ศัพท์ธรรมะ ภาษาอังกฤษ # OMG เมื่อฝรั่งเป็นเจ้าหนู “ทำไม”
เมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้พาเพื่อนชาวต่างชาติที่มา buisness trip เที่ยวเมืองไทย เธอชื่อแอนนี่ สาววัย 25 จากประเทศรัสเซีย นี่เป็นครั้งแรกที่เธอได้เดินทางมาเอเชีย จึงไม่แปลกที่เธอจะตื่นเต้นกับทุกสิ่งที่พบเห็น แม้แต่เรื่องที่พวกเราชาวไทยเห็นเป็นเรื่องปกติ อย่างผู้หญิงนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์แบบหันข้าง หรือการกางร่มกันแดด ก็กลายเป็นเรื่องแปลกตาสำหรับแอนนี่
แอนนี่เป็นคนที่ “ไม่ศรัทธา” ในศาสนาใดๆ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวบางส่วนของเธอในแง่มุมที่เธอสนใจเกี่ยวกับพุทธศาสนา
วัดจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการพาฝรั่งเที่ยว ศัพท์ธรรมะภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนใช้นี้อาจจะเป็นภาษาพื้นๆ เพราะเป็นการพาเที่ยวแบบไม่ได้ตั้งตัว อีกวันพาแอนนี่ไปเที่ยวที่อยุธยา เธอดูตื่นเต้นกับสองข้างทาง ทั้งทุ่งนา ร้านอาหาร แสงแดดเปรี้ยงๆ และบรรยากาศแบบเมืองเก่
วันแรกผู้เขียนพาแอนนี่เที่ยววัดในกรุงเทพ – วัดภูเขาทอง เธอชอบวัดนี้มาก รับรู้ถึงความสงบ ถัดมาเป็นวัดพระแก้วที่แอนนี่ถึงกับร้อง “Wow! So beautiful!” และวัดโพธิ์ที่เธอประทับใจกับความอลังการของพระนอน และปิดท้ายด้วยวัดอรุณ
สิ่งแรกที่เธอถามเมื่อเข้าวัดคือ “นั่นอะไรวางอยู่ตรงแท่น?” ผู้เขียนเห็นพวงมาลัยจึงตอบด้วยความมั่นใจว่า “garland flower” แอนนี่ทำหน้างงใส่ ทำให้นึกถึงตอนที่แอนนี่เห็นชมพู่ครั้งแรกแล้วผู้เขียนบอกว่ามันคือ “Rose apple” เธอก็ทำหน้างงๆ ว่ามีแอปเปิ้ลหน้าตาแบบนี้ด้วยเหรอ
กลับมาเรื่องพวงมาลัย เอาใหม่.. ตอบให้เคลียร์อีกทีเป็น “the art of flower arrangement, we bring this flower to pay respect to the Buddha” แอนนี่ทำหน้าเข้าใจทันที
นอกจากพวงมาลัยก็มี ธูป (incense/joss stick) เทียน (candle) กล่องรับบริจาค (donation box) และที่แอนนี่สงสัยเป็นพิเศษคือจุดที่มีน้ำมันตะเกียง เธอสงสัยว่าไฟตรงนี้แตกต่างยังไงกับไฟที่เราจุดเทียนเป็นแท่งๆ คำตอบง่ายๆ คือเป็นไฟที่เราใช้จุดธูป นี่จึงเป็นเหตุที่เรา ทำบุญ (Make a merit/to do the good thing) เติมน้ำมันตะเกียงที่วัด ก็เพราะตะเกียงนี้ไว้ให้ทุกคนได้ใช้จุดธูป ไฟเองก็เป็นสัญลักษณ์ของแสงสว่างดัง ปัญญา (wisdom, insight) ที่เกิดขึ้นในจิต
การถวายดอกไม้ ถวายข้าวพระพุทธ ถวายน้ำ แก่พระพุทธรูป เป็นหนึ่งในอุบายธรรม ให้เราได้แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน |
Wisdom – ปัญญา
