พระพุทธรูป พุทธศิลป์ ในต่างแดน

พระพุทธรูป พุทธศิลป์ ในต่างแดน

พาชมศิลปะ ความงามของ พระพุทธรูป พุทธศิลป์ ในต่างแดน พร้อมทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

Time reading :: 7 minutes

หลังจากที่ผู้เขียนได้เล่าเรื่องพุทธศิลป์ของพระอวโลกิเตศวรและกวนอิมโพธิสัตว์ไปแล้ว คราวนี้ผู้เขียนอยากชวนคุณมารู้จักกับ “พระพุทธรูป” ในประเทศต่างๆ กันบ้าง โดยจะเล่าแบบสั้นๆ ไม่ลงลึกในรายละเอียดทางประวัติศาสตร์มากนัก เพื่อให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน

พระพุทธรูป เริ่มต้นมาจากไหน ?

เรื่องนี้ย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล เมื่อพระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า หากพระองค์ไม่ประทับอยู่แล้ว พวกเราจะพึ่งพาอะไรได้บ้าง พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าให้ไปยังสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง อันได้แก่ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน) สถานที่ตรัสรู้ (พุทธคยา) สถานที่แสดงปฐมเทศนา (พาราณสี) และสถานที่ปรินิพพาน (กุสินารา)

ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในยุคแรกจึงนิยมเก็บดิน น้ำ หรือใบโพธิ์จากสถานที่เหล่านั้นมาบูชา แทนที่จะสร้างรูปเหมือนพระพุทธเจ้า เพราะเกรงว่าหากสร้างแล้วไม่เหมือนองค์จริงจะเป็นบาป จึงนิยมใช้สัญลักษณ์แทน

Namobuddh
ธรรมจักรและกวางหมอบเป็นรูปเคารพในพุทธศาสนาเชิงสัญลักษณ์แทนปางปฐมเทศนา สถานที่วัด Namobuddha ประเทศเนปาล

พระพุทธรูปองค์แรกเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้ามิลินท์ เรียกว่าแบบคันธารราฐ หรือคันธาระ มีลักษณะคล้ายเทวรูปกรีก หน้าตาเป็นแบบชาวตะวันตก เรื่องนี้มีที่มาจากพระเจ้ากนิษกะ ซึ่งทรงทราบว่าชาวโยนก (กรีก) สร้างรูปเทวดาบูชา พระองค์จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อสักการบูชาเช่นกัน จากนั้นประเทศอื่นๆ ก็เริ่มสร้างตามแบบอย่าง และพัฒนารูปแบบไปตามจินตนาการของช่างในแต่ละยุคสมัย

หลักการสร้างพระพุทธรูปนั้น ต้องมีตำราเทียบเคียง คือ สร้างตามลักษณะพระรูปกายของพระพุทธเจ้า  หรือตามแบบมหาบุรุษลักษณะ ๓๒

ปากีสถาน

ที่ปากีสถาน เราได้พบกับจุดเริ่มต้นของพระพุทธรูปในรูปแบบศิลปะคันธาระ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกรีกอย่างเห็นได้ชัด พระพุทธรูปเหล่านี้มีความสมจริงและละเอียดอ่อน บางองค์แสดงพระพุทธเจ้าในฐานะพระโพธิสัตว์ ประดับด้วยเครื่องทรงอันวิจิตร ก่อนที่พระองค์จะสละราชสมบัติ บางองค์มีพระเกศาเป็นลอนหยัก ทรงจีวรคล้ายเสื้อคลุมโรมัน ทำให้นึกถึงรูปปั้นกรีกและโรมันโบราณ

พระพุทธรูป พุทธศิลป์ ในต่างแดน
รูปปั้นคันธาระ เศียรพระโพธิสัตว์ ที่มาของรูป wikimedia commons
รูปปั้นคันธาระ พุทธรูปยืน สมัย Kushan
รูปปั้นคันธาระ พุทธรูปยืน สมัย Kushan ศตวรรษที่ 1–2 ปากีสถาน ที่มาของรูป wikimedia commons

ในช่วงเวลานั้น พุทธศาสนาในแถบปากีสถานและอัฟกานิสถานรุ่งเรื่องอย่างมาก พระถังซัมจั๋งได้บันทึกไว้ว่า ดินแดนแห่งนี้อุดมไปด้วยพระพุทธรูปศิลปะคันธาระ มีพิพิธภัณฑ์และแหล่งโบราณคดีทางพุทธศาสนามากมาย ท่านได้เยี่ยมชมสถูปหลายแห่ง พบว่ามีอารามเก่าแก่กว่า 1,400 แห่ง และพระสงฆ์ถึง 18,000 รูป

