พระเจ้าอโศกมหาราช

พระเจ้าอโศกมหาราช

กษัตริย์ผู้เป็นดั่งดวงดาว เจิดจรัสแสงท่ามกลางหมู่มวลกษัตริย์

ในประวัติศาสตร์ของโลก มีกษัตริย์และจักรพรรดิหลายพันพระองค์ที่ “ส่องแสงเพียงครู่เดียวแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว แต่ “พระเจ้าอโศกมหาราช” ส่องแสงเจิดจรัสเหมือนดาวจรัสแสงมาจนทุกวันนี้”

ประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นถูกบันทึกไว้หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์หลายศตวรรษ ดังนั้นเรื่องราวตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งพระเจ้าอโศกมหาราชหันมานับถือพุทธศาสนานั้น จึงไม่มีหลักฐานปรากฎชัดเจน

ยกตัวอย่างคำนิยมในหนังสือเรื่อง “พระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนูปถัมภกผู้ยิ่งใหญ่” ได้กล่าวไว้ว่า “เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นตำนานจึงปรากฎในคัมภีร์และพงศาวดารโบราณหลายเล่ม ซึ่งเนื้อความตรงกันบ้างต่างกันบ้าง เรื่องราวบางอย่างก็แปลกพิสดารอย่างน่าสนใจ ส.พลายน้อย จึงนำมาเล่าให้ฟังโดยสังเขปเพื่อผู้อ่านจะได้ความรู้เชิงเปรียบเทียบ เพราะยากจะยืนยันได้ว่าตำนานเล่มใดถูกต้อง”

พระเจ้าอโศกมหาราช

และแล้วก็เป็นจริงอย่างที่ผู้รู้ท่านบอก พอผู้เขียนได้อ่านประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราชจากหลายๆ แหล่งข้อมูลแล้ว ก็เริ่มรู้สึกสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูกเพราะเรื่องราวนั้นหลากหลาย และบางเรื่องก็เล่าได้แตกต่างกันมาก

ดังนั้นพระราชประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ผู้เขียนนำมาเรียบเรียงนี้ จึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องที่สุด หากแต่หยิบยกข้อมูลมาจากหนังสือหลายๆ เล่ม ซึ่งนักประพันธ์แต่ละท่านได้ทุ่มเทเวลาศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลของพระเจ้าอโศกมาแล้วไม่ใช่น้อย

ผู้เขียนเองก็ไม่ได้ปักใจเชื่อถึงความโหดร้ายสุดๆ ของพระเจ้าอโศก เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช ฆ่าพี่น้องไปร้อยคน ประหารชีวิตเสนาบดี 500 คน หรือ ตั้งใจจะจับพระภิกษุ 500 รูปถ่วงน้ำ หรือ ที่พรรณนาว่าพระเจ้าอโศกตอนวัยเยาว์ รูปร่างอ้วนเตี้ย หน้าตาอัปลักษณ์ (ดูได้จากภาพแอนิเมชันด้านล่าง) ซึ่งดูขัดกับบุญบารมีของพระเจ้าอโศกยิ่งนัก

Ashoka-Great_or_Terrible

นอกจากหนังสือที่ประพันธ์โดยคุณ ส.พลายน้อยแล้ว ยังมีหนังสืออีกเล่มที่ผู้เขียนหยิบมาอ่าน ชื่อว่า “คัมภีร์ ศรีศากยอโศก พระราชประวัติ จอมจักรพรรดิ อโศกมหาราช” ผู้ประพันธ์ ใช้นามปากกาว่า ศรีศากยอโศก”

เป็นการเล่าพระราชประวัติของพระเจ้าอโศกกึ่งธรรมนิยาย ประกอบกับเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ประพันธ์สามารถบรรยายให้เห็นภาพเหตุการณ์การสู้รบ สงคราม และสภาวะจิตใจของพระเจ้าอโศกมหาราชได้อย่างชัดแจ้ง และมีหลายจุดที่น่าสนใจและแตกต่างจากคัมภีร์อื่นๆ ซึ่งผู้เขียนสัมผัสได้ถึงความเลื่อมใสศรัทธาพระเจ้าอโศกมหาราชของคุณ “ศรีศากยอโศก” ราวกับบอกว่า นี่คือ “ตัวตนที่แท้จริง” ของพระเจ้าอโศกมหาราช

พระราชประวัติจอมจักรพรรดิอโศกมหาราช
สื่ออื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ พระเจ้าอโศกมหาราช

1. หนังสือจารึกอโศก – พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ฉบับงานรำลึกพระคุณ ม.ร.ว. สอางค์ เทวกุล ในวาระอายุครบร้อยปี พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2541

