พระอริยสงฆ์ : รวมธรรมคำสอน

พระอริยสงฆ์ : รวมธรรมคำสอน

รวมธรรมคำสอน และการบรรลุธรรม จาก ๑๒ พระอริยสงฆ์ แห่งกองทัพธรรม

ในยุคที่เราไม่สามารถแสวงหาครูบาอาจารย์หรือ “พระอริยสงฆ์” ได้เหมือนแต่ก่อน การปฏิบัติธรรมจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก และยากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะขาดคำชี้แนะ พระอาจารย์วิริยังค์ ได้เล่าถึง หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ว่า หลังจากที่หลวงปู่มั่น ได้พบกับแสงสว่างในธรรม ท่านพิจารณาว่าจะแนะนำสั่งสอนธรรมแบบไหนจึงจะได้ผล ซึ่งท่านกำหนดพิจารณาดูแล้ว ก็พบว่า การสอนใครก็ควรต้องพิจารณาจิตใจของผู้นั้นว่า ควรจะได้รับธรรมะอย่างไร ท่านจะต้องรู้ชัดก่อนว่า ผู้ใดควรได้รับธรรมกัมมัฏฐานอะไร ผู้นั้นควรจะนำไปปฏิบัติอย่างไร ต้องรู้ถึง อุปนิสัยวาสนาและปุพเพนิวาสของผู้นั้นก่อน และนี่ทำให้การสอนของท่านได้ผล

คำสอนที่ผู้เขียนรวบรวมมาทั้งหมดนี้ เป็นคำสอนที่เกี่ยวข้องกับการฝึกปฏิบัติโดยตรงของ พระอริยสงฆ์ ซึ่งพระอาจารย์ทุกท่านล้วนแต่เป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น หรือเป็นผู้มีจริยวัตรงดงาม เป็นเนื้อนาบุญของโลก แต่อาจจะเป็นธรรมะที่ผู้เขียนชื่นชอบยกมาเท่านั้น ขอให้สังเกตจริตของตน และขอให้พบกับความ “สว่าง” ภายในจิต


พระอริยสงฆ์

1.หลวงปู่ชา สุภัทโท

หลวงปู่ชา สุภัทโท กล่าวว่า ไม่ว่าท่านจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ ณ ที่ใดๆก็ตาม ปรากฏว่าท่านพระอาจารย์มั่นคอยติดตามตักเตือนอยู่ตลอดเวลา

หลวงปู่ชา นับเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ติดดินที่สุด ท่านสอนจากธรรมชาติที่ต่ำที่สุดเพื่อให้เกิดสิ่งที่สูงที่สุด คือ มรรคผล แนวทางคำสอนของท่าน มักจะเป็นคำสอนสั้นๆ ลึกซึ้ง แต่แทงทะลุถึงจิตได้ และท่านมักจะหาเรื่องเปรียบเทียบ เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ เช่น

“ถ้าทำสมาธินี้ เอาแต่ขณิกะก็พอ ไม่จำเป็นต้องไปไกลกว่านั้น ใช่มั้ยครับ”

หลวงปู่ชาตอบว่า “ก็ไม่เป็นไรอย่างนั้น คือ หมายความว่า มันต้องเดินไปถึงกรุงเทพก่อน ว่ากรุงเทพมันเป็นอย่างนี้ อย่าไปถึงแค่โคราชซิ คือ ไปให้ถึงกรุงเทพก่อน แล้วเราก็ผ่านอุบลราชธานีด้วย ผ่านโคราชด้วย ผ่านกรุงเทพด้วย คือ เรียกว่าสมาธินะ ขณิกสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันจะถึงที่ไหนก็ให้มันถึงที่ มันจึงจะรู้จักโครตของสมาธิว่ามันเป็นอย่างไร อัปปนาสมาธินี่มันมากกว่าอุปจารสมาธิ”

สมถะกับวิปัสสนา มันแยกกันไม่ได้หรอก มันจะแยกกันได้ก็แต่คำพูด เหมือนกับมีดเล่มหนึ่งนะ
คมมันก็อยู่ข้างหนึ่ง สันมันก็อยู่ข้างหนึ่งนั่นแหละ มันแยกกันไม่ได้หรอก ถ้าเราจับด้ามมันขึ้นมาอันเดียวเท่านั้น
มันก็ติดมาทั้งคมทั้งสันนั่นแหละ

หลวงปู่ชา สุภัทโท

2.หลวงปู่กินรี จันทิโย

หลวงปู่ชา สุภัทโท ได้กล่าวถึง หลวงปู่กินรี จันทิโย ซึ่งขณะนั้นท่านฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่กินรีว่า “ท่านเอง (หลวงปู่ชา) ได้ทำความเพียรอย่างสาหัส เดินจงกรมทั้งวัน ไม่ว่าฝนจะตกแดดจะออก แผ่นดินทรุด ทางเดินเป็นร่องลึกหลายต่อหลายร่อง ปฏิบัติมิได้หยุดหย่อน ยังไม่รู้ไม่เห็นอะไร แล้วท่านอาจารย์ปฏิบัติเพียงเดินจงกรม ก็ไม่ค่อยเดิน จะนั่งสมาธินาน ก็ไม่เห็นนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ แล้วจะไปถึงไหน”