พระถังซัมจั๋ง
เส้นทางที่พระถังซัมจั๋งเดินทาง ได้แก่ พรมแดนของประเทศ คีร์กีซสถาน (Kyrgyzstan) -> คาซัคสถาน (Kazakhstan) -> อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) -> อัฟกานิสถาน Afghanistan -> ปากีสถาน Pakistan

อัฟกานิสถาน

อีกหนึ่งพระพุทธรูปที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ พระพุทธรูปแห่งบามิยัน ในอัฟกานิสถาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์คุปตะของอินเดีย พระถังซัมจั๋งได้บันทึกไว้ว่า พระพุทธรูปนั้นเปล่งประกายด้วยทองคำอร่าม และมีพระสงฆ์กว่า 1,000 รูปอาศัยอยู่บริเวณนั้น

ในปี ค.ศ. 1221 เจงกีสข่านได้รุกรานหุบเขาบามิยัน กวาดล้างประชากรทั้งหมด แต่ไม่ได้ทำลายพระพุทธรูป ต่อมา จักรพรรดิโมกุลแห่งออรังเซ็บพยายามทำลายพระพุทธรูปด้วยปืนใหญ่ แต่ไม่สำเร็จ เวลาผ่านไป สภาพองค์พระพุทธรูปค่อยๆ ชำรุดทรุดโทรม สูญเสียพระพักตร์ไป จนกระทั่งในที่สุด กลุ่มตาลีบันได้ทำลายพระพุทธรูปลงอย่างสิ้นเชิงในเดือนมีนาคม 2544 ทิ้งไว้เพียงความทรงจำและบทเรียนทางประวัติศาสตร์

พระพุทธรูปบามิยัน
พระพุทธรูปบามิยัน รูปจาก phs aparthistory

อินเดีย

พระพุทธรูปในยุคแรกของอินเดียมีลักษณะพระพักตร์คล้ายคนอินเดีย พระเกศาเรียบไม่มีขมวด ต่อมาในยุคคุปตะ (ราว พ.ศ. 863-1093) เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปที่มีพระเกศาขมวดเป็นก้นหอย จีวรเป็นริ้วบางแนบสนิทกับพระวรกาย ถือเป็นยุคทองของการสร้างพระพุทธรูปที่ได้สัดส่วนงดงามที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย หลังจากยุคนี้ ศิลปินส่วนใหญ่หันไปสร้างเทวรูปในศาสนาฮินดูและศาสนาเชนมากขึ้น

พระพุทธรูปยืน สมัยคุปตะ
พระพุทธรูปยืน สมัยคุปตะ (ภาพขยายพระพักตร์) ที่พิพิธภัณฑ์มถุรา อินเดีย ที่มาของรูป Wikipedia

ถ้ำอชันตา-เอโลรา จึงหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาเฟื่องฟู และความเสื่อมสลายของแต่ละศาสนาในอินเดีย โดยกลุ่มถ้ำทางทิศใต้เป็นของพุทธศาสนา ถัดมาเป็นกลุ่มถ้ำฮินดู และทางเหนือสุดเป็นกลุ่มถ้ำศาสนาเชน

ถ้ำอชันตา-เอโลรา
ถ้ำที่ 26 แกะสลักภาพปรินิพพาน

ที่พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีวัดมหาโพธิซึ่งเป็นวัดพุทธที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง พระประธานในวัดเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เรียกว่า “พระพุทธเมตตา” สร้างด้วยหินสีดำ และปิดทองทั้งองค์ พระหัตถ์ขวาชี้ลงสู่พื้นดิน เพื่อให้พระแม่ธรณีเป็นพยานในการตรัสรู้ พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในปลายสมัยคุปตะหรือต้นสมัยปาละ (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13) และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนารูปแบบพระพุทธรูปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา

พระพุทธเมตตา
พระพุทธเมตตา ณ พุทธคยา

ทิเบต และ เนปาล

ก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามา ชาวทิเบตนับถือลัทธิบอน (Bon) ซึ่งเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจและจิตวิญญาณในธรรมชาติ เมื่อพุทธศาสนาเข้ามา ศิลปะทิเบตได้ผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับหลักธรรมทางพุทธศาสนา โดยใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เช่น สี ท่าทาง การแต่งกาย และวัตถุมงคล เพื่อสื่อความหมายทางจิตวิญญาณ

ผลงานศิลปะที่โดดเด่นที่สุดของทิเบตคือ ภาพวาดทังกา ซึ่งเป็นจิตรกรรมที่มีความหมายลึกซึ้ง มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติธรรมบรรลุการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ

หากพูดถึงทิเบต เรามักจะนึกถึงวัดโจคัง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระโจโวศากยมุนี Jowo Shakyamuni หรือ โจโวรินโปเช Jowo Rinpoche (Rinpoche หมายถึง “ผู้มีค่า” ในภาษาทิเบต) พระพุทธรูปองค์นี้สูงประมาณ 3 เมตร ประทับนั่งบนบัลลังก์ทองคำ ทรงเครื่องประดับอันวิจิตร มีตำนานเล่าว่าแกะสลักโดยพระวิศวกรรม Vishwakarma เทพแห่งช่างฝีมือ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้สร้างพระแก้วมรกตในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

พระวิษณุกรรม หรือ พระวิศวกรรม เป็นเทพที่ช่างไทยแขนงต่าง ๆ ให้ความเคารพบูชาพระวิศวกรรมในฐานะครูช่าง หรือเทพแห่งวิศวกรรมของไทย โดยเรามักพบเห็นรูปจำลององค์ท่านได้บ่อย ๆ ตามสถานศึกษาทางช่างทุกสถาบัน
พระพุทธรูป พุทธศิลป์ ในต่างแดน
ทิเบต – วัดโจคัง พระประธาน รูปภาพจาก ziyi

พระโจโวศากยมุนีมีประวัติที่น่าสนใจ เจ้าหญิงเหวินเฉิง พระราชนัดดาของจักรพรรดิถังไท่จง ได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้จากจีนมายังทิเบต เมื่อครั้งเสด็จมาอภิเษกสมรสกับกษัตริย์ทิเบต พระเจ้าซรอนซันกัมโป เป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างจีนและทิเบต

ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งเนปาล เจ้าหญิงภริกุฏี พระมเหสีอีกพระองค์ของพระเจ้าซรอนซันกัมโป ก็ได้นำพระพุทธรูปจากเนปาลมาเป็นส่วนหนึ่งของสินสอดในการอภิเษกสมรสเช่นกัน ศิลปะเนปาลมีอิทธิพลอย่างมากต่อศิลปะของจีนและทิเบต โดยทั้งสองประเทศได้นำเข้างานศิลปะและเชิญศิลปินจากเนปาลมาประดับตกแต่งวัดและอารามของตน

พุทธศาสนาในทิเบตมีความคล้ายคลึงกับเนปาลในหลายด้าน แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเนื่องจากอิทธิพลของพุทธศาสนาตันตระ ซึ่งผสมผสานหลักปฏิบัติพิเศษเข้ากับพุทธศาสนาดั้งเดิม ทำให้พุทธศาสนาในทิเบตมีความลึกลับและซับซ้อนมากกว่าในดินแดนอื่น

พระพุทธรูปใน สวยัมภูนาถ
เนปาล – พระพุทธรูปใน สวยัมภูนาถ ประเทศเนปาล วัดตั้งอยู่บนยอดเขาในหุบเขากาฐมาณฑุ รูปภาพจาก Claudio

จีน

พุทธศิลป์โบราณในประเทศจีนส่วนใหญ่ปรากฏในรูปแบบของพระพุทธรูปแกะสลักในถ้ำ ซึ่งเป็นงานปฏิมากรรมที่น่าทึ่ง ล้ำค่า และน่าอัศจรรย์ยิ่ง

  • ถ้ำหลงเหมิน

ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำยี่ทางตอนใต้ของเมืองหลวงโบราณของลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ประกอบด้วยถ้ำและโพรงมากกว่า 2,300 แห่งที่แกะสลักไว้บนหน้าผาหินปูนสูงชันยาว 1 กม. ประกอบด้วยรูปปั้นหินเกือบ 110,000 องค์ พระเจดีย์มากกว่า 60 องค์ งานประติมากรรมในถ้ำแห่งนี้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลา 150 ปี ประติมากรรมขนาดยักษ์ในถ้ำ Fengxiansi ที่รังสรรค์ โดยศิลปินจากภูมิภาคต่างๆ รูปแบบศิลปะประติมากรรม ได้แก่ “สไตล์จีนตอนกลาง” และ “รูปแบบราชวงค์ถัง” มีอิทธิพลอย่างมากในประเทศและทั่วโลก และมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาศิลปะประติมากรรมในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

พระไวโรจนะ
พระไวโรจนะ
เนื่องจากการสร้างพระพุทธรูปนั้นเกิดจากจิตนาการและความเชื่อผสมกับศิลปะในแต่ละท้องที่ นอกจากพระพุทธรูปที่เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันคือ พระศากยมุนี แล้วนั้น หากเราไปยังพื้นที่ที่นับถือพุทธศาสนามหายาน เราจะเจอว่า มีการสร้างพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆอยู่ด้วย โดยเฉพาะพระไวโรจนพุทธะ พุทธศาสนามหายานเชื่อว่าพระพุทธเจ้านั้นมีจำนวนมหาศาล องค์พระผู้กำเนิดแห่งพระพุทธเจ้าทั้งมวลนั้น คือ พระอาทิพุทธะ

