พระถังซัมจั๋ง – ประวัติ และบันทึกการเดินทางบนเส้นทางสายไหม # ภาคจบ
# เสร็จสิ้นภารกิจ
ความเดิมจากภาคสอง :: << อ่านภาคสอง >>
พระถังซัมจั๋งได้เดินทางมาถึงเอเชียกลาง โดยตลอดเส้นทางอันยาวไกลนั้น ท่านต้องเผชิญกับภัยอันตรายมากมาย ทั้งโจรที่หมายจะนำท่านไปบูชายัญและสภาพภูมิประเทศอันทุรกันดาร แต่ด้วยความอุตสาหะ ท่านสามารถฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
เส้นทางของพระถังซัมจั๋งทอดยาวผ่านดินแดนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคีร์กีซสถาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน จนกระทั่งถึงเนปาล และสิ้นสุดที่จุดหมายปลายทา คือ อารามนาลันทาในอินเดีย ณ ที่นั้น ท่านได้ศึกษาศาสตร์ต่างๆ อย่างลึกซึ้งเป็นเวลา 14 ปี โดยในใจลึกๆ ท่านปรารถนาที่จะนำความรู้อันล้ำค่านี้กลับไปเผยแผ่ยังบ้านเกิดเมืองนอนโดยเร็วที่สุด
ตอนที่ 9 # ชื่อเสียงขจรขจาย
พระราชาของอินเดีย นามว่า พระเจ้าศีลาทิตย์ หรือ พระเจ้าหรรษวรรธนะ (Harshavardhana) พระองค์ทรงใฝ่พระทัยในลัทธิมหายานอย่างยิ่ง จึงมีความกระตือรือร้นที่จะส่งเสริมลัทธิมหายานให้แผ่ไปทั่วประเทศ
พระองค์จัดให้มีการชุมนุมที่เมืองกันยากุพชะ เพื่อให้พระถังซัมจั๋งได้แสดงธรรม และกำจัดมิจฉาทิฏฐิของหินยานและลัทธิอื่นๆ โดยได้มีพระราชโองการไปยังแคว้นต่างๆ ให้สมณชีพราหมณ์และพวกถือลัทธิต่างในอินเดียทั้ง 5 ภาค ให้มาฟังการบรรยายของพระถังซัมจั๋ง
พระถังซัมจั๋ง กล่าวสรรเสริญวัตถุประสงฆ์ของมหายานก่อน และมีการคัดลอกบทนิพนธ์อีกชุด ไว้ที่หน้างาน โดยบอกว่า “ถ้าผู้ใดเห็นว่าข้อความนี้ไม่สมเหตุผลแม้แต่เพียงข้อหนึ่งคำใดก็ตาม และสามารถหักโค่นความเห็นนั้นไซร้ ข้าพเจ้าเสวียนจั้ง จะยอมให้ตัดศรีษะเป็นเครื่องตอบแทน”
ผ่านไป 5 วัน ก็ยังไม่มีผู้ใดคัดค้าน แต่เมื่อฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย กลัวว่าลัทธิของตนจะถูกลบล้าง ก็มีความรู้สึกเคียดแค้น ต้องการจะประทุษร้ายท่าน พระราชาทรงทราบจึงรับสั่งให้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ว่าผู้ใดคิดจะทำร้ายพระถังซัมจั๋ง ผู้นั้นต้องถูกลงโทษ แต่ผู้ใดที่ต้องการเสนอข้อคัดค้าน หรือโต้แย้งอย่างสมเหตุสมผล จะไม่ถือสา
เมื่องานชุมนุมจบสิ้นลง พระถังซัมจั๋ง แสดงความจำนงต่อพระเจ้าศีลาทิตย์ถึงเหตุที่ต้องกลับไปยังบ้านเกิด พระราชาทรงเหนี่ยวรั้งไว้ จนท่านต้องทูลกล่าวว่า