คราหนึ่งเมื่อท่านนั่งปะชุนจีวรที่ขาดวิ่น และนึกถึงการภาวนาอยู่ตลอดเวลา อยากจะรีบปะชุนให้เสร็จเร็วๆ เพื่อที่จะได้ไปภาวนาต่อ หลวงปู่กินรีเดินผ่านมา สังเกตอาการ แล้วจึงพูดขึ้นมาว่า “ท่านชา จะรีบร้อนไปทำไมเล่า” “ผมอยากให้เสร็จเร็วๆ ครับหลวงปู่” “เสร็จแล้วท่านจะทำอะไรล่ะ” “จะไปทำอันนั้นอีก” “ถ้าเสร็จอันนั้นแล้ว ท่านจะทำอะไรอีกล่ะ” “ผมก็จะทำอย่างอื่นอีก”

หลวงปูกินรี จึงเตือนท่านว่า “ท่านชา ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้านี้ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองซิว่าเป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความอยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตนอีก” คำพูดของหลวงปู่กินรีกระตุกใจท่านมาก ทำให้ท่านได้สติและเกิดความเข้าใจชัดเจน ว่า

ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร ก็ภาวนาได้ทั้งนั้น ขอให้หมั่นดูใจของตนอย่างต่อเนื่องจนเกิดความรู้สึกทั่วพร้อม

ที่มา : หนังสือแก้วมณี อีสาน ,ธรรมสาส์นชาวพุทธ ปีที่ 65 ฉบับที่ 3

หลวงปู่กินรี จันทิโย

3. หลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล

หลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล พระอริยสงฆ์ ที่เป็นหนึ่งในกองทัพธรรมที่หลวงปู่มั่นให้ความไว้วางใจ หลวงปู่มั่น ได้กล่าวกับหลวงปู่ทองรัตน์ไว้ตอนหนึ่งว่า “ทองรัตน์ เดี๋ยวนี้จิตของท่าน เท่ากับจิตของผมแล้ว ต่อไปท่านจะเทศน์จะสอนคนอื่น ก็จงสอนเถิด” 

หลวงปู่ชา สุภัทโท และ หลวงปู่กินรี จันทิโย ท่านทั้งสองเคยฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ทองรัตน์ อุปนิสัยของหลวงปู่ทองรัตน์คือ ท่านมีอารมณ์ขัน พูดจาโผงผาง เสียงดังกังวาน ลูกศิษย์ลูกหายำเกรง มีนิสัยแผลงๆ แปลกๆ มีครั้งหนึ่งท่านได้จำพรรษากับ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล มีพระรูปหนึ่งปฏิบัติจนคิดว่าตนเองเหาะได้ ในขณะที่เอะอะโวยวายอยู่นั้น หลวงปู่เสาร์ได้บอกหลวงปู่ทองรัตน์ว่า “เอาแมะ ทองรัตน์ เอาแมะ” ท่านลุกขึ้น อัดกำปั้นใส่กกหูพระองค์นั้นเต็มแรง จนพระรูปนั้นได้สติกลับมา

หลวงปู่ชา สุภัทโท เล่าว่า แรกๆ ผมคอยเฝ้าสังเกตอาจารย์ของผมคือ อาจารย์ทองรัตน์ และเกิดสงสัยในตัวท่านมาก บางคนถึงกับคิดว่าท่านบ้า ท่านมักจะทำอะไรแปลกๆ หรือ เกรี้ยวกราดเอากับบรรดาลูกศิษย์ของท่าน อาการภายนอกของท่านโกรธ แต่ภายในใจท่านไม่มีอะไร ไม่มีตัวตน ท่านน่าเลื่อมใสมาก ท่านเป็นอยู่อย่างรู้แจ้งและมีสติ จนถึงวาระที่ท่านมรณภาพ

หลวงปู่ทองรัตน์ ท่านได้เล่าประสบการณ์การภาวนาของท่านให้ลูกศิษย์ฟังเพื่อเป็นอุบายสอนใจ เช่น ครั้งหนึ่งท่านออกธุดงค์อยู่ที่ภูเขาลูกหนึ่ง ท่านได้ปักกลดและเดินจงกลมทั้งวันทั้งคืน ได้เกิดนิมิตเห็นยักษ์ตนหนึ่ง รูปร่างใหญ่โตน่ากลัวมาก ตัวเท่าภูเขากระโดดมาขวางทางท่าน ท่านระลึกถึงคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับ ถ้าไม่ดับถือว่าสิ่งนั้น เป็นสิ่งลวง”

ท่านจึงได้ตะโกนอยู่คนเดียวในป่าว่า “ผีบ้าหน้าหมา มึงตั๋วตู ยักษ์ผีบ้าหน้าหมา มึงตั๋วกู” พูดอย่างนั้นจนนิมิตนั้นหายไป

ที่มา : หนังสือแก้วมณี อีสาน ,หนังสือ มณีรัตน์,หนังสือ 48 พระธรรมเทศนา พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท)

หลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล

4. หลวงปู่คำดี ประภาโส

หลวงปู่คำดี ประภาโส อีกหนึ่ง พระอริยสงฆ์ ท่านเป็นลูกศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่มั่น ท่านถือการปฏิบัติความเพียรเป็นใหญ่ ท่านเคยพูดเสมอว่า “ท่านทั้งหลาย อย่าไปเห็นสิ่งอื่นดีกว่าความเพียรใน ศีล สมาธิ ปัญญา ของสามประการนี้ เป็นงานของนักบวชเราโดยตรง ส่วนของอย่างอื่นนอกจากนี้ก็เป็นเพียงอุปกรณ์ของศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น”