เมื่อพูดคำว่า Wisdom (ปัญญา) แอนนี่ดูเข้าใจความหมายในระดับหนึ่ง ผู้เขียนจึงอธิบายเพิ่มเติมคร่าวๆ พร้อมๆ กับเปิด google ช่วย ว่าปัญญาในทางพุทธศาสนา คือ การมองเห็นตามความเป็นจริงของธรรมชาติ อันได้แก่ อนิจจัง อนิจจัง (impermanence) ความไม่เที่ยง ทุกขัง (state of suffering) อนัตตา (state of being not self) คือความไม่มีตัวตน คำว่า “ธรรม” มีความหมายนัยหนึ่งว่า “ธรรมชาติ” ในขณะที่คำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระธรรม (Dhamma) หรือ The Buddha’s teachings
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ (Enlightenment) คือ รู้แจ้งได้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งความรู้นี้มีเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนสาวก (disciple) นั้น ไม่ได้ตรัสรู้ แต่เป็นการนำสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้ คือ อริยสัจ 4 (Four Noble Truths) อันได้ แก่ ทุกข์ (Suffering) เหตุให้เกิดทุกข์ (The cause of suffering) ความดับทุกข์ (The end of suffering) และ ทางแห่งการดับทุกข์ (The path) นั้นมาเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อทำให้จิตหลุดพ้นซึ่งกิเลส และเข้าอยู่สภาวะ “นิพพาน (Nirvana) “ ชาวพุทธดั้งเดิมใช้คำว่าโพธิ (bodhi) ซึ่งแปลว่า ตื่น (awakened) คำว่าพระพุทธเจ้ามาจากโพธิและหมายถึง “ผู้ตื่น (The awakened one) ” การรู้แจ้งคือการตื่นรู้ความจริงที่มีอยู่แล้ว แต่เรามองไม่เห็นสิ่งนั้น
ที่วัดภูเขาทอง แอนนี่สังเกตุเห็นรูปหล่อของสมเด็จโตที่อยู่ด้านหน้าพระประธาน จึงถามว่าคือใคร ? ผู้เขียนตอบว่า the monk (พระสงฆ์) แอนนี่ถามต่อว่า special monk ? ผู้เขียนจนแต้ม เปิด google หา ศัพท์ธรรมะ คำว่า “พระอริยสงฆ์” แล้วไม่เจอคำที่ใช่ จึงอธิบายว่า the monk who achieved enlightenment เป็นพระสงฆ์ที่บรรลุในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน คำถามต่อมาเหมือนกับเดาใจได้ว่าต้องถามต่อ คือ บรรลุยังไงเหรอ ?
Stop rebirth หยุดการเกิดใหม่
เป็นที่น่าสังเกตุว่าฝรั่ง มักคิดว่า การนั่งสมาธิ คือ พุทธศาสนา ผู้เขียนจึงขอเปลี่ยนเรื่องก่อนโดยวาดภาพให้เห็นง่าย ๆ ว่า คนเราประกอบไปด้วยกาย (body) และดวงจิต (mind) เมื่อไหร่ที่เราตายไป ก็จะเหลือแต่ดวงจิต ซึ่งดวงจิตนั้นไปได้ 3 ทางคือ นรก สวรรค์ หรือกลับสู่โลกมนุษย์ ซึ่งอาจจะเป็นหมา แมว หรืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่คนก็ได้ ขึ้นอยู่กับบุญ (merit) และบาป (sin) โดยอาจจะมีเรื่องของกรรม (Karma) หรือ what goes around come around (ทำอะไรก็ได้แบบนั้น) เข้ามาเป็นปัจจัย และดวงจิตของเราก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด
สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นหา คือ ทำยังอย่างไรถึงจะหนีจากวัฏสงสาร (cycle of birth and death) นี้ได้ ก็คือตรรกะดีๆ นั่นเอง คือ