2. ภาพยนตร์เรื่อง อโศกมหาราช (Asoka)
ภาพยนตร์เรื่องนี้ กล่าวถึง “ดาบ” ซึ่งเป็นดาบอันชั่วร้ายที่ต้องการเลือดและการทำลายล้าง เรื่องราวจึงเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ในสงคราม การแย่งชิงบัลลังก์ และความรักของพระเจ้าอโศก

3. ละครโทรทัศน์ เรื่อง “อโศกมหาราช” (Chakravartin Ashoka Samrat) ออกฉายทางช่อง 13 Family
เรื่องราวตั้งแต่ความรักระหว่างพระเจ้าพินทุสาร และพระนางธรรมา ผู้เป็นพระบิดาและพระมารดาของพระเจ้าอโศก พระเจ้าอโศกในเยาว์วัย จนกระทั่งถึงสงครามนองเลือดครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้พระองค์หันหน้าเข้าสู่ทางธรรม (อ่าน :: เรื่องย่อ )

4. สารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้า EP.07 กองทัพธรรมของพระเจ้าอโศก
Ashoka_the_great

ราชวงศ์โมริยะ

ผู้เขียนขอเท้าความตั้งแต่เหตุการณ์ ที่พระเจ้าวิฑูฑภะ ยกกองทัพไปทำลายล้างพวกเจ้าศากยะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์จนเกือบจะสิ้นราชวงศ์

ศากยะวงศ์ที่รอดพ้นจากเงื้อมมือของพระเจ้าวิฑูฑภะไปได้นั้น ในตำราทางพุทธศาสนากล่าวว่าได้หนีไปตั้งหลักแหล่งใหม่แถบเทือกเขาหิมาลัย โดยตั้งชื่อเผ่าว่า “โมริยะ” หรือ “เมารยะ” (Maurya) ซึ่งแปลว่า ที่อยู่ของนกยูง เนื่องจากแถบที่อยู่นั้นเต็มไปด้วยนกยูง

จันทรคุปต์ กำเนิดในเผ่าโมริยะ จึงถือว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากพระพุทธเจ้า (ศากยะ) พระเจ้าอโศกมหาราชซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน จึงสืบเชื้อสายจากศากยะวงศ์เช่นเดียวกัน

ราชวงศ์หรยังกะ

ราชวงศ์สุสุนาค
ราชวงศ์นันทะ
ราชวงศ์โมริยะ

ช่วงปี พ.ศ 187-220 อินเดียถูกรุกรานจากกองทัพกรีก โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ เข้าตีแคว้นปัญจาบ และยึดเมืองต่างๆ ทางทิศเหนือ ณ เวลานั้นแค้วนมคธซึ่งมีพระเจ้านันทะปกครองอยู่ยังอยู่รอดปลอดภัย

หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์ จันทรคุปต์ ได้เป็นผู้นำกองทัพกู้ชาติขับไล่กรีกออกจากชมพูทวีปโดยมีจาณักยะ เสนาบดีของปาฏลิบุตรเป็นผู้ให้การสนับสนุนยึดเมืองปาฏลิบุตรจากพระเจ้านันทะ และสถาปนาราชวงศ์ “โมริยะ” พระเจ้าจันทรคุปต์ ผนวกดินแดนของอินเดีย และปกครองชมพูทวีปอย่างยิ่งใหญ่

จันทรคุปต์ แปลว่า “ผู้ซึ่งพระจันทร์คุ้มครอง”

พระราชประวัติของพระเจ้าจันทรคุปต์เองก็ดูสับสน กล่าวกันว่าก่อนที่พระองค์จะเป็นพระราชา เคยเป็นมหาโจรมาก่อน และคิดจะยึดครองเมืองมคธ วันหนึ่งได้ยินหญิงคนหนึ่งด่าลูกที่กินขนมเบื้องแล้วกัดกินตรงกลางก้อนตอนที่มันร้อนๆ อยู่ พอร้อน กินไม่ได้ ลูกนางก็คายขนมทิ้ง นางจึงด่าลูกว่า “ไอ้โง่ ไม่มีความคิดแทนที่จะค่อยๆ แทะจากขอบขนมเข้าไปก็จะได้กินทั้งหมด นี่โลภมากัดตรงกลางก่อน มึงต้องเป็นลูกของมหาโจรจันทคุปต์แน่ๆ เลย แทนที่จะค่อยๆ ตีเมืองเล็กเมืองน้อยก่อน นี่ดันโลภมากมาตีเมืองใหญ่เกินกำลัง ก็เลยแพ้ ” จอมโจรจันทรคุปต์ได้ยินจึงเกิดความคิด และวางแผนการตีเมืองมคธจนสำเร็จ

ราว พ.ศ 246 พระเจ้าพินทุสาร ขึ้นครองราชย์ (แย่งชิงราชสมบัติจากรัชทายาท คือ เจ้าชายสิงหเสน) พระเจ้าพินทุสาร มีมเหสีและพระโอรสหลายหลายพระองค์ ทรงแต่งตั้งเจ้าชายสุสิมะ เป็นรัชทายาท ในขณะเจ้าชายอโศก เกิดจากพระนาง “ศิริธรรมา” ซึ่งเป็นหนึ่งในพระสนมของพระเจ้าพินทุสาร