ท่านได้อธิบาย “ลักษณะของจิตรวม” ว่า เมื่อจิตเริ่มรวมจะเกิดอาการต่างๆ เช่นมีความรู้สึกว่าเบามือทั้งสองข้าง ซาบซ่านตามร่างกาย ขนลุกขนพองคล้ายกับไปพบกับสิ่งที่น่ากลัว มีอาการตัวเบาหวิว บางคนเมื่อรู้ว่าจิตเริ่มจะรวม จึงคอยดูว่า จิตจะรวมอย่างไร จิตก็รวมไม่ได้ สมาธิก็ไม่เกิด อันนี้เป็นการกระทำที่ผิด เมื่อเรารู้ว่าจิตของเรากำลังจะรวม ให้เรา กำหนดผู้รู้นิ่งอยู่ สติกับใจอย่าให้เคลื่อนจากกัน อย่าให้สติเคลื่อนไหวไปตามอาการใดๆ เมื่อสติไม่เคลื่อนไปตามอาการใดๆ แล้ว จิตก็รวมเอง บางครั้งก็รวมสนิทเลย เปรียบเหมือนเอาไม้ปักในน้ำที่ไหลเชี่ยว ปักให้นิ่งไว้อย่าให้เคลื่อนไปตามน้ำ อย่าให้จิตเคลื่อนจากผู้รู้

“บางครั้งเมื่อเราทำสมาธิได้แล้ว ขณะที่จิตรวมวูบลงไปในร่างกายของเราก็จะเกิดเห็นเป็นซากศพ ที่มีสภาพเหมือนกับว่าเพิ่งจะขุดขึ้นมาจากหลุมศพ แต่จริงๆ แล้ว ร่างกายของเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อเราถอนจิตออกมาก็จะเห็นเป็นตัวตนธรรมดา อาการที่เราเห็นเป็นซากศพนี้ ท่านเรียนว่า “อสุภนิมิต” โดยอสุภนิตินี้ ถ้าเกิดบ่อยๆ จะเป็นการดีมาก ท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) ท่านนิยมมาก”

“ถ้าพระเณรองค์ใดได้อสุภนิมิตร่างกายเน่าเปื่อยเป็นซากศพแล้ว ท่านว่าผู้นั้นจะสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ง่าย และเมื่อเกิดขึ้นมา ขออย่างเดียว อย่าลุกหนี จะทำให้เราเสียสติ ขอห้ามโดยเด็ดขาด ถ้าเราสามารถทนได้ นับว่าเป็นการดีมาก เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณามาก สิ่งเหล่านี้เรียกกว่าเป็น นิมิตภายในตัวเรา”

ที่มา : หนังสือแก่นพุทธศาสนา ของ หลวงปู่คำดี ปภาโส

หลวงปู่คำดี ประภาโส

5. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านเคยฝากตัวเป็นศิษย์กับ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ ท่านทำนายหลวงปู่ฝั้น ไว้ในใจว่า “พระภิกษุรูปนี้ จะต้องมีความสำคัญใหญ่หลวง และเป็นกำลังอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในอนาคตอย่างแน่นอน” ท่านจึงตั้งใจว่า “จะต้องพาหลวงปู่ฝั้นไปพบและมอบถวายต่อ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นพระปรมาจารย์ในโอกาสต่อไปให้จงได้”

หลวงปู่คำดี ปภาโส เล่าว่า ในสายของหลวงปู่มั่นนี้ ท่านที่ได้อภิญญาที่สำคัญคือ ท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านสามารถที่จะพูดกันได้กับท่านหลวงปู่มั่นเวลาท่านไปเยี่ยม ท่านมักถามเป็นปัญหาว่า “เมื่อคืนรับแขกมากไหม”

คำว่า “แขก” ในทีนี้ก็หมายถึง พวกเทพยดาในสวรรค์ชั้นตางๆ ตลอดจนถึงพระอินทร์ที่ลงมากราบเยี่ยม สำหรับท่านพระอาจารย์ฝั้น ท่านประสบเหตุมามาก ท่านเคยเล่าให้ฟังหลายเรื่อง ถ้าเขียนเป็นหนังสือ ก็จะได้เล่มหนาทีเดียว

หลวงปู่มั่น ได้แนะนำให้หลวงปู่ฝั้นออกเดินธุดงค์ตามลำพัง จนกระทั่งท่านได้อุบายธรรมจากการได้ยินเสือร้อง จิตใจถึงสงบ จากการเจ็บป่วยแล้วเห็นหมาแทะกระดูกจึงนำมาพิจารณาธรรม เมื่อพรรษาที่ 7 หลวงปู่ฝั้น ได้จำพรรษาอยู่กับ หลวงปู่กงมา ที่ภูระงำ ที่นี่อาการป่วยไข้มาเลเรียของท่านได้กำเริบหนัก ปวดไปหมด จนกระทั่งท่านได้ตั้้งจิตปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ถึงชีวิตจะแตกดับก็ยอม “เราจะนั่งสมาธิภาวนาจนมันหาย ถ้าไม่หาย ตายก็ยอม”

ท่านกำหนดรู้ทุกขเวทนา ที่เผ็ดร้อนเจ็บแสบกล้าในเวลานั้น ทั้งหมดรวมเป็น ทุขสัจจะ ในทุกขเวทนาขันธ์ เป็นขันธมาร เป็นมารก่อกวนขัดขวางหลอกลวงให้เราหลง เราจึงไม่ได้ประสบพบทางอันสงบสุข

