อัตวินิบาตกรรม – การฆ่าตัวตาย

อัตวินิบาตกรรม – การฆ่าตัวตาย

Time reading :: 4 minutes

คำเตือนของพระโพธิสัตว์กับเรื่องการฆ่าตัวตาย และเรื่องราวของการเตรียมตัวตาย

อัตวินิบาตกรรม (อัต-ตะ-วิ-นิ-บาด-ตะ-กำ) คำว่า อัต แปลว่า ตัวเอง วินิบาต แปลว่า การทำลาย การฆ่า ดังนั้น อัตวินิบาตกรรม ก็คือ การฆ่าตัวตาย เป็นการกระทำให้ตนเองถึงแก่ความตายอย่างตั้งใจ

ผู้เขียนอยู่ๆ สนใจเรื่องนี้ขึ้นมา เหตุเพราะได้เขียนเรื่องย่อ ประวัติพระถังซัมจั๋ง หรือ พระเสวียนจั้ง บุคคลที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์จริง ที่ติดใจ คือ พระอาจารย์ของพระถังซัมจั๋ง พระอาจารย์ศีลภัทร ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย !!

  • มหาวิทยาลัยนาลันทา ในยุคนั้น มีภิกษุสงฆ์ทั้งในและต่างประเทศกว่า 10,000 รูป ล้วนศึกษาในลัทธิมหายาน มีอาจารย์อยู่ราว 1,500 มีภิกษุสงฆ์ที่มีความรู้ในพระสูตรต่างๆ ถึง 20 หมวด มีประมาณ 1,000 รูป ที่รู้ 30 หมวด มีประมาณ 500 รูป และที่รู้ 50 หมวด มีเพียง 10 รูปรวมทั้งพระถังซัมจั๋ง มีเพียงพระอาจารย์ศีลภัทรผู้เดียวเท่านั้นที่มีความรู้ทั้งหมด ท่านจึงเป็นผู้ทรงธรรมและสูงอายุ

พระอาจารย์ศีลภัทร ตอนนั้นท่านมีอายุมากๆ แล้ว ในหนังสือกล่าวว่า ท่านมีอาการปวดตามข้อกระดูกนิ้ว กระดูกขาเหมือนถูกไฟลวก มีดแทง เป็นๆ หายๆ มีอาการเจ็บป่วยมาราวๆ 20 ปี แล้วอาการเริ่มมากำเริบหนักอยู่ 3 ปี จนท่านเบื่อหน่ายต่อสังขาร และคิดจะไม่บริโภคอาหารเพื่อจะทำ อัตวินิบาตกรรม

หลังจากที่ได้อ่านเรื่องนี้ครั้งแรก เกิดมีความคิดโผล่ขึ้นมาว่า พระอาจารย์ที่เก่งที่สุด รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ยังคิดที่จะทำอัตวินิบาตกรรม แล้วฆราวาสล่ะ จะทำยังไง หลังจากพินิจพิเคราะห์ดู เกิดอีกมุมมองหนึ่ง คือ ท่านอาจจะไม่ยึดติดในกายนี้แล้ว และพร้อมที่จะละสังสาร

ในสมัยอดีตกาล มีพระภิกษุสงฆ์ที่ฆ่าตัวตาย คือ พระฉันทะ และพระโคธิกะเถระ ท่านทั้งสองมีเหตุและปัจจัยคล้ายๆ กัน คือ อาพาธอย่างหนัก แต่พระพุทธเจ้ามิได้ตำหนิ เหตุเนื่องจากจิตของท่านทั้งสองได้ถอนตัณหาหมดแล้ว คือ ท่านทั้งสองได้ใช้เวทนามาเป็นอารมณ์กรรมฐาน จนบรรลุพระอรหันต์ในขณะที่ปลิดชีวิต หากแต่กรณีที่ภิกษุจิตยังประกอบไปด้วยอกุศล ฆ่าตัวเอง พยายามฆ่า จงใจฆ่าผู้อื่น แสวงหาเครื่องมือเพื่อจะให้เกิดการฆ่า หรือชักชวนผู้อื่นฆ่าตัวตาย พระพุทธเจ้าทรงติเตียน

อัตวินิบาตกรรม

คำเตือนของพระโพธิสัตว์

กลับมาที่ท่านอาจารย์ศีลภัทร เมื่อมีความคิดที่จะทำ อัตวินิบาตกรรม คืนนั้นท่านได้ฝันถึงเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอวโลกิตเตศวรโพธิสัตว์ พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระอารยเมตไตรยโพธิสัตว์

พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้มีวรรณะเหลืองอร่ามดังทองคำ กล่าวว่า “ท่านคิดจะละสังขารนี้หรือ ในพระคัมภีร์กล่าวว่า ร่างกายย่อมมีทุกข์ แต่มิได้กล่าวว่า ให้เบื่อหน่ายถึงกับละทิ้งเสียด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรม ในอดีตชาติของท่านเคยเป็นพระราชา ได้ก่อกรรมไว้มาก ด้วยการเบียดเบียนสัตว์ ผลนั้นจึงตามสนองท่าน บัดนี้ท่านควรพิจารณาถึงกรรมวิบากแต่หนหลัง อดทนต่อความทุกข์ด้วยขันติ หมั่นบำเพ็ญการเผยแผ่พระสัทธรรม ไม่ช้าโรคนั้นก็จะบรรเทาเบาบางลง หากเบื่อโลกฆ่าตัวตาย กรรมก็คงไม่ได้ชดใช้”

“เราคือมัญชุศรีโพธิสัตว์ เห็นท่านเตรียมละสังขารอันมิใช่เพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์ จึงมาห้ามปราม บัดนี้ท่านจงเชื่อฟังคำแนะนำของเรา เผยแผ่สัทธรรม นำโยคาจารภูมิศาสตร์เป็นต้น อาการอาพาธของท่านก็จะค่อยๆ หายไปเอง อีก 3 ปี ให้หลังจะมีพระเถระชาวจีนเดินทางมาศึกษากับท่าน ท่านพึงสั่งสอนเขาเถิด

ที่มา หนังสือบันทึกประวัติ พระถังซัมจั๋ง , หนังสือ ภาพประวัติ พระถังซัมจัง

ภาพจาก How Xuanzang Became the Most Famous Chinese in Indian History – The Real Journey to the West 2 (End)

บทสรุปของพระอาจารย์ศีลภัทรคือ หลังจากที่ฝันวันนั้น อาการของท่านก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอีก 3 ปีให้หลัง พระถังซัมจั๋งได้เดินทางมามหาวิทยาลัยนาลันทาและได้ศึกษาคัมภีร์จากท่าน


การฆ่าตัวตายเป็นบาป ?

ในทางพุทธศาสนาการกระทำที่เรียกว่า ผิดศีลข้อ 1 ปาณาติบาต นั้น ประกอบไปด้วย 5 ประการคือ

  1. สัตว์นั้นมีชีวิต
  2. รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
  3. ผู้ฆ่ามีเจตนาฆ่า
  4. มีความพยายามฆ่า
  5. ตายด้วยความพยายาม

ผลของการกระทำนั้นมีโทษไม่เท่ากัน แต่ไม่ว่าจะหนักหรือเบา จะบาปมากหรือบาปน้อย ก็เป็นบาปเหมือนกัน การฆ่าตัวตายนั้นก็เข้าข่ายการผิดศีลข้อที่หนึ่ง เพราะเกิดจากองค์ประกอบทั้ง 5 แต่เราต้องเข้าใจว่าว่า การฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นกรรมที่หนักที่สุด ในพุทธศาสนา บาปหนัก หรือ อนันตริยกรรม คือ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า และยุงยงให้สงฆ์แตกแยก

ศาสนาคริสต์ มองว่าการฆ่าตัวตาย ก็คือการฆ่าคน ส่วนศาสนาอิสลาม การฆ่าตัวตายก็เป็นสิ่งที่ต้องห้าม ดังนั้นขึ้นชื่อว่า การ “ฆ่า” โดยเจตนา ไม่ว่าศาสนาไหนก็สอนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ

อัตวินิบาตกรรม

อนาลโยวาท

ในอนาลโยวาท เรื่องการเดินจงกรม ของหลวงปู่ขาว อนาลโย นั้น ท่านเล่าว่า การทำสมาธิภาวนานั้น บางที ทำยังไงมันก็แข็ง ๆ อยู่อย่างนั้น ทำสมาธิไม่ลง ทำยังไงก็ไม่ลง ทำไป ๆ มันไม่สงบ บอกมันว่า เจ้าเป็นผีนรกวิ่งขึ้นจากอเวจี จึงแข็งกระด้างเพราะไฟเผา ไล่ให้มันลงไปจมอเวจีอีก อย่าให้มันขึ้นมาอีก ให้อเวจีเผาต้มมันอีก ด่าอีก แล้วก็ลงนอน พอเช้ามาก็ไปถ่ายโถนล้างกระโถน ปฏิบัติท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์ลุกขึ้นมาว่า

