พาหุง (คำแปล) – ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่
คำแปล บทสวดมนต์ “พาหุง” สั้นๆ ได้ใจความ แค่หนึ่งบรรทัดในแต่ละตอน
ผู้เขียนขอแนะนำหนังสือ “หลวงปู่จรัญกับเณรน้อยช่างคิด ตอน ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่” ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าถึง ประวัติความเป็นมาของคาถาและคำแปลของ บทสวดมนต์พาหุง โดย หลวงพ่อจรัญ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม)
หลวงพ่อจรัญ เล่าว่า ท่านได้พบกับสมเด็จพระนพรัตน์ วัดป่าแก้ว ในนิมิต และสมเด็จพระนพรัตน์ต้องการให้หลวงพ่อไป “วัดใหญ่ชัยมงคล” เพื่อดูจารึกถวายพระเกียรติแก่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนหลังหลวงพ่อได้พบว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่สมเด็จพระนพรัตน์ได้จารึกถวายพระพรก็คือ บทสวดมนต์ที่เรียกว่า “พาหุงมหาการุณิโก” ที่ท่านได้ถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไว้สวดเป็นประจำระหว่างอยู่ในพระบรมหาราชวัง หรือระหว่างออกศึกสงคราม
พาหุง เป็นชัยชนะอย่างสูงสุดของพระบรมศาสดา จากความไม่ดีของมารทั้ง 8 อันได้แก่ เทวดา (เทวปุตรมาร) ยักษ์ มนุษย์ พญานาค และพรหมผู้ที่สำคัญตนว่ามีฤทธิ์เหนือใคร โดย คำแปล จะแบ่งเป็น 8 บท ดังนี้
บทที่ 1 – เจ้าชายสิทธัตถะทรงผจญกับพญามารผู้มีฤทธิ์
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
คำแปล – เจ้าชายสิทธัตถะทรงผจญกับพญามารผู้มีฤทธิ์ สามารถเนรมิตแขนได้ตั้งหนึ่งพัน มีอาวุธครบมือ ขี่ช้างชื่อครีเมขละ พร้อมทั้งเสนามารมากมายทั่วสารทิศ น่าสะพรึงกลัวจนแผ่นดินแทบถล่มทลาย ทรงระลึกถึงพระบารมีทั้งสิบประการที่ทรงบำเพ็ญแล้ว ทำให้ไม่มีสิ่งใดจะสามารถทำร้ายพระองค์ได้ ทันใดนั้นเอง พระแม่ธรณีก็ปรากฏกายขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยาน โดยได้บิดเอาน้ำที่พระองค์ทรงกรวดลงสู่พื้นดินหลังสร้างทานบารมีมาจากมวยผม น้ำมีมากมายจนท่วมพัดพาเหล่ามารให้พินาศไป
บทที่ 2 – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับอาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตกระด้างหยาบช้า
มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
คำแปล – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับอาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตกระด้างหยาบช้า ให้พระราชาส่งมนุษย์มาให้กินเป็นอาหารจนสุดท้ายต้องส่งพระราชกุมารมาให้ พระพุทธองค์ทรงไปยับยั้ง โดยทรงขึ้นประทับบนบัลลังก์ของยักษ์ เจ้ายักษ์โกรธมากใช้ฤทธิ์เดชรุนแรงมากกว่าครั้งผจญกับพญามาร แต่ไม่สามารถทำร้ายพระพุทธองค์ได้จึงเปลี่ยนใจออกปากไล่ พระพุทธองค์ทรงเสร็จออกไปและเข้ามาอย่างว่าง่าย ทรงใช้ขันติคือความอดทน อดกลั้นทำตามเจ้ายักษ์ เมื่อเจ้ายักษ์คลายโกรธ ทรงตอบปัญหาจนยักษ์มีศรัทธาและได้ดวงตาเห็นธรรม
บทที่ 3 – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับพญาช้างชื่อนาฬาคีรีซึ่งกำลังตกมันดุร้าย
นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
คำแปล – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับพญาช้างชื่อนาฬาคีรีซึ่งกำลังตกมันดุร้าย จากการโดนทำร้ายและมึนเมาด้วยการวางแผนของพระเทวทัต แล้วปล่อยให้วิ่งไปในเส้นทางที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จบิณฑบาต หญิงนางหนึ่งตกใจหนีทิ้งลูกน้อยไว้อย่างขาดสติ ทารกน้อยร้องดังลั่น พญาช้างจึงปรี่เข้าไปหา ทันใดนั้น พระพุทธองค์ทรงแผ่เมตตา เป็นเหมือนน้ำรดลงกลางดวงใจที่เดือดดาลของพญาช้าง ทำให้ได้สติมีอาการสงบ เดินอย่างเชื่องช้าเข้ามาหมอบแทบเบื้องพระบาทของพระพุทธองค์
บทที่ 4 – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับโจรองคุลีมาลผู้ดุร้าย
อุกขิตตะขัคคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
คำแปล – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับโจรองคุลีมาลผู้ดุร้ายถือดาบไล่ฆ่ามนุษย์ แล้วตัดเอานิ้วมาร้อยเป็นพวงมาลัย ในเช้าวันนั้น จอมโจรองคุลีมาลเห็นหญิงชราก็หมายจะฆ่า เพราะเหลืออีกเพียงนิ้วเดียวก็จะครบพัน จึงไม่คิดว่าเป็นแม่ของตน พระพุทธองค์ทรงไปยับยั้ง เมื่อจอมโจรเห็นพระพุทธองค์จึงเปลี่ยนเป้าหมายถือดาบวิ่งไล่หมายจะฆ่าให้ตาย แม้วิ่งเร็วอย่างไรก็ตามไม่ทัน ได้แต่ร้องเรียกให้หยุดก่อน ทรงตรัสสอนให้เห็นบาปที่เขากระทำจนมหาโจรมีสติ จึงทิ้งดาบก้มลงกราบแทบเบื้องพระบาท และขอบวช ณ ที่นั้นเอง