พระเจ้าจันทรคุปต์ – นับถือศาสนาเชน
พระเจ้าพินทุสาร – นับถือศาสนาพราหมณ์
แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่เมืองมคธ ก็ยังมีพุทธศาสนายังเป็นศูนย์กลางอยู่

พระราชประวัติ พระเจ้าอโศกมหาราช

พระเจ้าอโศกมหาราช ในวัยเยาว์

  • พระเจ้าอโศกมหาราช (Ashoka the Great) ประสูติ ณ เมืองปาฏลิบุตร
    • พระราชบิดา คือ พระเจ้าพินทุสาร (Bindusara)
    • พระราชมารดา คือ พระนางศิริธรรมา
    • พระอนุชา (น้องชาย) ชื่อ วีตโศก (ในตำราบาลี ชื่อ ติสสะ)
  • อโศก (Ashoka) แปลว่า ผู้ไม่มีความเศร้าหมอง the one who eliminates all the sorrows วีตโศก (Vithshoka) แปลว่า ผู้หมดสิ้นซึ่งความเศร้าหมอง (eliminator of sorrows)
  • เจ้าชายสุสิมะ มีศักดิ์เป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา มีตำแหน่งเป็นรัชทายาท เป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าพินทุสาร
  • อุปนิสัยของเจ้าชายอโศกในวัยเด็ก ในคัมภีร์กล่าวว่า เป็นคนชอบผจญภัย เป็นนักสู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องทักษะการใช้ดาบ นอกจากนี้ยังเก่งกาจในการล่าสัตว์ มีพี่น้องต่างมารดาหลายคน บางคัมภีร์กล่าวว่าในบรรดาโอรสของพระเจ้าพินทุสาร เจ้าชายอโศกมีอุปนิสัยใจคอที่โหดเหี้ยมที่สุด

อุปราชแห่งแคว้นอวันตี

  • เจ้าชายอโศก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชแห่งมคธ เมื่อพระชนมายุประมาณ 18 พรรษา พระองค์ถูกส่งจากเมืองปาฏลีบุตรไปยังเมืองอุเชเชนี แคว้นอวันตี เพื่อปราบจลาจล

  • ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า พระเจ้าพินทุสาร ไม่ได้รักใคร่เจ้าชายอโศกมาก เบื้องหลังที่ส่งเจ้าชายอโศกไปปราบจลาจลนี้ ก็เพื่อกำจัดเจ้าชายอโศก และเปิดทางให้แก่รัชทายาทเจ้าชายสุสิมะ ขึ้นครองบัลลังก์

  • กล่าวว่าพระเจ้าพินทุสารจัดหากองทัพให้ แต่ไม่มีอาวุธ หรือไม่ก็เป็นทหารฝึกใหม่ ที่ไม่ชำนาญด้านอาวุธ ทำให้พระองค์เสียเปรียบอย่างมาก แต่พระองค์ก็สามารถรวบรวมกองกำลังและสร้างกองทัพที่แข็งแกร่งได้

  • เมื่อยกทัพเข้าจู่โจมแคว้นอวันตี เจ้าชายอโศกไม่ทำร้ายทหารที่ยอมวางอาวุธ ทรงมีชัยต่อศึกครั้งนี้ และได้เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นอวันตี


รักแรกของ พระเจ้าอโศกมหาราช

  • ในคัมภีร์ภาษาบาลี กล่าวว่า เจ้าชายอโศกได้พบกับธิดาเศรษฐี นามว่า “เวทิสาเทวี” หรือ “เทวี” ระหว่างยกทัพไปอวันตี ครอบครัวของนางเวทิสา เป็นชาวพุทธ

  • หลังจากได้เป็นอุปราชผู้ปกครองแคว้นอวันตีแล้ว เจ้าชายอโศกอภิเษกสมรสกับพระนางเวทิศา ประสูติโอรส นามว่า “เจ้าชายมหินท์” และพระธิดานามว่า “สังฆมิตา” ซึ่งได้เป็นพระเถระที่มีความสำคัญต่อพุทธศาสนาในเวลาต่อมา

  • ถ้าใครเคยเวอร์ชั่นภาพยนต์จะเห็นว่ารักครั้งแรกของพระองค์ เป็นเจ้าหญิงแห่แคว้นกาลิงคะที่หนีจากการถูกตามล่า นามว่า “กรวกี” เจ้าหญิงกรวกีพบเจอกับเจ้าชายอโศกในขณะที่ไปใช้ชีวิตสามัญชนอยู่ที่ชายแดนเมืองกาลิงคะ และได้อภิเษกสมรสกัน หลังจากนั้นเจ้าชายอโศกไปทำศึกที่อวันตี และได้อภิเษกสมรสกับพระนางเทวีแบบจำยอม