“ท่านขาว คนเป็นประเสริฐอยู่ มาด่าตนเฮ็ดหยัง ให้ลงนรกอเวจียังไงนี่ ประจานตนนี่ ท่านประกอบกิจอยู่อย่างนี้แล้ว หนักเข้าละฆ่าตัวตายหนา ครั้นฆ่าคนตายแล้วนับชาติไม่ได้หนา ที่ฆ่ากันอยู่นี่ ไม่มีพ้นทุกข์แล้ว ความที่โกรธนี่ หนักเข้า ๆ ก็เลยฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายแล้วก็ห้าร้อยชาติไปเที่ยวเอาภพเอาชาติ ทำเวรผูกเวรกัน ฆ่าตัวตายอย่างนั้นแหละ อย่าไปทำอีกเทียว ตนบริสุทธิ์ อย่าไปท้าตนอย่างนั้นอย่างนี้”

ท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ใครนึกอย่างใด ทำอย่างใด ท่านรู้ม๊ด ท่านก็อยู่กุฏิโน่นแน่ะ

นี่แค่หลวงปู่ขาว อนาลโย นึกโกรธตัวเอง แต่หลวงปู่มั่นท่านกลับมาเตือนให้ระวังเรื่องความโกรธ ซึ่งเป็นเหตุแห่งการฆ่าตัวตายได้ อุปมาเหมือนเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมไม่จบไม่สิ้น


ปลงสังขาร/เตรียมตัวตาย

มีอีกคำหนึ่งที่ต่างออกไป คือ คำว่า “ปลงสังขาร” ท่านพุทธทาสภิกขุ เล่าเรื่องเกี่ยวกับ วิธีเตรียมตัวตายของคนครั้งพุทธกาล ว่า ผู้ที่เขาถือศีลสมาทานวัตรกันอยู่ประจำ การอดข้าวย่อมไม่มีปัญหาอะไรเพราะวันอุโบสถก็อดข้าวเย็นอยู่แล้ว ทีนี้พอโรคภัยไข้เจ็บมาถึง ซึ่งเขาเชื่อแน่ว่าไม่เกินสิบวันจะต้องตายอย่างนี้ เขาเตรียมที่จะไม่กินอาหาร ที่เขาพยายามหลีกอาหารนี้ เพื่อที่จะมีจิตใจที่เป็นปรกติที่สุด เพราะเมื่อร่างกายชำรุดอย่างนี้แล้วมันไม่ย่อยอาหาร ขืนใส่เข้าไปก็เป็นพิษ จึงกินแค่น้ำ หรือยา หรือถ้าใกล้เข้าไปอีก แม้แต่น้ำก็ไม่อยากกิน ยาก็ไม่ยอมกิน เพื่อจะสำรวมสติสัมปชัญญะ ที่จะตายชนิดที่ดับไม่เหลือ


เขาไม่ต้องการหมอ ไม่ต้องการฉีดยา ประวิงเวลาให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้อย่างนี้ ซึ่งเป็นการรบกวนอย่างยิ่ง
การทำเช่นนี้ เรียกว่า “ปลงสังขาร” คือ ปลงตัวตนลงไปอีกครั้งหนึ่งที่เกี่ยวกับร่างกาย
เขาเรียกว่า “ปลงสังขาร” ยังไม่ทันตายนี้แหละ เขาเตรียมที่จะแตกทำลายทางกายให้ดีที่สุด ในทางจิตก็น้อมไปเพื่อดับไม่เหลือ

ที่มา : หนังสือแก่นพุทธศาสตร์
อัตวินิบาตกรรม

อินเดีย # รอความตาย

เมืองพาราณสี เป็นเมืองพิเศษที่ไม่เหมือนที่ใดในอินเดีย แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าเองก็มิได้มาประกาศพุทธศาสนาให้มั่นคงที่เมืองนี้ พาราณสี คือ อดีตเมืองหลวงของแคว้นกาสี เป็นนครที่มีอายุเก่าแก่ถึง 4000 ปี การละวาง การสละทิ้งร่างและไม่เกิดใหม่อีกครั้ง คือ หลุดพ้นจากวัฏจักรสงสาร ในทางฮินดู นี้ คือ โมกษะ และจะบรรลุได้ก็เฉพาะในเมืองพาราณสีเท่านั้น

ภาพจากรายการ Spirit of Asia : พาราณสี เสน่ห์พันปีไม่มีเลือน (18 มี.ค. 61)