ถ้าไม่อยากตาย ก็ไม่ต้องเกิด นั่นคือการหักโซ่แห่งวัฏสงสาร ด้วยการ หยุดการเกิดใหม่ (stop re-birth)
อ่านเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท
Let oneself on : ปล่อยวาง
เมื่อไม่เกิดก็ถือว่าหลุดพ้น ถือว่า achieved enlightenment เป็นอิสระ อยู่เหนือสุขและทุกข์ คำว่า rebirth ทำให้แอนนี่นึกถึงย้อนไปตอนสมัยเรียน เธอบอกว่าทำไมไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนนะ หรือว่าอาจจะลืมไปแล้ว
กลับมาที่คำถามของแอนนี่ว่าต้องทำยังไง ? ตอนนั้นคิดจะตอบว่า “มรรค 8 (Noble Eightfold Path) “ แต่คิดว่าแค่อธิบาย ศัพท์ธรรมะ อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องขยายความ จึงสรุปสั้นๆ ว่าให้ “ปล่อยวาง (Let oneself on)” หรือ อย่าไปยึดติดกับอะไรเพราะเหตุที่เราสุขหรือทุกข์นั้นก็เพราะเราไปยึดติดกับมัน (root cause of suffering is attachment) แต่ไม่ใช่แบบ Let it go อย่างในการ์ตูนเรื่อง FROZEN เจ้าหญิงหิมะนะ นั่นมันอารมณ์แบบว่า ปลดปล่อย ช่างหัวมัน ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างที่เป็น แต่ปล่อยวางของพุทธ คือ มันต้อง สงบ สบาย มีอิสระ และเดินทางสายกลาง (The Middle Way)
Mindfulness : สติ
วิธีฝึกปล่อยวาง ก็คือ ใช้สติ (mindfulness) และสมาธิ (concentration) แอนนี่ดูสนใจเรื่องสติเป็นพิเศษ เพราะเธอเรียนจบทางด้านจิตวิทยา จริงๆ เป็นเรื่องที่คนหลายๆ คนก็หลงทาง รวมถึงผู้เขียนด้วยในช่วงแรกๆ เพราะคิดว่าต้องทำสมาธิอย่างเดียว การฝึกสตินั้น ช่วยให้เราเข้าถึงการวิปัสสนา คนส่วนใหญ่นั่งสมาธิ ต้องคิดว่าต้องนั่งนิ่ง จิตนิ่ง บังคับจิตได้ แท้จริงแล้วพอมันดิ่ง นิ่ง มันจึงไม่เห็นไตรลักษณ์ ดังที่หลวงพ่อพุธ ท่านกล่าวว่า
ธรรมชาติของความรู้สึกนึกคิดย่อมมีเกิด มีดับ เมื่อผู้ภาวนาทำสติตามรู้ความคิดอยู่อย่างนั้น หนักๆเข้าจิตก็จะรู้ความเกิด ความดับ ..อะไรเกิด อะไรดับ ก็คือความคิดนั่นเอง จิตเป็นผู้เกิด จิตเป็นผู้ดับ ในเมื่อสติตามรู้ทันความเกิดดับของจิต จิตก็จะเกิดปัญญาขึ้นมา มีความรู้ มีความสำคัญมั่นหมายในสภาวะที่เกิดดับ-เกิดดับนั้นด้วยอนิจสัญญา
พอมันรู้ว่าไม่มีอะไรเที่ยง ก็ไม่ต้องไปยึด เมื่อไม่ยึด (Non-attachment) ก็พ้นทุกข์ เมื่อพ้นแล้วก็ไม่ต้องเกิดใหม่ ! (stop rebirth)
ผู้เขียนถามแอนนี่ว่า เคยดูหนังเรื่องกังฟูแพนด้าน ภาค 2 มั้ย (ขอสปอยล์เนื้อหานิดนึง) ตอนที่ “โพ” สู้กับจอมวายร้าย ลอร์ดเชน ช่วงใกล้จบ โพยืนอยู่บนเรือกลางน้ำ ตั้งสติ นิ่ง สงบและมั่นคง แล้วใช้พลังในความสงบที่เรียกว่า ” Inner peace …” เพื่อเบี่ยงกระสุนที่ลอร์ดเชนยิงเข้ามาด้วยปืนใหญ่ แต่พอเป็นซับไตเทิลภาษาไทย ผู้แปลใช้คำว่า “จิตปล่อยวาง” ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่า มันใช่มาก !