ศึกแย่งชิงราชบัลลังก์

  • พระเจ้าพินทุสาร ทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่องค์รัชทายาทสุสิมะ

  • ทรงพระประชวร และสวรรคตช่วงปี พ.ศ.274 ทรงครองราชย์เป็นเวลาประมาณ 25 ปี บางคัมภีร์กล่าวว่าพระองค์เสด็จสวรรคตหลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชสมบัติ

  • กองทัพของเจ้าชายอโศกเผชิญหน้ากับเจ้าชายสุสิมะ เจ้าชายอโศกมีชัยชนะและยึดราชบัลลังก์ของรัชทายาทได้สำเร็จ ขณะนั้นพระองค์น่าจะมีพระชนมายุราวๆ 30 กว่าพรรษา

  • หลังจากที่ยึดราชบัลลังก์สำเร็จ เจ้าชายอโศกยังไม่ขึ้นเป็นกษัตริย์เลยทันที แต่ทรงบริหารจัดการราชสำนัก และแคว้นต่างๆ เป็นระยะเวลา 4 ปี

  • การปกครองของราชวงศ์โมริยะ นับตั้งแต่พระเจ้าจันทรคุปต์ เป็นต้นมานั้น ได้ใช้คัมภีร์ที่เขียนโดย จอมปราชญ์ “จาณักยะ” ผู้เขียน คัมภีร์อรรถศาสตร์ (Arthashastra) หรือศาสตร์แห่งความมั่งคั่งของรัฐ แต่เดิมจาณักยะเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ตักศิลา ต่อมาเขาได้ช่วยพระเจ้าจันทรคุปต์ก่อตั้งจักรวรรดิเมารยะ จาณักยะจึงได้เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของพระเจ้าจันทรคุปต์ ต่อมาได้เป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าพินทุสาร

  • ราวปี พ.ศ. 274 เจ้าชายอโศกปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์โมริยะ

  • เหตุการณ์หลังจากที่พระองค์ทำศึกยึดราชบัลลังก์นี้ ในคัมภีร์พุทธศาสนา ได้กล่าวถึงความโหดร้ายป่าเถื่อนของพระองค์ต่างๆ นานา เช่น ทรงฆ่าพี่น้องต่างพระมารดา 99 องค์ เหลือเพียงเจ้าชายติสสะเท่านั้น จนมีผู้ตั้งพระนามให้พระองค์ว่า “จัณฑาโศก” (พระเจ้าอโศกผู้โหดเหี้ยม Ashoka the Fierce) บางคัมภีร์กล่าวว่าพระนามนี้ตั้งหลังจากทำสงครามกาลิงคะ
นักประวัติศาสตร์ชาวศรีลังกาที่มีชื่อเสียง K. M. de Silva ตั้งข้อสังเกตว่า คัมภีร์มหาวงศ์ “เต็มไปด้วยอคติทางศาสนาที่รุนแรงและเรื่องราวพิสดาร” อีกทั้งยังมีความคลาดเคลื่อนกับแหล่งข้อมูลอื่นๆ
ที่มา – youthkiawaaz.com

มหาสงคราม “กาลิงคะ”

  • ในชมพูทวีป ยังมีแคว้นหนึ่งที่ยังไม่ได้อยู่ในอำนาจตั้งแต่สมัยพระเจ้าจันทคุปต์ จนถึงพระเจ้าพินทุสาร คือ แคว้นกาลิงคะ

  • แคว้นกาลิงคะ อยู่ทางชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย เป็นดินแดนที่อยู่ติดกับทะเล (อ่าวเบงกอล) เป็นเส้นทางค้าขายที่สำคัญ เป็นดินแดนที่ไม่เคยตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองใดๆ เรียกได้ว่า ปกครองตนเอง โดยอาจจะมีเจ้าผู้ปกครองนคร มีกองทัพที่แข็งแกร่งมาก แม้แต่พระเจ้าจันทคุปต์ และพระเจ้าพินทุสาร ยังไม่กล้าที่จะทำศึกสงคราม

  • เหตุผลที่ พระเจ้าอโศกมหาราช ตั้งใจจะยึดครองแคว้นกาลิงคะ น่าจะมาจากความปรารถนาของพระองค์เอง ความใฝ่ฝันที่ต้องการเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่เหนือเสด็จปู่พระเจ้าจันทรคุปต์

  • 261 ปีก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าอโศกมหาราช ยกกำลังพลกว่า 3 แสนคน ทำสงครามกับแคว้นกาลิงคะ เป็นมหาสงครามครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ประชาชนกว่า 150,000 คนถูกจับเป็นเชลยและถูกนำไปยังเมืองปาฏลีบุตร มีผู้เสียชีวิต จากการสู้รบร่วม 100,000 คน และมีอีกที่ล้มหายตายจาก จากภาวะสงคราม อีกหลายเท่าตัว