ขันธมาร มันไม่ได้เป็นมิตรกับเรา มันเบียดเบียนเรา บีบคั้นเราตลอดเวลา ข้ารู้ข้าเห็นตัวมันแล้ว โดยความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เป็นมารอันโหดร้ายที่สุด คือ ทุกขขันธ์ เป็นศัตรูของเราอย่างฉกาจฉกรรจ์ เราจะต้องต้องสู้เพื่อปราบศัตรูให้สิ้นซากไปจากเรา ทุกขันธมาร นี้ มันอยู่รอบตัวเราอย่างแน่นหนา เหมือนภูผาหินล้วนสูงจรดฟ้า ตั้งอยู่โดยรอบทั้งสี่ทิศ แต่ละทิศกลิ้งบีบเข้ามาหากัน หาช่องที่จะหลบหลีกลอดออกไปก็ไม่มีแม้แต่น้อย

ท่านได้กำหนดเอาทุกขเวทนาที่เป็นปัจจุบัน ตั้งสติระลึกทุกขเวนานั้น มาเป็น เวทนาสติปัฏฐานภาวนา สัมปชาโน มีความรู้ตัว มีความอดทน มีควรเพียรเพ่งเผากิเกสที่อาศัยทุกขเวทนาเป็นปัจจัยแล้วเกิดขึ้น จนพินาศ ท่านพยายามด้วยสติปัญญาอันคมกล้า ทุกขเวทนา ไม่สามารถข่มขี่ขู่เข็ญครอบงำจิตของท่านได้ จิตก็รวมสงบ เวทนาก็ดับ พร้อมทั้งวิตก วิจาร ทุกข์ ปิติ สุข ก็ดับๆ ๆ ๆ ๆ ไปหมด เหลือแต่ เอกัง จิตตัง จิตดวงเดียว เป็นอุเบกขารมณ์ อยู่ด้วยอัปนาจิต ตลอดยังรุ่ง

ทุกขเวนาที่เคยมีกำลังกล้าก็ได้ถูกแผดเผาด้วยขันติธรรม ความอดกลั้นทนทาน และด้วยความเพียร อันเป็น ตปะ เครื่องเผากิเลส ทั้งกองทุกข์ก็ได้ดับหมดสิ้นไปด้วยความสงบอย่างสนิทชนิดที่ถอนรากถอนโคน ที่ยังไม่เคยพบเห็นเป็นมีมาก่อนเลย

เมื่อใจเราไม่ดีแล้วให้รู้สึก และนึกพุทโธ พุทโธขึ้นมาจนกว่าจะหาย ครั้นใจเราดีแล้ว ความชั่วทั้งหลายก็หายไปหมด เปรียปอุปมาเหมือนความมืด เมื่อเราจุดไฟขึ้น ความมืดก็หายไปเองฉันใด เมื่อใจเราดีแล้ว ความชั่วทั้งหลายก็หายไปฉันนั้น

ที่มา : หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร , หนังสือหลวงปู่ฝั้น อาจาโรโครงการหนังสือบูรพาจารย์เล่ม 11

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

6.หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านเคยฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่สิงห์ ท่านว่า นิสัยของหลวงปู่เทสก์เป็นคนกระด้าง หัวดื้อ ไม่ค่อยจะลงคน แม้แต่หลวงปู่มั่นเอง ก็ได้เคยกล่าวว่า ในอดีตชาติหลวงปู่เทสก์เคยเป็นหลานของท่าน หลวงปู่เทสก์จึงดื้อดึง ไม่ค่อยฟังท่าน และสนิทสนมกับท่านยิ่งกว่าใคร

หลวงปู่เทสก์ เล่าว่า เวลาที่ท่านนั่งสมาธิ จิตของท่านจะรวม สงบอยู่ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน บางครั้งก็รวมเข้าภวังค์แล้วก็หายไปเลยเป็นนานนับชั่วโมงก็มี แล้วไม่ทำให้เกิดปัญญาอะไรเลย ท่านฝึกจิตจนรวมสู่ความ “สงบสุข” มาประมาณ 10 กว่าปี แต่พบว่า “เมื่อมีอารมณ์มากระทบเข้า จิตของเราก็หวั่นไหวได้” จนวันหนึ่งหลวงปู่สิงห์ ท่านแนะนำท่านให้ “พิจารณาอสุภะเข้าให้มาก เพ่งให้จนเป็นของเน่าเปื่อย แล้วสลายเป็นธาตุสี่ในที่สุด”

แต่หลวงปู่เทสก์กับแย้งว่า ก็เมื่อจิตมันวางรูป ยังเหลือแต่นาม แล้วจะกลับมายึดเอารูปอีก มันจะไม่เป็นของหยาบหรือ โดยเข้าใจเอาเองว่า กิเลสเกิดที่จิต เมื่อจิตไม่ส่งส่ายวุ่นวายสงบดีแล้ว สิ่งอื่นใดๆ มันก็บริสุทธิ์ไปหมด เมื่อคำสอนไม่ตรงใจ ท่านจึงคิดจะไปหาหลวงปู่มั่น เพื่อให้แน่ใจ จนกระทั่งหลวงปู่มั่น ดุเอาว่า “นั่งให้โง่อยู่ตั้งสิบกว่าปี” หลวงปู่มั่น ท่านสอนเหมือนกับหลวงปู่สิงห์ คือ ให้พิจารณา กาย ให้เป็นอสุภะ เป็น ธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เพ่งลงไปจนเห็นไตรลักษณ์ ส่วนการดูจิตอย่างเดียว จนพบความสงบเย็น เป็นเวลานานนั้น หลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า เป็น สมาธิหัวตอ