“ประเทศจีนอยู่ห่างไกลโพ้น กว่าจะได้รับพระธรรมของพระพุทธองค์ก็เป็นเวลาเนิ่นนาน คัมภีร์บางส่วนข้อความยังตกหล่น หรือบางส่วนก็แปลความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อท่านได้มาถึงที่อินเดียนี้สมดังที่ตั้งใจไว้ ก็ย่อมเป็นห่วงพุทธศาสนิกชนที่ประเทศจีน ผู้ใดที่ปิดบังมิให้ผู้อื่นเห็นพระธรรม ผู้นั้นจักสายตามืดบอด ถ้าท่านยังอยู่ที่อินเดีย ก็จะทำให้คนทางโน้นขาดความรู้ในธรรม กรรมที่ก่อให้เกิดความมืดบอด พระราชามิทรงกลัวบ้างหรือ”
พระราชาได้ฟังดังนี้ จึงมิได้กล่าวคัดค้านการเดินทางอีกต่อไป
พระเจ้าศีลาทิตย์ทรงแนะนำให้เดินทางกลับทางทะเล แต่พระถังซัมจั๋งต้องการเดินทางบกเพื่อไปยังแคว้นเกาชาง ตามที่สัญญาว่าจะแวะพักที่นั่น 3 ปี ขากลับพระราชาได้มอบหมายให้กองทหารของพระอุทิตราชาแห่งอินเดียตอนเหนือ แบกขนคัมภีร์และพระพุทธรูป และได้มีพระราชสาส์น ถึงแคว้นต่างๆ ที่ท่านเดินทางผ่าน ให้จัดยวดยานและสัตว์พาหนะ ส่งท่านจึงถึงเขตชายแดนประเทศจีน
พระเจ้าศีลาทิตย์ เป็นพระราชาที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ครองราชย์โดยทศพิธราชธรรม และดำเนินรอยตามพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงรวบรวมพระราชทรัพย์ไปยังแคว้นประยาค ซึ่งอยู่ระหว่างที่บรรจบแม่น้ำ 2 สาย เพื่อทำบุญให้ทานแก่สมณพราหมณ์ ตลอดคนยากจนในอินเดียทั้ง 5 ทำ 5 ปีต่อครั้ง ครั้งละ 75 วัน พระราชาทรงขอให้พระถังซัมจั๋งอยู่รวมงาน “มหาทานกลางแจ้ง” ครั้งนี้ก่อน ก่อนที่จะกลับประเทศจีน |
พระถังซัมจั๋งเดินทางมุ่งหน้าสู่แคว้นโกสัมพี ที่นั่นท่านได้ใช้เวลาราวหนึ่งเดือนเศษในการนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จากนั้นท่านได้เดินทางต่อ ผ่านหลายแคว้น แม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับโจรผู้ร้ายบ้าง แต่ด้วยบุญบารมีที่สั่งสม ท่านก็รอดพ้นจากอันตรายโดยไม่ถูกทำร้าย การเดินทางอันยาวนานของท่านดำเนินต่อไปจนกระทั่งมาถึงริมฝั่งแม่น้ำสินธุอันเลื่องชื่อ
ขณะที่เรือแล่นมาถึงกลางแม่น้ำ คลื่นลมปั่นป่วนได้ก่อตัวขึ้นอย่างฉับพลัน ส่งผลให้เรือโคลงเคลงจนเกือบจมน้ำ พระคัมภีร์บางส่วนที่ผูกไว้และเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกได้จมหายไปในสายน้ำ โชคดีที่พระราชาจากแคว้นต่างๆ ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ท่านจึงได้พำนักอยู่ที่เมืองอุทกขัณฑะเป็นเวลาประมาณ 50 วัน เนื่องจากคัมภีร์บางส่วนได้รับความเสียหาย ท่านจึงต้องขอความช่วยเหลือจากผู้รู้ในท้องถิ่นให้ช่วยคัดลอกคัมภีร์
ตอนที่ 10 # พระจักรพรรดิถังไท่จง
