินเจ เป็นเวลา 9 วัน สิ่งที่สังเกตเห็นชัดเจนคือ อุจจาระแทบไม่มีกลิ่นเลย ต่างจากช่วงที่กินเนื้อสัตว์อย่างเห็นได้ชัด
ด้วยความที่เป็นมือใหม่ ไม่เคยลองโปรตีนเกษตร วันแรกๆ จึงรู้สึกว่าอาหารมีรสชาติแปลกไป แต่หลังจากนั้นผู้เขียนเริ่มค้นพบเมนูเจหลากหลาย ซึ่งตอนนั้นซื้อกินอย่างเดียว ไม่ได้ทำเอง แต่ก็สนุกกับการค้นพบรสชาติใหม่ๆ
จนกระทั่งช่วงวันท้ายๆ เริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเราฝืนกินไปเพื่ออะไร? เราได้ประโยชน์หรือโทษจากสิ่งที่ทำอยู่? วันสุดท้าย มองดูอาหารตรงหน้า ก็พบคำตอบว่า การกินเจครั้งนี้เป็นการกินตามความเชื่อมากกว่ากินด้วยปัญญา
ผู้เขียนเพิ่งเข้าใจภายหลังว่านี่คือสิ่งที่เรียกว่า “สีลัพพตปรามาส”
แต่การกินมังสวิรัติด้วยเจตนาที่ถูกต้อง เช่น เพื่อสุขภาพ เพื่อเว้นจากการสร้างกรรม หรือเพื่อลดการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิต ก็นับว่าเป็นการกินที่ก่อประโยชน์ทั้งทางกายและใจ แม้จะมีความเชื่อเป็นส่วนประกอบ แต่หากมีปัญญากำกับก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่สมควร
สีลัพพตปรามาส หมายถึง ความยึดมั่นถือมั่นที่คลาดเคลื่อนในหลักปฏิบัติทางศาสนา ซึ่งแสดงออกใน 3 ลักษณะ
- การเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอกสามารถดลบันดาลความสำเร็จหรือความหลุดพ้นให้ได้
- การยึดติดว่าการรักษาศีลเพียงอย่างเดียวจะนำไปสู่ความหลุดพ้น
- การเข้าใจผิดว่าการปฏิบัติทางกายและวาจาเท่านั้นที่จะชำระกิเลสให้บริสุทธิ์ได้
ในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะพุทธศาสนามุ่งเน้นการพัฒนาปัญญาภายในจิตใจเป็นสำคัญ การหลุดพ้นที่แท้จริงต้องอาศัยการพัฒนาทั้งศีล สมาธิ และปัญญาควบคู่กันไป ไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง
รู้เท่าทันจิตใจ ด้วยการฝึกลดการปรุงแต่งอาหาร
เราลองมาฝึกปฏิบัติตามแนวทางง่ายๆ ดังนี้
- ทำอาหารกินเอง
- เริ่มจากค่อยๆ ลดการใช้เครื่องปรุงอย่างซีอิ๊ว น้ำมันหอย และซอสปรุงรสต่างๆ
- ปรับให้เหลือแค่เกลือและน้ำตาลเล็กน้อย หรือไม่ใส่เลยก็ได้
- เมื่อทำไปสักระยะ จะเริ่มชินและสัมผัสถึงรสชาติธรรมชาติของวัตถุดิบได้ชัดเจนขึ้น
แต่หากต้องทำอาหารให้คนในครอบครัว การเดินสายกลางคือทางออกที่ดี – ปรุงรสพอประมาณ โดยคำนึงถึงความพอดีระหว่างการฝึกฝนตนเองและการไม่สร้างความลำบากให้ผู้อื่น
- ซื้อกับข้าวกิน
- ลดหรืองดการใช้เครื่องปรุงเพิ่มเติม เช่น น้ำปลาพริก น้ำจิ้ม หรือน้ำส้มสายชู
- ฝึกทานอาหารตามรสชาติดั้งเดิมที่ปรุงมา
การฝึกลดการปรุงแต่งอาหารเป็นการฝึก “ทมะ” หรือการข่มใจ เพื่อไม่ให้จิตตกเป็นทาสของความอยาก ความโกรธ และความหลง เมื่อเราลดการปรุงสักระยะหนึ่ง จิตมันก็มักมาหลอกและไม่ให้เราได้อยู่เป็นสุขง่ายๆ พอเราไม่ปรุงอะไร วันไหนเจออาหารที่ร้านค้า ปรุงรสจัดไป เค็มไป หวานไป มันก็กระทบเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา บางทีซื้อผลไม้มาไม่หวาน ไม่สด ก็กระทบกับอารมณ์อีก จิตก็จะปรุงแต่งความไม่พอใจขึ้นมา
ผลลัพธ์ที่ได้
เมื่อเราฝึกลด ละ และข่มใจต่อความอยากในรสชาติได้ เราจะกลายเป็นคนกินง่าย อยู่ง่าย ส่งผลให้ทั้งกายและใจสบายขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิบัติภาวนาให้ก้าวหน้า ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวไว้ว่า การปฏิบัตินี้เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในใจตน ทั้งส่วนหยาบและประณีตโดยลำดับ