พระไวโรจนพุทธะ (Vairocana Buddha) เป็นพระธยานิพุทธะ 1 ใน 5 องค์ ของนิกายวัชรยาน ทรงเป็นประธานของพระพุทธะทั้ง 5 หมายถึงปัญญาอันสูงสุด ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Dainichi Nyorai (“Great Sun Buddha”)
  • ถ้ำหยุนกัง เมืองต้าถง มณฑลซานซี

ตั้งอยู่ในเมืองต้าถง มณฑลซานซี ประกอบด้วยถ้ำ 252 ถ้ำและรูปปั้นกว่า 51,000 รูป มีชื่อเสียงด้านวัดถ้ำที่แกะสลักอย่างวิจิตรงดงามและประติมากรรมหลากสี พระพุทธรูปองค์ใหญ่สูงประมาณ 13 เมตร มีลักษณะเด่นคือ พระพักตร์อวบอิ่ม พระศออ้วน พระเนตรยาว พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้มยิ้มเล็กน้อย และพระอังสาผึ่งผาย

พระพุทธรูปในถ้ำหยุนกัง
พระพุทธรูปในถ้ำหยุนกัง
  • พระใหญ่เล่อซาน

ถือเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก แกะสลักจากเนินเขาในศตวรรษที่ 8 องค์พระแกะสลักอย่างประณีต ทุกส่วนของพระวรกายมีสัดส่วนสมมาตรเหมือนมนุษย์จริง ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบคุปตะของอินเดีย พระพักตร์อิ่มเอิบ เปี่ยมด้วยพระเมตตา

พระใหญ่เล่อซาน
พระใหญ่เล่อซาน
  • ผาหินแกะสลักแห่งต๋าจู๋ Dàzú Shíkè

เป็นมรดกโลกตั้งอยู่ในเขตนครฉงชิ่ง โดดเด่นด้วยพระพุทธรูปที่เน้นความสมจริง ความประณีต อ่อนช้อย พริ้วไหว และการแต่งแต้มสีสันอย่างวิจิตร นอกจากพุทธศิลป์แล้ว ยังมีงานแกะสลักที่เกี่ยวข้องกับลัทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมและความเชื่อของจีนอย่างลงตัว

Dazu Rock Carvings
Dazu Rock Carvings สร้างตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึง13 ภาพโดย Angel Lahoz

ญี่ปุ่น

พระพุทธศาสนาเดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 6 แม้ว่าเดิมทีศาสนาพื้นเมืองของญี่ปุ่นคือศาสนาชินโต แต่ปัจจุบันพุทธศาสนาและศาสนาชินโตได้หลอมรวมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปสักการะ พระใหญ่ไดบุทสึ ณ เมืองคามาคุระ และพระใหญ่ ณ วัดโทไดจิ เมืองนารา สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความแตกต่างของพระใหญ่ทั้งสองแห่งนี้ ผู้เขียนขอแนะนำให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.silpa-mag.com/history/article_53234

วัดโทไดจิ ได้รับการบันทึกว่าเป็นอาคารไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งเป็นปฏิมากรรมแทนองค์พระไวโรจนพุทธเจ้า มีตำนานเล่าขานกันว่าพระใหญ่ของวัดโทไดจิสร้างขึ้นตามแบบอย่างพระพุทธรูปในเมืองลั่วหยาง ประเทศจีน

พระไดบุตสึในเมืองนารา
พระไดบุตสึในเมืองนารา Tōdai-ji เป็นรูปของพระพุทธเจ้าไวโรจนะ ภาพจาก SG

ส่วนวัดโคโตกุอิน ในเมืองคามาคุระ เป็นที่ประดิษฐานของพระใหญ่ไดบุทสึ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปอมิตาภพุทธเจ้า หล่อด้วยสำริดตั้งตระหง่านกลางแจ้ง กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์อันโด่งดังของญี่ปุ่น พระพุทธรูปองค์นี้มีความสูง 13.35 เมตร นับเป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของญี่ปุ่น รองจากพระพุทธรูปในวัดโทไดจิ

พระไดบุตสึในเมืองคามาคุระ
พระไดบุตสึในเมืองคามาคุระ เป็นรูปของพระอมิตาภะ องค์พระข้างในกลวงสามารถเดินเข้าไปด้านในได้ ภาพจาก Henry Andrew

ไดบุตสึ (Daibutsu) หรือ “พระใหญ่” เป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่น มักใช้อย่างไม่เป็นทางการสำหรับพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่เก่าแก่ที่สุดคือที่อาซูกะ-เดระ (ค.ศ. 609) และที่รู้จักกันดีที่สุดคือที่โทไดจิ ในจังหวัดนาระ
พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ศรีศากยมุนี
พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ศรีศากยมุนี  พระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น วัดอาซูกะ-เดระ หรือ วัดอาสุกะ(Asukadera Temple)  ภาพจาก fabianp