มีคลิปหนึ่งที่ได้สัมภาษณ์ผู้ดูแลโรงแรม Mukti Bhavan คือ คุณ Bhairavnath โรงแรมแห่งนี้ ก่อตั้งมาประมาณ 60 ปี ปัจจุบันมีทั้งหมด 10 ห้อง มีบริการประกอบพิธีกรรมให้ทั้งหมด เช่น การสวดมนต์ทุกสองชั่วโมง น้ำศักดิ์สิทธิ์และมีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เขาเล่าว่า ในขณะที่ผู้มารอความตาย เขาพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทุกรูปแบบและในทุก ๆ ด้านเพื่อให้แน่ใจว่าการตายนั้นจะไม่ทรมาน หากมีการตายเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ทางโรงแรมจะปิด เพื่อนำศพออกจากโรงแรม ที่โรงแรมนี้ให้บริการประมาณ 15,000 คนแล้ว

Mukti Bhavan: A Guesthouse For The Dying | 101 Heartland | Unique Stories From India

คุณ Bhairavnath ได้เล่าให้ฟังว่า เขาจำความตายแต่ละครั้งได้ เพราะทั้งหมดนี้เกิดขึ้นต่อหน้าเขา หลังจากเห็นผู้เสียชีวิตหลายพันคน เขาสามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อไหร่ที่ใกล้จะถึงเวลาตายของคน ด้วยความเมตตาของเทพเจ้า เค้าสามารถรู้สึกได้ถึงความตาย สามารถทำนายเวลาและชั่วโมงแห่งความตายได้

“หากมีคนบอกว่า พวกเขากำลังจะตายในอีกไม่กี่ชั่วโมง พวกเขาก็จะทุกข์ใจ พวกเขาจะสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวของพวกเขา แต่ถ้าบอกเขาว่า เขาจะตายในอีกหนึ่งชั่วโมง เขาก็จะหมดกังวล”

นี่คือบุคคลที่ไม่สะทกสะท้านกับความตาย การรอความตายนับเป็นเรื่องราวที่เราอาจจะไม่พบเจอในสังคมไทย


ตายแล้วไปไหน

ผู้เขียนเคยเล่าในตอนที่เขียนเรื่อง สวดมนต์แปล ทำวัตรเช้า เย็น ของสวนโมกข์ ว่ารู้จักกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านฝึกสมาธิจนมีฤทธิ์ ท่านมรณภาพมาได้หลายปีแล้ว อยู่ๆ วันหนึ่ง มีลูกศิษย์ท่านหนึ่งขณะนั่งสมาธิ เกิดมีกระแสจิตของพระอาจารย์เข้ามาหา ลูกศิษย์ท่านนั้น ถามว่า ตอนนี้พระอาจารย์อยู่ที่ไหน ท่านตอบในกระแสจิตสั้นๆ ว่า “ปฏิบัติธรรมอยู่ ยังใช้กรรมไม่หมด” พอได้ฟังแล้ว เกิดสะท้อนใจขึ้นมาว่า โลกไม่ได้สวยอย่างที่คิด ตัวเราเองยังประมาทในชีวิตอยู่ และต่อให้ใครที่คิดจะหนีอะไรสักอย่าง และหนี ไปด้วยวิธีการใดก็ตามในวันนี้ เราก็ยังหนีไม่พ้นกฎแห่งกรรมอยู่ดี

เราแค่ดับทุกข์เก่า และอาจจะไปเจอกับทุกข์ใหม่ที่สาหัสกว่าเดิม ใครจะรู้ได้ว่าตายแล้วจะไปไหน เพราะฉะนั้นอย่าได้สนใจ อย่าอาลัยกับอดีตและอย่ากังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อย่าคิดจะฆ่าตัวตายเลย ถึงอย่างไรก็ต้องตายอยู่แล้ว ไม่ต้องไปฆ่ามันหรอก

บุคคลไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ด้วยอาลัย  
และไม่ควรพึงพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  
สิ่งเป็นอดีตก็ละไปแล้ว  
สิ่งเป็นอนาคตก็ยังไม่มา 
ผู้ใดเห็นธรรมอันเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ 
อย่างแจ่มแจ้ง 
ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน  
เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้
ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้  
ใครจะรู้ความตาย แม้พรุ่งนี้  
เพราะการผัดเพี้ยนต่อมัจจุราชซึ่งมีเสนามาก 
ย่อมไม่มีสำหรับเรา
มุนีผู้สงบ ย่อมกล่าวเรียก 
ผู้มีความเพียรอยู่เช่นนั้น   
ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน ว่า   
"ผู้เป็นอยู่แม้เพียงราตรีเดียว ก็น่าชม"