  • ปัจจุบันคือ แคว้นโอริสสา และได้ขุดพบพุทธศาสนสถาน ชื่อว่า รัตนคีรี อุทัยคีรี และลลิตาคีรี ซึ่งศาสนสถานแห่งนี้ไม่ได้สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-16 ตามความเชื่อทางพุทธศาสนามหายาน
รัตนคีรี
รัตนคีรี (Ratnagiri) แปลว่า ‘เนินเขาแห่งอัญมณี’ มีบทบาทสำคัญในการเกิดขึ้นของพุทธศาสนาแบบตันตระและกาลจักรา ตันตระ มีทางเข้าที่สวยงาม แกะสลักอย่างประณีต อารามอิฐแห่งแรกในรัตนคีรีคือสิ่งที่เหลืออยู่และยังพบเศียรของพระพุทธเจ้า ภาพจาก Hannes Rada
อุทัยคีรี
อุทัยคีรี (Udayagiri) หรือ Sunrise Hill ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ Birupa ประกอบด้วยอารามขนาดใหญ่ พระมหาสถูปก่อด้วยอิฐที่สวยงาม และประติมากรรมแกะสลักหินต่างๆ พระมหาสถูปมีภาพประทับนั่งของพระพุทธเจ้าพระธยานิพุทธะ ภาพจาก Hannes Rada
ลลิตาคีรี
ลลิตาคีรี (Lalitagiri) เป็นหนึ่งในศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดียซึ่งมีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 1 บนยอดเขาหินทรายพบพระพุทธรูปปางต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ยังขุดพบเศษหม้อดินที่ถูกจารึกไว้ตั้งแต่สมัยหลัง โมริยะ เมื่อปี พ.ศ. 2528 ระหว่างการขุดค้นได้พบผอบทองคำในสถูปศิลาที่บรรจุอัฐิธาตุศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าเป็นของพระพุทธเจ้า ภาพจาก Hannes Rada

คำสารภาพผิด

  • ศิลาจาลึก หลักที่ 13 ได้จารึกถึงความในใจของพระเจ้าอโศกมหาราชที่รู้สึกโศกเศร้าเสียใจต่อศึกสงครามกาลิงคะ

  • ทรงมีความสำนึกสลดพระทัย และที่ทรงเห็นว่าที่ทรงกระทำนั้น เป็นกรรมอันร้ายแรง และที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้น คือ พราหมณ์ ผู้คน ทั้งหลาย ต้องได้รับบาดเจ็บ ถูกฆ่าตาย หรือไม่ก็ต้องพลัดพรากจากบุคคลซึ่งอันเป็นที่รัก ทรงสร้างความพังพินาศอันร้ายแรงและสร้างกรรมหนัก
  • เมื่อสิ้นสุดสงครามกาลิงคะ ทำให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพระเจ้าอโศกมหาราชจากนักรบที่โหดเหี้ยมไปสู่นักธรรมที่ยิ่งใหญ่ ผลกระทบโดยตรงและในทันทีของสงครามกาลิงคะคือการเปลี่ยนแปลงของพระเจ้าอโศกมหาราชสู่พระพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราช
ภาพจาก wikipedia

เข้าสู่ร่มเงาพุทธศาสนา

  • ข้อมูลในคัมภีร์หลายๆ เล่ม กล่าวถึงการเข้าสู่ร่มเงาพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกต่างๆ กันไป แม้แต่นักประวัติศาสตร์เอง ก็ให้ความเห็นที่แตกต่างกัน พระเจ้าอโศกไม่เคยระบุโดยตรงถึงวิธีการหรือสาเหตุที่พระองค์เปลี่ยนใจเลื่อมใสในจารึกใด ๆ แต่ตามแนวคิดของนักวิชาการแล้ว ทรงมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

  • ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนากล่าวว่า พระเจ้าอโศกเข้าสู่ร่มเงาพุทธศาสนานั้น เกิดจากการได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจากสามเณรนิโครธ ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากที่ทำสงครามกับแคว้นกาลิงคะ ที่พระเจ้าอโศกทรงอุปถัมภ์พราหมณ์ และลัทธิต่างๆ แต่กลับไม่รู้สึกเลื่อมใส จนกระทั่งได้พบกับสามเณรนิโครธ ผู้ซึ่งเป็นพระอรหันต์

  • ในขณะที่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่บางคน ให้ความเห็นว่า พระเจ้าอโศกมหาราชนับถือพุทธศาสนาก่อนสงครามกาลิงคะ และนับถือมาก่อนหน้านั้นหลายปี โดยอาจจะรู้จักมาจากพระนางเวทิสาเทวี ซึ่งเป็นชาวพุทธ