นอกเหนือจากพระพุทธรูปเก่าแก่แล้ว ญี่ปุ่นยังมีพระพุทธรูปร่วมสมัยที่สร้างความประทับใจไม่แพ้กัน หนึ่งในนั้นคือ “เนินแห่งพระพุทธเจ้า” (Hill of the Buddha) ณ สุสาน Makomanai Takino เดิมทีพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งมานานกว่าสิบปี แต่ต่อมาสถาปนิกชื่อดังของญี่ปุ่นได้ออกแบบปรับปรุงสถานที่ใหม่ ให้เหลือเพียงพระเศียรโผล่พ้นพื้นดิน สร้างความรู้สึกลึกลับและน่าค้นหา พระพุทธรูป Atama Daibutsu (The Buddha’s Head) แห่งนี้จึงโดดเด่นด้วยความซ่อนเร้น เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นเพียงพระเศียรเท่านั้น นับเป็นภาพที่แปลกตาและสร้างสรรค์ ทำให้สถานที่แห่งนี้เปี่ยมด้วยเสน่ห์และกลมกลืนกับธรรมชาติโดยรอบอย่างน่าทึ่ง

เนินแห่งพระพุทธเจ้า
พระ Atama Daibutsu ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก ในช่วงฤดูหนาวจะเห็นหิมะขาวโพลนอยู่บนพระเศียร ภาพจาก Tim Tram
เนินแห่งพระพุทธเจ้า
มุมมองจากด้านใน ภาพจาก Mike W

พม่า

พระพุทธรูปพม่าในยุคแรกได้รับอิทธิพลจากอินเดียและศรีลังกา โดยเฉพาะในศิลปะสมัยพุกามและปะไคน์ ที่นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ แนวคิดนี้มาจากทัศนคติที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงจำแลงพระองค์เป็นพระมหาจักรพรรดิเพื่อโปรดพระมหาชมพู ตามที่ปรากฏในมหาชมพูบดีสูตร

พระมหามัยมุนี
พระมหามัยมุนี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแห่งเมียนมา หรือพระเนื้อนิ่ม  เนื่องจากองค์พระถูกปิดทองหนาทับไปมาหลายชั้นเป็นเวลานานจนเนื้อมีลักษณะนุ่มยุ่ยไปทั้งองค์  และไม่สามารถมองเห็นลวดลายของศิลปะบนองค์พระได้ ภาพจาก Myanmar Private Holidays

ยุคทองของสถาปัตยกรรมพม่าคือสมัยพุกาม ซึ่งมีการสร้างวิหารและเจดีย์มากมายโดยกษัตริย์และชนชั้นสูง จนกลายเป็น “ทะเลเจดีย์” ที่มีมากกว่า 4,000 องค์ วัดในพุกามมักประดิษฐานพระพุทธรูป 4 ทิศ ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในอดีต 4 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคตมะ

พุทธศิลป์ วัด Abeyadana
พระพุทธรูป วัด Abeyadana Temple ภาพจาก Marco

ในสมัยมัณฑะเลย์ พระพุทธรูปมีลักษณะเด่นคือ มีความสมจริงคล้ายมนุษย์ พระเนตรมองตรง พระโอษฐ์สมจริง และมักประดับด้วยลวดลาย อัญมณี หรือกระจกสีที่กรอบพระพักตร์และขอบจีวร

พระพุทธรูป พุทธศิลป์ ในต่างแดน

ผู้เขียนเคยไปเที่ยวพม่า สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ในวัดบางแห่ง คนพม่านั่งปูเสื่อ กินข้าว มากันเป็นครอบครัว เหมือนมาปิคนิค จึงถามไกด์ว่า เค้ามีงานอะไรกันหรือเปล่า ไกด์ยิ้ม และตอบว่า คนพม่าชอบมาวัดกันเป็นปกติ คนพม่านั้นมีความศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ภาพที่ไปพม่าแล้วเห็นคนนั่งสมาธิสวดมนต์ โดยเฉพาะบนพระธาตุอินแขวนตอนกลางคืนท่ามกลางอากาศหนาวเย็นและลมแรง นับว่าเป็นแรงศรัทธาที่ผู้เขียนไม่พบเห็นมาก่อน

มองโกเลีย

ประชากรส่วนใหญ่ในมองโกเลีย นับถือพุทธนิกายวัชรยานแบบทิเบต ยุคทองของพุทธศาสนาในประเทศมองโกเลีย  ช่วงศตวรรษที่ 19 ประชากรผู้ชาย จำนวนถึงหนึ่งในสามของประเทศ บวชเป็นพระสงฆ์  ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา มีการนำคัมภีร์ทิเบตศักดิ์สิทธิ์เข้ามาในมองโกเลียจำนวนหลายแสนเล่ม เพื่อแปลเป็นภาษามองโกลหรือถวายให้แก่วัดต่างๆ