17 ปีก่อน พระถังซัมจั๋งได้เริ่มการเดินทางอันยาวนานสู่อินเดียโดยใช้เส้นทางสายกลาง (middle route) ครั้นถึงคราวเดินทางกลับ ท่านเลือกใช้เส้นทางสายใต้แทน (south route) ซึ่งท่านจะต้องผ่านเทือกเขาสูงปามีร์ (Pamir)
Pamir เป็นภูเขาสูงที่เป็นรอยต่อของหลายๆ เทือกเขา อย่าง เช่น หิมาลัย (Himalaya) เทียนซาน (Tianshan) ฮินดูกูซ (Hindu kush) และคาราโครัม (Karakoram) |
ที่นี่เปรียบเสมือนหลังคาของทวีปเอเชีย ที่ความสูงมากกว่า 5,000 เมตรและมีอุณหภูมิสูงติดลบถึงลบ 50 องศาเซลเซียส ที่ราบสูงมีน้ำประมาณ 2,400 พันล้านตันที่แช่แข็งบนยอดเขาในรูปแบบของธารน้ำแข็ง ที่ราบสูง Pamir ไม่ใช่ที่ราบสูงในอย่างที่รู้จักกัน ไม่ใช่พื้นที่กว้างใหญ่ แต่เป็นที่รวมของยอดเขาที่เต็มไปด้วยหิมะและหุบเขาในแม่น้ำ
พระถังซัมจั๋งเผชิญหน้ากับเทือกเขาอันใหญ่โต ด้วยยอดเขาสูงชันและซับซ้อน ท่านต้องปีนป่ายด้วยความยากลำบากเกินกว่าจะบรรยาย เป็นเวลาเจ็ดวันที่ท่านต้องเดินเท้า ไม่สามารถใช้ม้าได้ จนในที่สุดก็มาถึงหมู่บ้านเล็กๆ ราว 100 หลังคาเรือนที่เชิงเขา ท่านพักเหนื่อยจนถึงเที่ยงคืน จึงออกเดินทางอีกครั้งด้วยอูฐภูเขา เพราะเส้นทางเบื้องหน้าเต็มไปด้วยหิมะและน้ำแข็งที่อาจพังทลายได้ทุกเมื่อ
พระถังซัมจั๋งเดินทางมาถึงอีกเชิงเขาหนึ่ง ต้องเดินตามเส้นทางคดเคี้ยวมุ่งสู่ภูเขาลูกถัดไป มองดูไกลๆ เหมือนปกคลุมด้วยหิมะเมื่อเข้าใกล้กลับพบว่าเป็นหินสีขาวโพลน ยอดเขานี้สูงเสียดฟ้า แม้แต่เมฆและหิมะที่ปลิวว่อนยังไม่อาจเทียบความสูงได้ เมื่อปีนถึงยอดเขา ลมกรรโชกแรงจนไม่มีผู้ใดยืนทรงตัวได้ แม้แต่นกก็ไม่อาจบินข้าม ทิวทัศน์รอบด้านเต็มไปด้วยยอดเขาแหลมชัน สลับซับซ้อนราวกับดงหน่อไม้ไผ่ ตลอดชมพูทวีปจะหาภูเขาอื่นอันสูงกว่านี้ไม่มี
|
พระถังซัมจั๋งเดินทางผ่านแคว้นต่างๆ มากมาย ข้ามหุบเขาอันสูงชัน จนในที่สุดมาถึงแคว้นกาชา ท่านระลึกถึงคำสัญญาที่เคยให้ไว้กับเจ้าครองแคว้นเกาชางว่าจะแวะพำนักที่นั่นเป็นเวลา 3 ปีในระหว่างเดินทางกลับ แต่โดยไม่คาดฝัน ท่านได้รับข่าวว่าเจ้าครองแคว้นเกาชางได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว อีกทั้งแคว้นนั้นยังถูกพิชิตโดยพระเจ้าถังไถ่จง ข่าวร้ายนี้ทำให้จิตใจของท่านหดหู่และสลดใจยิ่งนัก
แคว้นเกาชาง เดิมเป็น แคว้นที่มีอำนาจ และได้ส่งเครื่องบรรณาการให้กับประเทศจีน ตอนหลังเริ่มกระด้างกระเดื่อง พระเจ้าถังไท่จึงสั่งกองทัพไปปราบปราม แต่เจ้าครองแคว้นสิ้นพระชนม์เสียก่อน ตอนหลังจึงตกอยู่ในอาณาเขตของจีน ปัจจุบันคือ มณฑลซินเจียง |