  • ในขณะที่หนังสือ คัมภีร์ ศรีศากยอโศก ฯลฯ ผู้ประพันธ์มองว่าเป็น “สัญญาเก่า” คือ พระเจ้าอโศกเคยนับถือพุทธศาสนามาแล้วในอดีตชาติ และในชาตินี้ครั้นเมื่อได้เห็นพระภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่วัยเยาว์ก็เกิดความรู้สึกเคารพนับถือ

  • ไม่ว่าคัมภีร์จะกล่าวแตกต่างกันอย่างไร แต่มีจุดหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นความสอดคล้องกันคือ สามเณรนิโครธ คือ ผู้ที่สนทนาธรรมกับพระเจ้าอโศก และทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชเกิดความศรัทธาและเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
เมื่อพระถังซำจั๋งเดินทางมาถึงแคว้นกาลิงคะ ท่านได้บันทึกไว้ว่า ได้เห็นสถูปที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้มากมาย และมีอยู่องค์หนึ่งที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ชาวพุทธจากทั่วสารทิศจะมาสักการะกัน สถูปนี้อยู่ที่ปุษปะคีรี ปัจจุบันคือ เนินเขาชื่อ ลังกุฎี (Langudi Hill) สิ่งที่ทำให้นักโบราณคดีตื่นเต้นที่สุด คือ ตรงทางเข้าสถูปนี้ ได้ขุดพบรูปพระเจ้าอโศกเป็นครั้งแรกในอินเดีย เป็นรูปแกะสลักหิน มีอักษรจารึกที่ฐานไว้ว่า “ราชาอโศก”
พระเจ้าอโศกมหาราช
รูปพระเจ้าอโศกพบครั้งแรกในอินเดีย เป็นรูปแกะสลักหิน มีอักษรจารึกที่ฐานไว้ว่า “ราชาอโศก” ด้านซ้ายและขวาเป็นรูปของพระมเหสี ตรงกลางเป็นรูปแกะสลักกษัตริย์ประทับนั่งบนบัลลังก์ ทรงเครื่องทรงและเครื่องประดับที่พบในสมัยพระเจ้าอโศก ทั้งรูปแบบมงกุฎ ต่างหู และสร้อยสังวาลสะพายบ่า ภาพจาก สารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้า กองทัพธรรมของพระเจ้าอโศก EP.07

ธรรมาโศกราช (พระเจ้าอโศกมหาราช ผู้ทรงธรรม)

  • ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชที่เหลืออยู่ พระองค์ได้ดำเนินนโยบายอย่างเป็นทางการว่าด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง (อหิงสา) และใช้นโยบายที่เรียกว่า “ธรรมวิชัย” คือ การมีชัยโดยธรรม และปกครองแบบบิดาปกครองบุตร ปิตาธิปไตย (Paternalism) ซึ่งในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็ใช้ระบบปกครองแบบเดียวกัน

  • ทรงยกเลิกการทำศึกสงครามทั้งหมด (สงครามวิชัย) ยกเลิกการฆ่าสัตว์หรือการชำแหละสัตว์โดยไม่จำเป็น สัตว์ป่าได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายของกษัตริย์เพื่อต่อต้านการล่าสัตว์ อนุญาตให้ล่าได้จำกัดด้วยเหตุผลในการบริโภค ส่งเสริมการกินอาหารที่เว้นจากเนื้อสัตว์

  • ทรงสร้างมหาวิทยาลัย และระบบขนส่งน้ำและระบบชลประทานเพื่อการค้าและการเกษตร

  • ทรงสร้างวัดอโศการาม และวัดอื่นๆ อีก 84000 วัด รวมถึงการทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3

  • ทรงสร้างเสาศิลาจารึก เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า ไปทั่วราชอาณาจักร ซึ่งกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

  • ทรงตั้ง “ธรรมมหาอำมาตย์” และทรง “ธรรมยาตรา” คือ ไปยังพุทธสถานต่างๆ และเยี่ยมเยือนประชาชน

  • ทรงได้รับทรงได้รับการขนานพระราชสมัญญานามว่า ธรรมาโศกราช (พระเจ้าอโศกผู้ทรงธรรม)

สถูปสาญจี
สถูปสาญจีมีซุ้มประตูอยู่โดยรอบ เรียกว่าโตรณะ ลวดลายของซุ้มประตูเหล่านี้นำเสนอแนวคิดเรื่องความรัก สันติ ความจริง ความกล้า ข้อมูลจาก Wiki , ภาพจาก Santosh Sinha

เสาอโศก (Pillars of Ashoka) จารึกอโศก

  • เสาอโศก สร้างเมื่อ 268 ถึง 232 ปี ก่อนคริสต์ศักราช สร้างจากหินทรายสีแดงอมชมพู และ หินทรายขาว จากเมืองจากเมืองจุณนา ทางตอนเหนือของอินเดีย