หลวงปู่เทสก์ เมื่ออายุ 62 ปี ได้ขึ้นมาจากปักษ์ใต้ แล้วจึงไปพักจำพรรษาที่ถ้ำขามกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร นี่ที่ท่านได้มีโอกาสประกอบความเพียรติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ความรู้และอุบายต่างๆ ที่เป็นของเฉพาะตัวย่อมเกิดมีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ เราไม่ต้องนั่งหลับตาภาวนาล่ะ แม้จะนั่งอยู่ ณ สถานที่ใดเวลาไหน มันเป็นภาวนาไปในตัวตลอดกาล จะพิจารณาตนและคนอื่น ตลอดถึงทิวทัศน์ มันให้เกิดอุบายเป็นธรรมทั้งนั้น …. “


จิตถ้าหากว่านิ่งแล้วไม่มีอะไร อาการที่จิตคิดนึกออกไปจากอาการอันหนึ่งนั้น อันนั้นเรียกว่า อาการของจิต อาการของจิตนั้นเรียกว่า กิเลส ถ้าหากไม่ยึด คือ อาการกิเลส ถ้าหากไปหลงไปเมาตามอาการที่มันไป เรียก กิเลส ถ้าหากว่าเราหัดให้มันชำนาญ คือ เห็นโทษของการที่มันวิ่ง มันยึดถือ มันมัวเมา มันหลอกด้วยอาการต่างๆ แล้ว ก็เข้าใจชัดตาม เป็นจริงในสิ่งทั้งหลายนั้น ถึงมันจะมีอาการ มันก็ไม่ถึงกับไปยึดไปถือ ไปหลงมัวเมา ก็สักแต่ว่าอาการ

ที่มา : หนังสือหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี โครงการหนังสือบูรพาจารย์เล่ม 10

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

7. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พระอริยสงฆ์ อีกท่าน ที่เด่นในเรื่องฤทธิ์อภิญญา จัดอยู่ในลำดับสองรองจากหลวงปู่มั่น ในสมัยหลวงปู่มั่นยังอยู่ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน กล่าวว่า ท่าน (หลวงปู่ชอบ) ได้รับชมเชยว่า มีนิสัยในการสงเคราะห์เทวดา ด้วยการเป็นพระธุดงค์ที่มี “ตาใน” นี้เอง หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้ตั้งฉายาให้กับหลวงปู่ชอบว่า “พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ”

หลวงปู่ชอบ ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะไปขอฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่มั่น ให้ได้ ท่านได้ชวนสหายคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่หลุย จันทรสาโร ไปด้วยกัน แต่หลวงปู่ขาวกับหลวงปู่หลุย เกรงว่าถ้าไปพร้อมกันอาจจะโดนปฏิเสธได้ เพราะหลวงปู่มั่นมีลูกศิษย์เยอะแล้ว หลวงปู่ชอบเลยเป็นหน่วยกล้าตายเข้าไปกราบหลวงปู่มั่นก่อน

เพียงแค่เจอหลวงปู่มั่นครั้งแรก หลวงปู่ชอบถึงกับโดนหลวงปู่มั่น ดุ ด่า ขับไล่เสียงดัง ไม่ยอมให้อยู่ด้วย เหมือนโดนฟ้าผ่าหน้าแล้งลงมากลางใจ ท่านจึงเดินคอตกไปพักอยู่บริเวณใกล้ๆ แต่พอเช้าวันรุ่งขึ้น หลวงปู่มั่นได้สั่งให้ลูกศิษย์ของท่าน คือ หลวงปู่เทสก์ ให้ออกตามหาท่าน หลวงปู่มั่นแตกต่างจากเมื่อวานอย่างสิ้นเชิง ท่านรับหลวงปู่ชอบเป็นศิษย์ โดยพูดกับหลวงปู่ชอบว่า “พอบอกพอสอนกันได้อยู่” ตั้งแต่นั้นหลวงปู่ชอบก็สร้างความเพียรตลอดจนกระทั่งหลวงปู่มั่น เอ่ยปากว่า “ไปไกลลิบเลย พระน้อยองค์นี้”

หลังจากนั้นท่านก็สร้างความเพียรมิได้หยุดได้หย่อน ออกเดินธุดงค์เป็นระยะเวลาหลายปี จนกระทั่งท่านได้มาจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่แหวนที่ห้วยน้ำริน เมื่อหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ขาว และหลวงปู่แหวน ได้พบเจอกันที่ห้วยน้ำริน หลวงปู่ขาวถามหลวงปู่ชอบว่า “ท่านอาจารย์ชอบไปอยู่ทางเมืองพม่านั้น เป็นอย่างไรบ้าง ภาวนาดีบ่”

หลวงปู่ชอบตอบว่า “ภาวนาอยู่ทางเมืองพม่านั้นดีมาก การปฏิบัติมีแต่ทางก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จนสุดหนทางที่ผมจะต้องเดินต่อไปอีก ทุกวันนี้ผมอยู่แต่กับปัจจุบันเท่านั้น ไม่มีทางใดที่ผมจะต้องออกไปค้นหาอีก ไม่มีภาระอะไรเหลือให้ผมได้ทำอีกแล้ว ภาระทั้งหมดถูกปลดวางลงไปจนหมดสิ้น ไม่มีเหลือให้ได้แบกได้หามอีกต่อไป ผมมีปัญญาเป็นของตนเองแล้ว การเกิดของผมนับแต่นี้เป็นต้นไป เป็นอันว่ายุติไว้ที่ชาตินี้เท่านั้น”