ข่าวร้ายนี้ทำให้พระถังซัมจั๋งต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินใหม่ เดิมท่านคิดจะไปเส้นทางสายกลาง แต่ต้องเปลี่ยนไปทางสายใต้ เพื่อไปยังแคว้นกุสตนะ ปัจจุบันคือ เมืองโฮตาน (Khotan) ปี ค.ศ. 644
เมือง Khotan สินค้าที่ขึ้นชื่อตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน คือ ผ้าไหม และ หยกขาว ในอดีตเมืองนี้ ชาวบ้านนับถือนิกายมหายาน มีวัดกว่าร้อยแห่ง มีพระภิกษุสงฆ์กว่า 5000 รูป ปัจจุบันเมืองนี้ประชากรนับถือศาสนาอิสลาม |
สารคดี Xuanzang’s Pilgrimage ได้ถ่ายทอดความรู้สึกของพระถังซัมจั๋งผ่านสาส์นที่ท่านเขียนถึงพระเจ้าถังไท่จง ท่านสารภาพว่าได้ออกเดินทางสู่อินเดียโดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต ด้วยเหตุผลที่ว่าบ้านเมือง ณ ตอนนั้นคัมภีร์ต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์ ท่านใช้เวลา 17 ปีเดินทางไกลกว่า 25,000 กิโลเมตร ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ จนสำเร็จตามปณิธาน แต่ระหว่างเดินทางกลับ ช้างที่ขนคัมภีร์ตกน้ำ ทำให้ไม่สามารถขนคัมภีร์และพระพุทธรูปได้ ท่านจึงถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือในการขนย้ายพระคัมภีร์
6 เดือนให้หลัง พระถังซัมจั๋งได้รับการตอบกลับจากพระราชา ว่าทรงยินดีที่ได้ทราบข่าวของท่าน ขอให้ท่านรีบมาเข้าเฝ้าโดยเร็ว และให้คนจัดหาผู้คนและยานพาหนะ เพื่อจะขนคัมภีร์กลับ
พระถังซัมจั๋งต้องเดินทางข้ามทะเลทรายทาคลามากัน (Taklamakan Desert) ไปยังเมืองนิยังคะ (Niya)และเดินทางต่อไปท่ามกลางทะเลทราย ที่มีลมพายุพัดทรายปลิวปั่นป่วน ไม่มีน้ำ ไม่มีหญ้า อบอ้าว มีโอกาสหลงทางได้ง่ายๆ ต้องอาศัยสังเกตกระดูกคนและสัตว์ที่เรี่ยรายตามรายทาง
ปี ค.ศ. 645 พระถังซัมจั๋ง เดินทางมาถึงฉางอาน (เมืองซีอาน ปัจจุบัน) คัมภีร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านอันเชิญมา ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ 150 เม็ด พระพุทธรูป 7 องค์ คัมภีร์ต่างๆ รวม 520 ผูก 657 เรื่อง
ตอนที่ 11 # แปลคัมภีร์
ในที่สุด พระถังซัมจั๋งได้เดินทางมาเข้าเฝ้าพระเจ้าถังไท่จงที่แคว้นลั่วหยาง พระองค์ทรงต้อนรับด้วยพระอัธยาศัยไมตรีอันดีงาม พระถังซัมจั๋งถวายพระพรพร้อมทั้งสารภาพความผิดที่ได้ลักลอบออกนอกประเทศโดยพลการ แม้ท่านจะได้ถวายฎีกาถึงสามครั้ง แต่พระเจ้าถังไท่จงมิได้ทรงตำหนิแต่อย่างใด ตรงกันข้าม พระองค์ทรงสรรเสริญความวิริยะของท่านที่ได้ฝ่าฟันภยันตรายมากมาย พระองค์ยังทรงไต่ถามด้วยความสนพระทัยถึงสภาพภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ในดินแดนต่างๆ ที่ท่านได้เดินทางผ่าน