Assumption : สิ่งสมมติ
ช่วงที่พาแอนนี่ไปวัดพระแก้วนั้น เป็นช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ผู้คนมหาศาลต่อแถวยาวจนถึงกำแพงวัดพระแก้ว การเดินเที่ยววัดพระแก้วจึงเหนื่อยมากกว่าเดิมเป็นพิเศษ มุมมองของฝรั่งเธอรู้สึกทึ่งและแปลกใจที่เห็นคนไทยรักและเคารพในหลวงมากขนาดนี้
ตอนแรกที่เล่าให้เธอฟังว่า วันที่คนไทยรู้ข่าวการสวรรคต กรุงเทพฯ แทบจะหยุดนิ่งไปทั้งเมือง เธอไม่ค่อยเชื่อ แต่พอได้เห็นกับตาตัวเอง เธอก็เริ่มเข้าใจ ระหว่างล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้เขียนเห็นเธอมองป้ายสีดำเป็นแนวยาวเลียบแม่น้ำ เธออ่านเบาๆ ว่า “In Remembrance of our beloved King”
แอนนี่เล่าเรื่องส่วนตัวให้ฟังว่า ตอนเด็กๆ ครอบครัวของเธอฐานะไม่ดี ชีวิตลำบาก เธอเห็นแม่ไปโบสถ์แต่เธอกลับไม่รู้สึก “ศรัทธา” เหมือนแม่ เธอถามว่าที่คนไทยสร้างวัดใหญ่โตมากมายเพราะความศรัทธาใช่ไหม ผู้เขียนตอบว่า “ใช่” แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป มันคือ สิ่งสมมติ (assumption) ตรงไหนล่ะวัด ? นั่นก็โบสถ์ นั่นก็ศาลา เมื่อเอามารวม ๆกัน ก็สมมติ เรียกว่า “วัด”
ผู้เขียนบอกแอนนี่ว่า แม้แต่คนไทยเองก็ยังไม่รู้เลยว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร แต่คนไทยเชื่อเรื่องบุญ และการทำบุญว่าทำแล้วชีวิตจะดีขึ้น บางอย่างก็ไม่ใช่พุทธแท้นะ ก็เลยเล่นมุขตลกๆ ไปว่า คนไทย multicultural มากนะ ศรัทธาหลายอย่าง ดูอย่างวันวาเลนไทน์สิ เราเอามาจากศาสนาคริสต์ แล้วเราก็ไปขอพรกับพระตรีมูรติ ซึ่งเป็นศาสนาฮินดู อย่าว่าแต่คนไทยเลย แม้แต่คนอินเดียที่เคยทำงานด้วย เค้าก็หยุดวันคริสต์มาสด้วยนะ
Chanting : สวดมนต์
ขากลับพาแอนนี่มาส่งที่โรงแรมเราแวะวัดปทุมวนารามที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เธอบอกว่าแม้วัดจะอยู่ติดห้าง แต่กลับรู้สึกสงบจนน่าแปลกใจ เมื่อเข้าไปในวิหาร ผู้เขียนจึงสอนให้แอนนี่นั่งสมาธิ เธอดูเก้ๆ กังๆ เอาขาทับกันไม่ได้ เธอเห็นผู้หญิงคนหนึ่งสวดมนต์ (Pray) อยู่ จึงถามว่า เค้าอ่านอะไร แล้วกระดาษอะไร ผู้เขียนอธิบายว่า เป็นคำสวดมนต์ และถามต่อไปว่าทำไมถึงต้องสวด นึกว่าแค่กราบ (prostrate) ก็พอ!
