วิปัสสนา พาเพลิน

วิปัสสนา พาเพลิน

มองก็แล้ว (Look) ดูก็แล้ว (Watch) แต่ก็อาจจะไม่เห็น (See)

1. ปัญญา

ปัญญา คืออะไร

สมมติว่าวันนี้เราตั้งใจจะเข้าครัวทำเมนูฟิวชั่นเป็นครั้งแรกในชีวิต คือ “สปาเก็ตตี้ไส้อั่วลาบอีสาน” รสชาติจะเป็นยังไงไม่รู้ แต่เรารู้ว่าก่อนอื่นต้องหาวิธีทำก่อน

ข้อมูลที่เราหามา ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหรือการดูวิธีทำ นั่นก็เป็นปัญญาแล้ว เป็นปัญญาที่ได้จากการศึกษา พอเราลงมือทำเมนูนี้เมื่อไหร่ มันก็จะเป็นปัญญาอีกอย่างหนึ่ง แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากการลงมือทำจริงๆ

ครั้งต่อไปที่เราลงมือทำ เมนูนี้ก็จะกลายเป็นความจำ หรือที่เรียกว่า “สัญญา” ในขันธ์ 5 เราจะทำตามขั้นตอนแบบอัตโนมัติ การทำครั้งแรกอาจจะยาก แต่เมื่อทำไปหลายๆ ครั้ง เราก็จะคุ้นเคยและสามารถทำได้โดยไม่ต้องคิดเลย

จนมาวันหนึ่งเราไปนั่งกินที่ร้านอาหาร แล้วเจอว่าลาบหมูร้านนั้นมันอร่อยกว่าที่เราทำใส่สปาเก็ตตี้ เราก็มานั่งคิดว่าอะไรที่ทำให้อร่อยกว่าเดิม เราก็เลยกลับมาทดลองจนกระทั่งค้นพบรสชาติที่เหมือนกัน หรือได้รสชาติใหม่ที่อร่อยยิ่งขึ้น

นี่ก็ถือว่าเป็นปัญญาเหมือนกัน เพราะมันเกิดจากการคิดและการทดลอง จนได้เจอหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา

food

โดยสรุป ปัญญา ก็คือ ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้และการคิดค้นใหม่ๆ นั่นเอง

แต่ ปัญญา ในพุทธศาสนานั้น มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น

ผู้เขียนขอแยกเป็นคำว่า “ปัญญาทางโลก ” และ “ปัญญาทางธรรม ” ซึ่งนำไปใช้ในเป้าหมายที่แตกต่างกัน

ปัญญาในทางโลก เน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ เพื่อความสำเร็จและความสุขในชีวิตประจำวัน

ปัญญาในทางธรรม เน้นการเข้าใจและหลุดพ้นจากทุกข์ ผ่านการปฏิบัติธรรมและการเห็นธรรมชาติตามความเป็นจริง

วิปัสสนา ปัญญา

ปัญญาในทางธรรมนั้นไม่ได้เกิดจากการนึกคิด แต่เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นมาเหมือนหลอดไฟที่จู่ๆ ก็เปิดแล้วสว่างจ้า ที่น่าแปลกใจคือ ความรู้ชนิดนี้จะอยู่ติดตัวกับเรา สามารถนึกหรือหยิบยกมาใช้เมื่อใดก็ได้ การที่จะได้ซึ่งปัญญาทางธรรม มีหนทางเดียวคือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

2. วิปัสสนา

วิปัสสนา คือ อะไร ?

วิ แปลว่า แจ่มแจ้ง
ปัสสนา แปลว่า การเห็น

วิปัสสนา (insight) หมายถึง การเห็นแบบแจ่มแจ้ง เห็นกระจ่างแจ้งว่าธรรมชาติเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นตามความเป็นจริง

วิปัสสนา ปัญญา

แล้วการเห็นแจ้งนั้น มันเห็นแบบไหนกันนะ ?