  • ใชัอักษรพราหมี (Brahmi) เป็นภาษาท้องถิ่นของชาวบ้านในแคว้นอวันตี 

  • ค้นพบครั้งแรกเมื่อ คริสต์ศตวรรษที่ 16 ในจารึก พระเจ้าอโศก ใช้พระนามว่า ปิยะทัสสี หมายถึง ผู้เป็นที่รักของเทพเทวา

  • ปัจจุบันมีการค้นพบ 20 เสา มีประมาณ 13 เสา ที่ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

  • ประติมากรรมบนหัวเสา ที่เป็นจุดเด่นคือ รูปสิงห์ นอกจากสิงห์แล้ว ยังมีรูปอื่นๆ รูปช้าง รูปวัว แต่ส่วนใหญ่เป็นรูปสิงห์แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือ รูปราชสิงห์ทั้ง 4 หันหน้าไปยัง 4 ทิศ ที่สารนาถ ( Sarnath) รัฐอุตรประเทศ (Uttar Pradesh)  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสารนาถ ซึ่งรูปราชสิงห์นี้ได้ใช้เป็นตราแผ่นดินของอินเดียในปัจจุบัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ธรรมในศิลาจารึก ไม่มีสักคำที่พูดถึงพระพุทธเจ้า หรือพุทธศาสนา เช่น อริยสัจ 4 นิพพาน และหลักธรรมอันลึกซึ้ง สำคัญข้ออื่นๆ ของพุทธศาสนา แม้ว่าพระองค์จะศรัทธาพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า แต่กับประชาชนพระองค์ทรงสอนหลักธรรมที่เป็นกลาง สามารถนำไปใช้และยอมรับได้กับทุกศาสนา
ตราสัญลักษณ์
ตราสัญลักษณ์นี้ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2493 ซึ่งเป็นวันที่อินเดียกลายเป็นสาธารณรัฐ ภาพจาก joegoaukextra4

ต้นพระศรีมหาโพธิ์

  • ในศิลาจารึก หลักที่ 8 ทรงกล่าวว่าเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ได้ครบ 10 ปีแล้ว ได้เสด็จไปนมัสการต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา

  • พระเจ้าอโศก ทรงเสด็จไปประทับอยู่ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่เป็นเนืองๆ เป็นที่รับรู้กันดีในหมู่มหาชนว่าพระองค์นั้น รักและบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้มากกว่าสิ่งใด

  • เหตุการณ์ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกทำลายนั้น กล่าวกันว่าเป็นฝีมือของพระมเหสีของพระเจ้าอโศก ด้วยความที่คัมภีร์ไม่ได้กล่าวชื่อว่าพระมเหสีองค์ไหน จึงเข้าใจกันว่า เป็นพระอัครมเหสี นามว่า “ติสสรักขะ (ดิษยรักษิตา)” ที่ไม่พอใจที่พระองค์ให้ความสนใจกับต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้มากเกินไป ด้วยความอิจฉาริษยาจึงทำลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยการเทน้ำร้อนผสมยาพิษ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็ค่อยๆ เหี่ยวเฉาตาย (ในคัมภีร์แต่ละเล่มอาจจะกล่าววิธีการทำลายไม่เหมือนกัน) ทำให้พระเจ้าอโศกเสียพระทัยมาก

  • ส่วนหนังสือ คัมภีร์ ศรีศากยอโศก ฯลฯ ให้ทรรศนะที่น่าสนใจว่า ต้นพระศรีมหาโพธิ์ถูกทำลายด้วยยาพิษ ผสมในน้ำซึ่งใช้ดูแลพระราชอุทยาน โดยชาวกาลิงคะที่เจ็บแค้นจากสงคราม และยาพิษคือ อาวุธสำคัญที่ชาวกาลิงคะใช้ในการต่อสู้

  • ส่วนวิธีการที่จะให้ต้นพระศรีมหาโพธิ์แตกหน่อมาได้นั้น กล่าวกันว่า พระเจ้าอโศก ใช้วิธีตั้งจิตอธิษฐาน ไม่ยอมลุกไปไหนจนกว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์จะคืนชีพ ด้วยจิตอธิษฐานนี้หน่อของต้นพระศรีมหาโพธิจึงกำเนิดขึ้นมาใหม่
ต้นพระศรีมหาโพธิ์

พระผู้ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

  • เมื่อครั้งที่พระองค์ได้สนทนาธรรมกับสามเณรนิโครธ จิตของพระองค์ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ทรงถือเอา “ธรรมวิชัย” เป็นการปกครองพร้อมๆ กับที่ทรงฟื้นฟูพุทธศาสนาอย่างเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งกว่ากษัตริย์องค์ใดๆ

  • ทรงสร้างวัดแห่งแรก ชื่อว่า “อโศการามมหาวิหาร” และมีรับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ทรงธรรมยาตรา และรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุอัญเชิญมาบรรจุไว้ในวิหารต่างๆ 84,000 แห่ง