วัดที่ใหญ่ที่สุดคือ วัด  Gandan Monastery ในเมืองอูลานบาตอร์ แต่ถูกปิดไปเนื่องจากทหารโซเวียตได้สั่งทำลายวัดทั่วประเทศ รวมถึงฆ่าพระภิกษุสงฆ์กว่าสามหมื่นรูป หลังจากนั้นจึงได้บูรณะวัดขึ้นมาใหม่ ภายในวัดสิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือ รูปปั้นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ขนาดใหญ่ และรอบๆ นั้นจะมีพระพุทธรูปองค์เล็กวางอยู่อยู่ในตู้จำนวนมาก

มองโกเลีย วัด Gandan
พระพุทธรูปองค์เล็ก ในวัด Gandan ภาพจาก Tyler Kellen & Tara Alan

อินโดนีเซีย

“บุโรพุทโธ” เรียกได้ว่าเป็นมหาสถานของศาสนาพุทธ ที่นี่มีความยิ่งใหญ่อลังการเทียบเท่ากับนครวัด และเป็นสถานที่มีประวัติศาสตร์การก่อสร้างที่ยาวนาน ผู้เขียนจับเครื่องบินจากบาหลี ไปยังเมืองยอกจากาตาร์ ใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมง เพื่อมายังสถานที่แห่งนี้ โดยการออกแบบบุโรพุทโธนั้น หากมองจากภาพมุมสูง บุโรพุทโธมีลักษณะเป็น “Mandara” (แมนดาลา) ตามคติพุทธมาหายานและตันตระยาน ซึ่งป็นสัญลักษณ์ของ “จักรวาล” โดยพระเจดีย์องค์ใหญ่บนยอดสูงสุดนั้นแทนองค์ “พระอาทิพุทธเจ้า”

บุโรพุทโธ
ภาพมุมสูงของบุโรพุทโธ โครงสร้างแบบ manala ภาพจาก wikimedia
Mandala เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลสำหรับชาวพุทธและชาวฮินดู ส่วนใหญ่มีลวดลายหรือการออกแบบทางเรขาคณิตที่มีสีสันและมีรายละเอียด แมนดาราดั้งเดิมคือสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีวงกลม และการออกแบบนั้นต้องมีความสมมาตรและสมดุลเท่ากันทุกด้าน

วัดบุโรพุทโธมีพระพุทธรูป 504 สูญหายไป 43 องค์ และถูกทำลายไปมากกว่า 300 องค์ (ส่วนใหญ่เศียรถูกทำลาย) ลักษณะศิลปะที่โดดเด่นที่สุด คือ ความเรียบง่าย และผสมผสานระหว่างความสงบ อ่อนโยน ทำให้เห็นความงดงามของรูปปั้น ลักษณะทางกายภาพอีกประการหนึ่งคือจุดบนหน้าผากตรงระหว่างคิ้ว แม้ว่ารูปปั้นจะคล้ายคลึงกันแต่ก็มีปางต่างกัน

พระพุทธรูป พุทธศิลป์ ในต่างแดน

ผู้เขียนเดินไปชมยังแต่ละชั้นของบุโรพุทโธ จนกระทั่งถึงชั้นบนสุด มองเห็นทิวทัศน์โดยรอบ ภาพแกะสลักและรายละเอียดต่างๆหายไป กลายเป็นภาพเรขาคณิตแบบเรียบง่าย เปรียบเหมือนชั้นที่แสดงสัญลักษณ์ของการหลุดพ้น มันโล่ง กว้าง และจุดที่เป็นเจดีย์พระประธานตรงกลาง ไม่พบว่ามีพระพุทธรูปอยู่ แต่เจดีย์ที่อยู่รอบๆ เป็นวงกลม 3 ชั้น รวม 72 เจดีย์ สองชั้นแรกช่องในเจดีย์เป็นรูปเพชร ในขณะที่เจดีย์ชั้นสูงสุดเป็นรูปสี่เหลี่ยม

มีหนึ่งหรือสององค์ได้รับความเสียหายอย่างมาก ทำให้พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาแสดงธรรมแต่เดิมอยู่ภายในและบังเอิญปรากฏให้เห็น จึงเป็นจุดไฮไลท์สำคัญแห่งนี้