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบ จากรูปด้านล่าง ให้ลองดูว่าเห็นอะไร (ถ้าใครเคยเห็นแล้วขอให้ข้ามไปได้เลย)

coffer illusion

คนทั่วไปที่เห็นภาพนี้ครั้งแรก จะมองเป็นลายเส้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเท่านั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่ามนุษย์มักจะมองเห็นภาพที่ชัดเจนหรือเด่นชัดก่อน แต่ถ้าผู้เขียนบอกว่า ในภาพนี้มีวงกลม 16 รูป ให้ทุกคนลองหาดู เชื่อว่าทุกคนก็ต้องนั่งจ้อง เอียงซ้าย เอียงขวา ซูมรูป หรือไม่ก็ค้านในใจว่ามันสี่เหลี่ยมชัดๆ จะมีวงกลมได้ยังไง หลอกหรือเปล่า

วิธีที่ทุกคนมองหาวงกลมนั้น ถือว่าเป็นการเข้าไปพิจารณาอย่างละเอียด โดยวิธีที่จะทำให้เห็นวงกลมของแต่ละคนอาจจะต่างกันไป แต่หลักการคือ ต้องเปลี่ยนมุมมองหรือจุดสนใจ ไปยังส่วนต่างๆ ลองหันไปหันมาหรือโฟกัสในส่วนเล็กๆ ของภาพทีละนิด

ภาพลวงตา “coffer illusion” ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดสอบการมองเห็นและการรับรู้ของมนุษย์

ผู้เขียนกำลังจะโยงไปถึงเรื่องวิปัสสนา หลักการของการทำวิปัสสนากรรมฐานก็คล้ายๆ กับตัวอย่างภาพด้านบนนี้ คือ การมองและการพิจารณาอย่างละเอียดจะสามารถเผยให้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ เป็นการฝึกใจให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง และมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ ในรูปแบบที่ไม่มีการยึดติดหรือแทรกแซง

เมื่อเห็นวงกลมแล้ว ครั้งต่อไปเราก็จะเห็นวงกลมได้ทันที

วิปัสสนา

3. เห็น

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มีคำว่า “เห็น” อยู่เต็มไปหมดด้านบน นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้ในบางบริบทควบคู่กัน เช่น คำว่า “ดู” หรือ “มอง”

“ดู” และ “เห็น” ในเรื่องของ “จิต” ต่างกันอย่างไร

ดูจิต คือ การเฝ้าดูการเกิดขึ้นและดับไปของความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ต่างๆ โดยไม่ไปปรุงแต่งหรือยึดติดกับสิ่งเหล่านั้นอย่างมีสติ

ขณะที่ เห็นจิต คือ เห็นการเกิดและดับของอารมณ์ จากจิตที่มีการปรุงแต่ง เมื่อเราเห็นแบบนี้แล้ว ต่อไปเราจะเริ่มปล่อยวาง เข้าใจความจริงของสังขารทั้งหลายตามที่มันเป็น

ดังนั้น “วิปัสสนากรรมฐาน” คือ การฝึกเพื่อให้ “เห็น” เมื่อไหร่ที่เห็น นั่นแปลว่า เกิด “ปัญญา” และเราจะต้องสะสมปัญญานี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสามารถปล่อยวางความยึดมั่นในตัวตนและกิเลสทั้งหลายได้อย่างสมบูรณ์ นำไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์และเข้าถึงนิพพานในที่สุด

ธรรมชาติของจิตมนุษย์คือไม่สามารถหยุดความคิดได้ ยกเว้นตอนนอน ไม่มีสติ สลบ หรือตายไปชั่วขณะ นี่คือจิตของปุถุชน แต่จิตของอริยชนสามารถควบคุมและหยุดความคิดได้ คนที่จะหยุดความคิดได้ต้องเท่าทันความคิดก่อน ซึ่งต้องเห็นการเกิดและดับของอารมณ์ก่อน เพราะถ้าไม่เห็นการเกิดและดับ ก็จะไม่สามารถเท่าทันในอารมณ์ได้ เนื่องจากจิตยังมีการปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา

– สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี –

ส่วนวิธีการวิปัสสนากรรมฐานนั้น ผู้เขียนขออนุญาตข้ามตรงจุดนี้ เพราะแต่ละคนมีจริตและครูบาอาจารย์ที่สอนแตกต่างกัน

สำหรับผู้เขียนแล้ว วิธีวิปัสสนามีเพียง 3 คำ สั้น ๆ คือ

วิปัสสนา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ::
ธรรมะมหัศจรรย์ ตามรอยธรรมสมเด็จโต สถานปฏิบัติธรรมพรหมรังสี
หนังสือ “ศัพท์หมู 2” คำว่า “เห็น” โดย ภูมิชาย บุญสินสุข