  • ปาฎลีบุตรจึงเปรียบเสมือนโรงทานมหึมา พระเจ้าอโศกบริจาคทานส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่เข้ามาสู่ใต้ร่มพุทธศาสนา จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากเข้ามาบรรพชา รวมถึงลัทธิอื่นๆ ที่ปลอมตัวเข้ามาบวชแอบแฝงเพื่อหวังลาภสักการะ และสร้างความวุ่นวายด้วยการใช้หลักคำสอนของศาสนาเก่าตัวเองมาอ้างว่าเป็นคำสอนของพระศาสดา เรียกว่าเป็นพวก อลัชชี

  • ทรงเศร้าหมองพระทัยจากเรื่องนี้ จึงได้อาราธนาพระโมคคัลลีบุตรมาช่วยแก้ปัญหา พร้อมทั้งเล่าอำมาตย์ทั้งหลาย โดยการถามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วให้พระสงฆ์ตอบ หากตอบไม่ได้จึงถือว่าเป็นพวกอลัชชี
  • ด้วยเหตุการณ์ความวุ่นวายนี้ พระโมคคัลลีบุตรและพระเจ้าอโศกมีความเห็นว่าสมควรที่จะทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ที่ อโศการาม ราวปี พ.ศ. 289-290

  • ด้วยความมีวิสัยทัศน์ของพระเจ้าอโศก ในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้แผ่ไพศาล จึงได้มีการส่งธรรมทูต ไปประกาศพุทธศาสนา 9 คณะ 9 เส้นทาง หนึ่งในพระธรรมทูตคือ พระโอรสของพระเจ้าอโศก “พระมหินทเถรเจ้า”
– เมืองปาฎลีบุตร เป็นเมืองท่าสำคัญมีแม่น้ำสำคัญ 5 สาย ไหลมารวมกัน ทำให้มีมีการติดต่อค้าขายกันเป็นจำนวนมาก รายได้ที่พระเจ้าอโศกนำมาทำนุบำรุงพุทธศาสนานั้น วิเคราะห์กันว่าน่าจะมาจากการเก็บภาษีจากพ่อค้า
มหาวิทยาลัยนาลันทา สร้างครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอโศก ภายหลังราชวงศ์คุปตะได้ทำการสร้างอาคารเพิ่มเติม มหาวิทยาลัยนาลันทาเจริญรุ่งเรืองที่สุดในรัชสมัยของพระเจ้าหรรษวรรธนะ

พระเจ้าอโศกมหาราช สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.311 เมื่อพระชนมายุ 72 พรรษา ครองราชย์เป็นเวลา 37 ปี รัชทายาทคือ เจ้าชายกุณาละ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงไม่ได้ครองราชย์ พระราชนัดดาจึงขึ้นครองราชย์ และมีกษัตริย์โมริยะสืบต่อมาอีก 4 พระองค์ พราหมณ์ปุษยมิตรซึ่งเป็นอำมาตย์ก่อการกบฏ ล้มราชวงศ์ ในที่สุดราชวงศ์โมริยะก็ถึงคราวสิ้นสุด พุทธศาสนาในอินเดียล่มสลายเมื่อประมาณพุทธศตวรรษ ที่ 18 นานถึง 700 ปี แต่กลับเจริญงอกงามในต่างแดน ด้วยพระบารมีและพระปรีชาญาณของพระเจ้าอโศกมหาราช

พระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของประวัติศาสตร์อินเดีย คำขวัญประจำชาติของอินเดีย มาจากข้อความในศิลาจารึกในเสาอโศก ว่า “ความจริงย่อมมีชัยเหนือทุกสิ่ง Truth Alone Triumphs”

พระเจ้าอโศกมหาราช
ขอบคุณข้อมูลจาก

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย  พุทธศาสนายุค พ.ศ.๒๐๐ – ๕๐๐ http://www.dhammathai.org/
พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระพุทธศาสนาในอินเดีย อ.อาบูบาการ์
บทวิจารณ์หนังสือ : BOOK REVIEW เรื่อง : จารึกอโศก (ธรรมจักรบนเศียรสี่สิงห์) รัฐศาสตร์แห่งธรรมาธิปไตย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ป.อ.ปยุตฺโต)
https://www.thoughtco.com/chandragupta-maurya-195490
https://www.thefamouspeople.com/profiles/ashoka-6226.php
https://www.preceden.com/timelines/369922-asoka
https://www.worldhistory.org/Ashoka_the_Great/
https://www.worldhistory.org/timeline/Mauryan_Empire/
http://www.artedchula.com/web/index.php?option=com_content&view=article&id=87&Itemid=71
https://www.independent.co.uk/arts-entertainment/books/reviews/ashoka-the-search-for-india-s-lost-emperor-by-charles-allen-7468480.html
https://travel.earth/top-buddhist-sites-to-visit-in-odisha/