ที่พึ่งอันประเสริฐของจิตใจนั้นคือ ไตรสรณาคมน์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สามสิ่งนี้เท่านั้นที่เป็นของจริง พึ่งพิงอาศัยได้ในยามที่จิตใจเป็นทุกข์ จิตใจมีสรณะอันถูกต้อง ทุกข์ในใจก็จะน้อยลง แต่คนเรากว่าจะหาที่พึ่งที่แท้จรงิในใจของตนเองได้นั้น มันก็ยากเอาการอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่เกินวิสัย หากเรามีความตั้งใจจริง

ที่มา : หนังสือหลวงปู่ชอบ ฐานสโม โครงการหนังสือบูรพาจารย์เล่ม 9

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

8. หลวงปู่ขาว อนาลโย

ในพรรษาแรกที่ หลวงปูขาว อนาลโย ได้จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น ที่เชียงใหม่ ท่านได้เร่งความเพียรอย่างเต็มที่ คืนหนึ่งท่านนั่งสมาธิภาวนา จิตสงบรวมลงอย่างเต็มที่ไปพักใหญ่ จึงถอนขึ้นมาเกิดความอัศจรรย์ ในความสว่างไสวของใจ ซึ่งไม่เคยเป็นถึงขนาดนั้นมาก่อน เช้ามาหลวงปู่มั่น ได้จับจ้องมองดูหลวงปู่ขาว จนผิดสังเกต แล้วท่านได้เอ่ยออกมาว่า “ท่านขาวนี้ ภาวนาอย่างไร คืนนี้จิตจึงสว่างไสวมาก ผิดกับที่เคยเป็นมาทุกๆ คืน นับตั้งแต่มาอยู่กับผม ต้องอย่างนี้ซิ จึงสมกับผู้มาแสวงธรรม”

หลวงปู่มั่น เอ่ยปากชม และถามหลวงปู่ขาวต่อไปว่า “ทีนี้ท่านทราบหรือยังว่า ธรรมอยู่ที่ไหน ? เมื่อคืนนี้สว่างอยู่ที่ไหนล่ะท่านขาว ? หลวงปู่ขาวตอบว่า “สว่างอยู่ที่ใจครับผม”

หลวงปู่มั่น พูดต่อไปว่า “แต่ก่อนธรรมไปอยู่ที่ไหนเล่า ท่านจึงไม่เห็น ? นั่นแหละธรรม ท่านจงทราบเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป ธรรมอยู่ที่ใจนั่นแล ต่อไปท่านจงรักษาระดับจิต ระดับความเพียรไว้ให้ดี อย่าให้เสื่อม นั่นแล คือ ฐานของจิต ฐานของธรรม ฐานของความเชื่อมั่นในธรรม และฐานแห่งมรรคผลนิพพานอยู่ที่นั่นแล จงมั่นใจและเข็มแข็งต่อความเพียรถ้าอยากพ้นทุกข์ การพ้นทุกข์ต้องพ้นที่นั่นแน่นอน ไม่มีที่อื่นที่หลุดพ้น อย่าลูบคลำให้เสียเวลา เรามิใช่คนตาบอดพอจะลูบคลำ”

แม้แต่ยามป่วยไข้ หลวงปู่มั่น ท่านจะมักจะเตือนลูกศิษย์เป็นเชิงปัญหาเหน็บๆ ว่า


“ท่านเคยคิดบ้างไหมว่า ท่านเคยทุกข์ก่อนจะตาย ทุกข์มากยิ่งกว่าทุกข์ที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ ในภพชาติที่ผ่านๆ มา เพียงทุกข์ในเวลาเป็นไข้ธรรมดา ซึ่งโลกๆ เขามิได้เรียนธรรม เขายังพออดทนได้ บางรายเขายังมีสติดี มีมารยาทงามกว่าพระเราเสียอีก คือ เขาไม่แสดงอาการทุรนทุราย กระสับกระส่าย ร้องครางทึ้งเนื้อทึ้งตัว เหมือนพระบางองค์ที่แย่ๆ ซึ่งไม่น่าจะมีแฝงอยู่ในวงพุทธศาสนาเลย … “

“ผม (หลวงปู่มั่น) ที่กล้ายืนยันว่าเคยได้กำลังใจในเวลาป่วยหนักนั้น ผมพิจารณาทุกข์ที่เกิดกับตัว จนเห็นสถานที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ของมันอย่างชัดเจนด้วยสติปัญญาจริงๆ จิตที่รู้ความจริงของทุกข์แล้ว ก็สงบตัว ไม่แสดงการส่ายแส่ แปรสภาพไปเป็นอื่น นอกจากดำรงตนอยู่ในความจริง และเป็นหนึ่งอยู่เพียงดวงเดียว ไม่มีอะไรมารบกวนลวนลามเท่านั้น ไม่เห็นความแปลกปลอมใดๆ เข้ามาเคลือบแฝงได้เลย