Vara Mudra
ปางประทานพร = วรทมุทรา (Varada Mudra) ทรงประทานพรให้หมอชีวกโกมารภัจจ์และพระอานนท์ให้เข้าเฝ้าเพื่อทูลปัญหาได้ทุกเวลา และให้นางวิสาขาถวายเครื่องอุปโภคแก่พระสงฆ์ได้
ภูมิสปรรศมุทรา
ปางมารวิชัย = ภูมิสปรรศมุทรา (Bhumisparsa Mudra) พระดัชนีชี้ไปที่ดิน ให้พระแม่ธรณีเป็นพยานถึงการตรัสรู้ ภาพจาก Oliver Davis
Dhyana Mudra
ปางสมาธิ = ธยานมุทรา (Dhyana Mudra) เป็นเหตุการณ์เมื่อทรงประทับบำเพ็ญสมาธิใต้ต้นโพธิ์ ภาพจาก Michael Hess
Abhaya Mudra
ปางประทานอภัย = อภยมุทรา (Abhaya Mudra) ภาพจาก https://nibbana.id/mudra-posisi-tangan-sang-buddha/
Vitarka Mudra
ปางแสดงธรรม = วิตรรกมุทรา (Vitarka Mudra) พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงพระธรรมคำสอนให้แก่พระสาวก หรือพุทธศาสนิกชนทั่วไป ภาพจาก Tempo Dulu
ปางปฐมเทศนา
ปางปฐมเทศนา = ธรรมจักรมุทรา (Dharmachakra Mudra) ทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ 

กัมพูชา

ปัจจุบันชาวกัมพูชากว่าร้อยละ 90 นับถือศาสนาพุทธ ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั้น เป็นยุคที่ศาสนาพุทธรุ่งเรือง มีพุทธศาสนสถานมากมาย และสถานที่ที่รู้จักกันทั่วโลกคือ ปราสาทบายน โดยมีรูปสลักที่ลักษณะพิเศษคือ พระพักตร์ยิ้ม พระเนตรปิดเหลือบลงต่ำ และนิยมเรียกกันว่า “ยิ้ม แบบบายน” ในยุคที่ปกครองโดยเขมรแดง ศาสนาถือเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมาย เขมรแดงจึงทำลายวัด พระพุทธรูป และเผาทำลายคัมภีร์ทางศาสนา

ประเทศไทยเรารับศิลปะของเขมรมาในสมัยนครวัด เช่น พระพุทธรูปนาคปรก รวมถึงการปราสาทต่างๆ เช่น ปราสาทหินพิมาย และบางแห่งช่างฝีมือไทยก็เป็นคนสร้างขึ้นมาเช่น เขาพระวิหาร

หากใครเคยไปเที่ยวนครวัด น่าจะเคยเห็นเทวรูปของพระวิษณุ เนื่องจากนครวัดนั้นสร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ แต่หลังจากนั้น นครวัดก็ได้ปรับเปลี่ยนจากเทวสถานกลายเป็นศาสนสถาน

     

พระพุทธในหอคอยบากัน
พระพุทธในหอคอยบากัน ที่กำลังทำการบูรณะ ภาพจาก phnompenhpost
พระพุทธในหอคอยบากัน
พระพุทธในหอคอยบากัน ที่กำลังทำการบูรณะ ภาพจาก tourismcambodia.com

สถานที่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง นั่นคือพระบรมหาราชวัง อารมณ์เหมือนกับเดินในพระบรมมหาราชวังของเรานั่นเอง ที่นี่มีวัดเจดีย์เงิน (วัดพระแก้ว) ซึ่งมีพระแก้วมรกต โดยตั้งใจจะจำลองให้เหมือนพระแก้วมรกตที่ในกรุงเทพฯ และหล่อขึ้นจากแก้วคริสตัลสีเขียวจากฝรั่งเศส  ทำให้มีพุทธลักษณะที่ต่างออกไปจากพระแก้วมรกตที่อยู่ในไทย

พระแก้วมรกตกัมพูชา
พระแก้วมรกต กัมพูชา ภาพจาก wikipedia

ลาว

ปิดท้าย พุทธศิลป์ ในต่างแดน กันที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ศิลปะของลาวนั้นโดดเด่น และสะท้อนถึงสถาปัตยกรรมล้านช้างได้เป็นอย่างดี พระพุทธรูปของลาวที่ประดิษฐานอยู่ในเมืองไทย อาทิ พระเสริม และพระแสน ในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร

สถาปัตยกรรมล้านช้าง
พระเสริม (องค์ใหญ่) และ พระแสน (องค์เล็ก) ภายในพระวิหารวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ภาพจาก wikiwand

นอกจากพระพุทธรูปเก่าแก่ งดงามแล้ว ผู้เขียนยังชื่มชอบในความมีเอกลักษณ์ของรูปปั้นของลาว กล่าวได้ว่า แม้จะไม่ได้สัดส่วนสวยงาม แต่ก็มีความหมายนัยสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะท้องถิ่นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะพระพักตร์ที่มีลักษณะแบบพื้นบ้าน