ที่วัดนี้เอง ทำให้แอนนี่ต้องเขียนโพสต์ใน Facebook ว่าเป็น unique experience ประสบการณ์ที่เธอคงไม่เคยได้เจอมาก่อน คือ ระหว่างที่เดินชมวัดช่วงเย็น ผู้เขียนเห็นศาลาร่มรื่นมีต้นไม้เยอะ จึงพาแอนนี่เดินเข้าไป บังเอิญเป็นเวลาทำวัตรเย็นพอดี ผู้เขียนเองก็ไม่รู้มาก่อน พวกเราหยุดชะงัก และจังหวะนั้นเมื่อหันไปดูแอนนี่ เธอตะลึง อึ้งกับภาพที่เห็น คือ พระหลายรูปกำลังสวดมนต์ (chanting) เสียงสวดมนต์จริง และคนนั่งสวดมนต์อย่างเป็นระเบียบ เจ้าหน้าที่เห็นเราจึงพยักหน้าประมาณว่าเข้ามาเลย จังหวะนั้นพอดีกับช่วงที่จะนั่งสมาธิ แอนนี่จึงได้ร่วมนั่งสมาธิสั้นๆ การเที่ยววันแรกจึงจบลงด้วยความประทับใจ
วันที่สอง เราพาแอนนี่ออกนอกเมืองไปอยุธยา เนื่องจากผู้เขียนไม่คุ้นเส้นทาง จึงขอให้เพื่อนช่วยขับรถพาเที่ยว ก่อนไปเราแวะกินเข้าที่ร้านอาหารที่เป็นเรือนไทยแห่งหนึ่ง เธอถึงกับร้อง “Wow!” และบอกว่าเหมือนในหนังหรือโปสการ์ดที่เคยเห็น วันนี้แอนนี่ได้เห็นพระนอนอีกครั้ง เธอบอกว่า “chill out” ผู้เขียนจึงอธิบายว่าไม่ใช่ นี่คือปางปรินิพพาน ที่อยุธยานักท่องเที่ยวต่างชาติค่อนข้างเยอะ แอนนี่น่าจะเหนื่อยกับการเที่ยวเมื่อวาน และอากาศที่ร้อนจัด วันนี้เธอเลยไม่ถามอะไรมาก
Until the next time
สิ่งที่อธิบายให้แอนนี่เข้าใจยากที่สุดคือเรื่อง ความเชื่อ เช่นตอนที่บริษัทจัดงานไหว้ศาลพระภูมิ (spirit house) ประจำปี คำถามที่ไม่อยากจะตอบคือ “วิญญาณกินหัวหมูได้ด้วยเหรอ” อ่านะ…
แอนนี่เล่าว่าที่บ้านเธอนั้นมีแต่หมูแช่แข็ง เธอจึงตื่นตาตื่นใจกับมุมของสดในห้างบิ๊กซีมาก เธอช่างสังเกตว่า ผลไม้หลายๆ อย่างจัดวางอยู่ตรงกลาง แต่ทำไมแอบเปิ้ลกับเชอรี่ ถึงจัด package ดูดี แถวบ้านเธอเดินเตะเชอรี่ทุกวัน และสิ่งที่เธอไม่ค่อยชอบอีกอย่างคือ เวลาไปกินเลี้ยง เรามักสั่งอาหารมาเยอะๆ บางทีกินไม่หมดเหลือเต็มโต๊ะ เธอบอกว่า เสียดายทรัพยากร
เธอบอกว่าอยากไปเที่ยวพม่า หลายปีผ่านไปตอนติดต่อกันครั้งสุดท้าย เธออยู่ที่เวียดนาม เธอบอกว่าวัดที่ไทยสวยกว่ามาก อาหารไทยก็อร่อยกว่า ถึงตอนนี้ผู้เขียนไม่รู้ว่าเธอจะจำสิ่งที่ผู้เขียนเคยอธิบายได้หรือไม่ แต่ผู้เขียนหวังว่าเมื่อใดที่เธอพบเจอความทุกข์ ขอให้บุญที่เธอได้มากราบไหว้พระ นั่งสมาธิ และสวดมนต์เย็น จงช่วยให้เธอได้ระลึกถึง พระธรรม ของพุทธองค์ (The Buddha’s teachings)