ณ วัดหงฝู ท่านได้เริ่มการแปลพระสูตร โดยถวายฎีกาขอให้พระเจ้าถังไท่จง จัดหาพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้ช่วย โดยมีมหาเถระ 12 รูป ที่มีความสามารถในอรรถาธิบาย ผู้เกลาสำนวน 9 รูป (มีพระภิกษุ ฮุยลิบ ผู้ประพันธ์หนังสือบันทึกพระถังซัมจั๋งนี้ด้วย) และมหาเถระด้านอักษรศาสตร์ 1 รูป ด้านพิสูจน์อักษรภาษาสันสฤต 1 รูป และผู้ช่วยในการเขียนร่าง และคัดลายมือจำนวนมาก
ท่านได้รับราชโองการให้เขียนบันทึกการเดินทางไปอินเดีย “จดหมายเหตุการเดินทางไปประเทศตะวันตก” หรือ “บันทึกแว่นแคว้นตะวันตก” และถวายแก่พระเจ้าถังไท่จงทอดพระเนตร
แท้จริงการเขียนหนังสือเล่มนี้ท่านไม่ได้ตั้งใจจะเขียนบันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนา แต่พระเจ้าถังไท่จงมีรับสั่งให้เขียนขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลดินแดนฝั่งตะวันตกเพื่อใช้ในการป้องกันดินแดน และขยายอาณาเขต ตอนนั้นพระองค์วางแผนจะทำสงครามกับชาวเติร์กและอาณาจักรทางด้านตะวันตกของจีน แต่เวลาผ่านไปบันทึกต่างๆ กลับกลายเป็นเหมือนลายแทงที่ดึงดูดให้นักล่าขุมทรัพย์ มุ่งหน้าสู่เส้นทางสายไหม โดยคนสำคัญที่มาถึงคนแรกคือ นักเดินทางชาวอังกฤษ ชาวจีนเรียกเขาว่า โจรปล้นสมบัติของชาติ
พระถังซัมจั๋ง กลายเป็นเงาตามตัวของพระเจ้าถังไท่จง พระองค์ทรงอุปถัมภ์พระศาสนามากยิ่งขึ้น แต่พระองค์ก็ป่วยกะเสาะกะแสะมาก่อนหน้านี้ จนกระทั่งสวรรคต พระเจ้าถังเกาจง รัชทายาทได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทน พระถังซัมจั๋งเองก็อาพาธด้วยโรค ที่เกิดจากการเดินทางข้ามภูเขาน้ำแข็ง แต่ท่านก็ยังเดินหน้าแปลคัมภีร์ดังที่ตั้งใจไว้ สถานที่ที่เก็บรวบรวมคัมภีร์ต่างๆ คือ วัดต้าฉือเอิน ท่านได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าเกาจงให้สร้างเจดีย์แห่งนี้ขึ้นมาภายในวัดเพื่อเป็นสถานที่เก็บพระคัมภีร์ต่างๆ ที่นำมาจากอินเดีย
ตอนที่ 12 # นิพพาน
งานแปลทั้งหมดของพระถังซัมจั๋ง อาทิ มหาโพธิสัตว์สูตร 20 เล่ม พุทธภูมิสูตร 1 เล่ม ฉกธรณีสูตร 1 เล่ม ปการณารวาจาศาสตร์ 20 เล่ม โยคาจารภูมิศาสตร์ 100 เล่ม ปรัชญาปารมิตาสูตร 120 เล่ม