บทที่ 5 – ชัยชนะต่อสตรีผู้กล่าวร้าย
กัตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฎฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
คำแปล – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับนางจิญจมาณวิกาผู้ซึ่งแกล้งทำว่าตั้งท้อง โดยผูกไม้ไว้ให้ท้องกลมโตสมจริง มายืนด่าว่าใส่ร้ายพระองค์ท่ามกลางพุทธบริษัทที่มาฟังพระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดง ไม่ว่านางจะกล่าวร้ายอย่างไร ก็ทรงสงบพระหฤทัย เป็นสง่าเฉยอยู่ ด้วยเดชานุภาพแห่งความบริสุทธิ์ เทพบุตรจึงต้องจำแลงเป็นหนูเข้าไปกัดผ้าที่ผูกท่อนไม้ให้ขาด ความจริงจึงปรากฏ ทำให้นางได้รับความอับอายและอดสู ถูกมหาชนขับไล่ พอพ้นประตูวัดนางก็ถูกแผ่นดินสูบลงสู่อเวจีมหานรกต่อไป
บทที่ 6 – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับนักบวชผู้หลงตน
สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
คำแปล พระพุทธเจ้าทรงผจญกับสัจจกนิครนถ์ผู้หลงตน โอ้อวดว่ามีความรู้มีปัญญามาก มุ่งมาโต้วาทะกับพระพุทธเองค์ พระองค์ทรงเอาคำพูดของสัจจกะย้อนกลับไปซักถามสัจจกะ จนสัจจกะนิ่งอึ้งจนปัญญาด้วยถ้อยคำของตน ทรงเปรียบคำพูดของสัจจกะว่า หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้เลย ทรงตรัสสอนให้มองเห็นความจริงของชีวิตว่าเป็นของว่างเปล่าอย่างไร จนสัจจกะมีความเลื่อมใสกล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์เป็นอันมาก
บทที่ 7 -พระพุทธเจ้าทรงผจญกับพญานาคราช ผู้มีฤทธิ์มาก
นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
คำแปล – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับพญานาคราชชื่อนัทโทปนันทะ ผู้มีฤทธิ์มาก เป็นอันธพาลมีความหลงผิดสำแดงฤทธิ์ทำร่างกายให้ใหญ่โตพันรอบเขาพระสุเมรุเจ็ดรอบ แผ่พังพานบดบังแสงพระอาทิตย์ เพื่อไม่ให้ทรงเสด็จไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ พระองค์ทรงโปรดให้พระโมคคัลลานะใช้ฤทธิ์ที่เหนือกว่าไปปราบจนพญานาคเกิดความเกรงกลัวเป็นอย่างยิ่ง จึงคลายความเห็นผิด นิรมิตกายเป็นมานพน้อย ก้มกราบแทบเท้าขอขมาพระโมคคัลลนะ ตั้งตนอยู่ในสัมมาทิฏฐิถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดไป
บทที่ 8 – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับพกาพรหม ผู้สำคัญตนว่ามีความบริสุทธิ์
ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทะพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
คำแปล – พระพุทธเจ้าทรงผจญกับพกาพรหม ผู้สำคัญตนว่ามีความบริสุทธิ์ มีฤทธิ์อำนาจเหนือใคร เห็นผิดว่าตนเป็นอมตะ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายอีกต่อไป จึงท้าประลองด้วยการหายตัว ให้พระพุทธองค์ทรงค้นหา แต่ไม่ว่าจะหายตัวไปที่ใดก็ทรงหาพบ เมื่อพระพุทธองค์หายไปบ้าง พกาพรหมค้นทั่วสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรก ก็หาไม่พบ ปรากฏแต่พระสุรเสียงเทศนา พกาพรหมจึงยอมแพ้และคลายความเห็นผิด ทรงเทศนาสอนจนพกาพรหมเห็นตามความเป็นจริงและเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นที่สุด
ไม่ใช่แค่พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้น ที่พบความมหัศจรรย์ของบทพาหุงมหากาแม้แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อตีเมืองจันทบุรีได้แล้ว ก็ทรงเห็นว่าสงครามกู้ชาติต่อจากนี้ไปจะต้องหนักหนาและยืดยาวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างยอดธงแบบศรีอยุธยาขึ้น แล้วนิมนต์พระเถระทั้งหลายมาสวดบทพาหุงมหากาบรรจุไว้ในองค์พระ และพระองค์ก็ทรงเจริญรอยตามพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยการเจริญพาหุงมหากา จึงทรงบันดาลกู้ชาติได้สำเร็ว
อ่านบทสวดมนต์ พาหุง และ คำแปล จากหนังสือ การ์ตูนธรรมะหลวงปู่จรัญกับเณรน้อยช่างคิด ตอน ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ คลิ๊กที่นี่ นอกจากนี้หนังสืออีกหนึ่งเล่ม ชื่อว่า “ชัยชนะแห่งพุทธะ” THE VICTORY OF LORD BUDDHA หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมความหมายของ บทสวดมนต์ พาหุง และ คำแปล แต่ละบทอย่างละเอียด ครอบคลุมครบถ้วนในด้านเนื้อหาพร้อมรูปภาพประกอบอย่างสวยงาม อ่านหนังสือ ชัยชนะแห่งพุทธะ คลิ๊กที่นี่ คลิปบทสวดพาหุง https://www.youtube.com/watch?v=doiOC8_qbqw |