ทุกขเวทนาก็ดับสนิทลงในเวลานั้น แม้ไม่ดับ ก็ไม่สามารถทับจิตใจเราได้ คงต่างอันต่างเจริญอยู่เพียงเท่านั้น นี่แลว่าสัจธรรมเป็นของจริงสุดส่วน จริงอย่างนี้เอง ท่านจึงว่าอยู่ที่จิตดวงมีปัญญารอบตัวเพราะการพิจารณา ไม่ใช่อ่อนแอเพราะนั่งทับนอนทับสติปัญญา เครื่องมือที่ทันกันกับการแก้กิเลส

ภายหลัง หลวงปู่ขาว ได้บรรลุธรรม และได้กล่าวกับ หลวงปู่ชอบและหลวงปู่แหวน ว่า “พันธุ์ข้าวของผมสุกหมดแล้ว ไม่มีเชื้อเหลือพอที่จะเอามาปลูกให้มันเกิดขึ้นมาได้อีก ทุกวันนี้ผมกินแต่ข้าวสุกทั้งหมด ไม่ได้กินข้าวสาร (ทุกข์) ปนกับข้าวสุก (สุข) เหมือนแต่ก่อน”

หลวงปู่ขาว อนาลโย

9. หลวงปู่หลุย จันทสาโร

หลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิงห์ และหลวงปู่มั่น ท่านเคยแอบเข้าไปดูจิตของหลวงปู่มั่น โดยอยากรู้ว่าจิตของพระอรหันต์เป็นอย่างไร จนท่านโดนดุด่าและกำราบเสียยกใหญ่ ท่านสร้างความเพียรมิได้หยุดได้หย่อน แต่ยังไม่สมปรารถนา จนกระทั่ง หลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งได้บรรลุธรรมก่อนท่าน ได้ให้อุบายธรรม ดังว่าเหมือนมี เส้นผมบังภูเขา

หลวงปู่หลุย มาพิจาณาว่าอะไร คือ เส้นผมบังภูเขา ก็พบว่าตนเองนั้น เคยคิดการใหญ่ คือ ปรารถที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แม้แต่หลวงปู่มั่นเองก็ทราบดี เมื่อท่านพิจารณาชัดเจนแล้ว จึงตัดสินใจที่จะตัดความปรารถนั้น และทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งท่านได้ชำระกิเลสจนหมดสิ้น เป็น จิตเกษม และกล่าวว่า “จิตเคยว้าเหว่ บัดนี้จิตมีที่พึ่งแล้ว”

หลวงปู่หลุยท่านได้บันทึกธรรมของหลวงปู่มั่น ไว้ซึ่งถือว่าเป็นมรดกอันล้ำค่า ยกตัวอย่างที่ หลวงปู่มั่นสอน ได้แก่

“พระอานนท์ เป็นคลังแห่งพระธรรม อะไรท่านรู้หมด ทำเนิ่นช้า เพราะท่านติดพระสูตร อภิธรรม ไม่น้อมลงมาปฏิบัติ จึงสำเร็จช้าอายุ 80 ปี หลังพระพุทธเจ้าปรินิพนาน 3 เดือน”


“จะบอกการดำเนินวิปัสสนา และสมถะ โดยเฉพาะนั้นมิได้เพราะมันไปหน้าเดียว จริตของคนต่างๆ กัน แล้วแต่ความฉลาดไหวพริบของใคร เพราะดำเนินจริตหลายแง่แล้วแต่ความสะดวก”

ส่วนธรรมโอวาทของหลวงปู่หลุย เช่น “การเจ็บการป่วยนี่เป็นของดีของพระอริยเจ้าเชียวนะ จิตไม่เพลิดเพลิน พิจารณาเรื่องการตายเสมอๆ นะ การตายอันนี้น่ะเราตายมาเรื่อยๆ ทุกวันนี้นั่งอยู่ที่นี่ต้องตายนะ.. “

“จิตติดที่ไหน ย่อมไปเกิด ณ ที่นั้น จิตติดเรือนก็อาจจะมาเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกได้ แม่แต่พระภิกษุติดจีวรยังไปเกิดเป็น (ตัว)เล็น น่าหวาดกลัวนัก แล้วกิเลสมันมีร้อยแปดประตู พุทโธ มีประตูเดียว เพราะฉะนั้น ให้ฝึกหัดปฏิบัติให้คุ้นเคย วาระที่เราจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนช่าติ จะเข้าจิตได้ทันหรือเปล่า..”

หลวงปู่หลุย จันทสาโร

10. หลวงปู่แหวน สุจิณโณ

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ใช้เวลาเดินทางธุดงค์ออกตามหาหลวงปู่มั่นเกือบ ๑๐ ปี ระหว่างออกเดินทางท่านได้พบกับพระธุดงค์รูปหนึ่งคือ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ซึ่งท่านทั้งสองได้ธุดงค์ด้วยกันในฝั่งลาว และมีจริตคล้ายๆ กัน คือ ยิ่งอดอาหารขบฉัน จิตยิ่งสงบ เข้าสมาธิเร็วขึ้น มั่นคงขึ้น แต่ท้ายสุดท่านได้แยกทางกันเพื่อทดสอบจิตใจของตนเอง โดยการเดินทางโดยลำพัง

เมื่อหลวงปู่แหวนได้เจอหลวงปู่มั่นครั้งแรก ท่านได้กล่าวว่า “ต่อไปนี้ให้ภาวนา ความรู้ที่เรียนมาให้เอาใส่ตู้ไว้ก่อน”