ในช่วงที่พระถังซัมจั๋งแปลมหาปรัชญาปารมิตาสูตรนั้น ท่านมีอายุล่วงเข้าชราภาพ จนกระทั่งแปลจบ ท่านไม่ได้จับงานแปลอีกต่อไป ท่านสำรวมจิตมุ่งสวดมนต์ภาวนา ต่อมาท่านได้เดินสะดุดล้ม มีอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่อาการทรุดหนัก ท่านเห็นลางบอกเหตุ จึงได้บริจาคทาน ทั้งหมด และ และได้กล่าวอำลากับทุกคนและตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ตัวท่านและสัตว์ทั้งหลายเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว ได้อุบัติยังแดนดุสิตแห่งพระศรีอารยเมตไตรย เมื่อท่านลงมาจุติเป็นพระพุทธเจ้าในเบื้องหน้า ก็ขอให้ได้ติดตามมาเกิดด้วย เพื่อจะได้ตามพระองค์ลงมาโปรดสัตว์ในอนาคต
หลังจากบริจาคทาน ท่านก็มิได้เคลื่อนไหวไปไหน มีอาการทรุดหนัก และท่านได้ดับขันธ์ลง เมื่อปี วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.664 กิเลสและอกุศลกรรมทั้งหลายได้ถูกขจัดหมดสิ้นแล้ว
ปัจจุบันกระดูกศรีษะของท่าน 17 ชิ้น ได้แบ่งบรรจุอยู่ในสถานที่ต่างๆ คือ เจดีย์ที่สวนสาธารณะอู่โจวในทะเลสาบเสียนอู่หนานจิง เจดีย์ที่นครปักกิ่ง วัดฉวนกวาง ที่ทะเลสาบสุริยันจันทรา ประเทศใต้หวัน เป็นต้น
หลังจากนั้น มหาวิหารนาลันทา ได้เริ่มเสื่อมไปตามกาลเวลา ซึ่งสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย เช่น พระภิกษุที่เก่งๆ มากระจุกตัวอยู่ที่เดียวกัน ทำให้วัดในชนบทอ่อนแอลง และช่วงหลังนาลันทากลายเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่ผสมผสานในเรื่องของการนับถือเทพเจ้าแบบฮินดูและไสยศาสตร์ จึงทำให้ความเป็นพุทธอ่อนแอลงเรื่อยๆ จนกระทั่งกองทัพเติร์กได้มารุกราน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 มหาวิหารนาลันทาถูกเผาและทำลายจนย่อยยับ เล่ากันว่าไฟที่เผาคัมภีร์และพระไตรปิฎก ต้องใช้เวลากว่า 3 เดือน ไฟถึงจะมอดลงได้ ศาสนาพุทธก็ได้สูญสิ้นไปจากอินเดีย
อีกหนึ่งพันปีถัดมา เหลือเพียงหลักฐานเดียวที่ผู้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้นั่นคือ จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตก ของพระถังซัมจั๋ง ซึ่งเป็นตัวเชื่อมและนำพาพุทธศาสนากลับสู่อินเดียอีกครั้งหนึ่ง
ข้อมูลอ้างอิง –หนังสือ “ภาพประวัติพระถังซัมจั๋ง” แปลโดย คุณอรุณ โรจนสันติ –หนังสือ “ประวัติพระถังซัมจั๋ง อนุสรณ์ในงานฉาปนกิจศพ นางแก้ว สี บุญเรือง” –สารคดี Top Choice 04/15/2016 Xuanzang’s Pilgrimage Part 1-12 (CCTV english) –สารคดี พื้นที่ชีวิต : ตามรอยพระถังซัมจั๋งบนเส้นทางสายไหม –#ตามรอยพระพุทธเจ้า2 ตอนที่ 1 คำสอนมีชีวิต |