วัดพู
วัดพู
วัดเขมรศตวรรษที่ 10 ทางตอนใต้ของลาว เป็นมรดกโลก วัดพูเป็นวัดที่อุทิศให้กับพระอิศวรซึ่งเป็นหนึ่งในเทพเจ้าในศาสนาฮินดูตรีมูรติ ในศตวรรษที่ 13 ได้มีการดัดแปลงเป็นวัดพุทธ ทุกวันนี้วัดก็ยังเป็นสถานที่สักการะของชาวพุทธในท้องถิ่น ภาพจาก Andreas Simon
วัดพระหนองปลาผา
พระพุทธรูปเก่าแก่ วัดพระหนองปลาผา ภาพจาก Stefan Magdalinski

พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของลาว คือ พระบาง ซึ่งถ้าพูดถึงพระบางแล้ว ก็ต้องมีเรื่องราวของพระแก้วมรกต ด้วย พระบางนั้นเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ที่แต่เดิมกษัตริย์ลังกาส่งมาถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินเขมร ต่อมาได้นำมาพระราชทานให้แก่พระเจ้าฟ้างุ้ม พระบางได้อัญเชิญมาประดิษฐานในไทย 2 ครั้ง และได้อัญเชิญกลับสู่ลานช้าง ในสมัย ร.1 และ ร.4 เหตุเพราะเชื่อว่า ผีรักษาพระบางและพระแก้ว ไม่ถูกกัน

พระบาง องค์จำลอง
พระบาง (องค์จำลอง) ภาพจาก wiki

เรื่องราวการสร้างของพระแก้วมรกต และพระบางนั้น แหล่งข้อมูลจะเป็น “ตำนาน” มากกว่า ผู้เขียนจึงขอยก คำบอกเล่าของหลวงปู่มั่น เรื่องประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกต มาเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม หลวงปู่มั่นกล่าวว่า พระแก้วมรกต (จริงๆ สร้างด้วยหยก) สร้างโดยพระจุลนาคเถระ เป็นชาวลังกา เป็นที่น่าสังเกตว่า ในตำนานของพระบาง ก็เขียนว่าสร้างโดยพระจุลนาคเถระเหมือนกัน และมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน 5 แห่ง คล้ายๆ กันด้วย

พระแก้วมรกต
พระแก้วมรกต วัดพระแก้ว ภาพจาก Lek Vatcharamed

หลวงปู่มั่นท่านเล่าในเชิงปาฏิหาริย์ว่า พระจุลนาคเถระไม่ได้ตั้งใจจะเอาแก้วมรกตมาหล่อ เพราะเป็นของหายาก บอกบุญตามแต่ศรัทธา จะเป็นแก้วอะไรก็ได้ ร้อนถึงพระอินทร์อยู่บนสวรรค์ มาอาสาเป็นช่างหล่อ และพระองค์มีแก้วอยู่ดวงหนึ่ง ขออนุโมทนาเป็นกุศลด้วย พระอินทร์ไม่ได้เป็นช่าง แต่ช่างคือเทพบุตรชื่อ วิษณุกรรม ส่วนแก้วก็ไม่ใช่ของพระอินทร์ แต่เป็นแก้วอยู่ในถ้ำจิตรกูฏหรืออินทสารนี้ละ ผู้เล่า (หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ) ไม่มั่นใจ ท่านใดสนใจก็อ่านเพิ่มเติมได้ที่ link นี้ หลวงปู่มั่น บอกเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระแก้วมรกต

พระแก้วมรกต เชียงราย
พระแก้วมระกต วัดพระแก้ว จ.เชียงราย เจ้าเมืองเชียงรายได้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเมืองกำแพงเพชร และนำมาซ่อนไว้ที่วัดป่าเยี้ยะ เพราะเกรงว่าจะตกอยู่ในมือของอริราชศัตรู จนกระทั่ง พ.ศ.1977 ฟ้าได้ผ่าเจดีย์ จึงได้ค้นพบพระแก้วมรกต

พระแก้วมรกตถูกอัญเชิญจากเมืองปาฏลีบุตร มายังลังกา ต่อมาเจ้าเมืองพุกามได้ส่งสมณฑูตไปขอพระแก้วมรกตจากเจ้าเมืองลังกา แต่ในขณะสำเภาที่บรรทุกได้พัดหลงไปเกยอยู่ที่อ่าวเมืองกัมพูชา หลังจากนั้นพระแก้วมรกตได้ถูกอันเชิญไปยังกรุงศรีอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ ลาว และกรุงรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ

ประเทศไทย

สิ่งที่หลวงปู่มั่น ท่านบอกกล่าวไว้อีกอย่างก็คือ

“พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลมีอยู่ในประเทศใด ประเทศนั้นจะไม่ฉิบหายด้วยภัยแห่งสงคราม”