หลวงปู่มั่น ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติภาวนา ว่า “จะใช้บทพุทโธ เป็นบทบริกรรมสำหรับผูกจิตก็ได้ เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้วให้วางบทบริกรรมเสีย แล้วพิจารณากาย ต่อไป ..” ในการพิจารณากายนั้น เริ่มแรก ให้พิจารณาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งที่เราสามารถที่จะเพ่งพิจารณาได้อย่างสะดวกในอาการ ๓๒ เมื่อพิจารณาจนเกิดความชัดเจน กลับไปกลับมา หรือที่เรียกว่า โดยอนุโลมปฏิโลม จนหายสงสัยในจุดที่พิจารณานั้นแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นจุดอื่นต่อไป อย่าพิจารณาเป็นวงกว้างเพราะปัญญายังไม่แก่กล้า ถ้าพิจารณาพร้อมกันทีเดียวทั้งร่างกายความชัดเจนจะไม่ปรากฏ ต้องค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อพิจารณาจนเกิดความชำนาญแล้ว ถ้าเราเพ่งปัญญาลงไปจุดใดจุดหนึ่ง ความชัดเจนจากจุดอื่นๆก็จะปรากฏเป็นนัยเดียวกัน เมื่อพิจารณาพอสมควรแล้ว ให้น้อมจิตเข้าพักอยู่ในความสงบ เมื่อพักอยู่ในความสงบพอสมควรแล้ว ให้ย้อนกลับออกมาพิจารณาร่างกายอีก

ให้เจริญอยู่อย่างนี้ จึงจะเจริญทางด้านปฏิบัติ เมื่อจิตมีความชำนาญเพียงพอแล้ว คำบริกรรมพุทโธก็ไม่จำเป็นเพียงกำหนดจิตก็จะสงบเข้าสู่สมาธิได้ทันที

ผู้ปฏิบัติจิตภาวนา ถ้าส่งจิตออกภายนอกร่างกายแล้ว เป็นอันผิดมรรคภาวนา .. “กาย” จึงเป็นสนามรบ กายจึงเป็นยุทธภูมิที่ปัญญาะต้องค้นเพื่อทำลายกิเลสและกองทุกข์..นักปฏิบัติธรรม ถ้าจะทิ้งการพิจารณาร่างกายเสียแล้ว จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องดำเนินมรรคปัญญา

หลวงปู่ชอบ ได้พูดถึง หลวงปู่แหวน ภายหลังจากที่ท่านกลับไปอยู่ที่จังหวัดเลย ว่า “ตอนนั้นท่านอาจารย์แหวนท่านก็เร่งของท่านเป็นอย่างมาก เราชวนท่านกลับมาเมืองเลยด้วย ท่านก็ไม่ยอมกลับมาเป็นอันขาด เราก็เลยไม่รบกวนอะไรท่านมาก

อาจารย์แหวนท่านเป็นคนที่มีความเด็ดขาดมาก ถ้าได้เอ่ยว่า ไม่ แล้ว ก็คือ ไม่ จะไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย แม้ว่าในภายหลังท่านจะเสร็จกิจแล้ว เราชวนท่านกับมาเมืองเลย ท่านก็ไม่ยอมกลับมาอีก มีแต่บอกว่า ทางอิสานมีพระอยู่มากแล้ว ทางเมืองเหนือพระยังมีน้อยอยู่ ผมจะอยู่ทางเมืองเชียงใหม่ต่อไปจนตายคาแผ่นดินนี้แหละ แล้วท่านอาจารย์แหวนก็ได้นิพพานที่เมืองเชียงใหม่สมกับคำพูดของท่าน”

หลวงปู่แหวน

11.หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ท่านเป็นศิษย์อาวุโสที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง ของหลวงปู่มั่น ท่านกับหลวงปู่แหวนได้ออกเดินธุดงค์ด้วยกันในช่วงแรกๆ อุปนิสัยของท่านคือ ท่านชอบเทศน์ มีปฏิปทาผาดโผน พูดเสียงดัง ไม่ว่าเทศน์กับใครท่านก็ใช้คำพูดเหมือนกันหมด พูดตรงๆ และเทศน์ตามจริง ซึ่งแตกต่างจากหลวงปู่แหวนมาก ซึ่งท่านเงียบ พูดน้อย เสียงเบา ชอบอยู่เงียบๆ ไม่ชอบเทศน์ ปฏิปทาเรียบง่าย ไม่โลดโผน

หลวงปู่ตื้อ ท่านได้ติดตามหลวงปู่มั่นไปในหลายที่ จึงเป็นที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในเวลานั้นว่า ท่านเป็นลูกศิษย์เอกของหลวงปู่มั่น ท่านได้เล่าเหตุการณ์ที่ท่านเดินธุดงค์กรรมฐานมาหลายปี เมื่อไปจำพรรษาอยู่ที่ภูลังกา ได้เร่งทำความเพียรจนไม่ได้ฉันข้าวฉันน้ำ ตั้งใจแน่วแน่ จะให้เห็นแจ้งต่อโลก พอจิตสงบบรรลุถึงโครตภูญาณแล้วรู้ไปถึงวิญญาณหลายพวกว่าเป็นอยู่อย่างไร

ท่านเคยกล่าวถึงการที่กระดูกคนเรากลายเป็นธาตุว่า “อำนาจตบะที่พระอริยบุคคลได้ตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรเพื่อขัดเกลากิเลสนั้น มิได้แผดเผาแต่เฉพาะกิเลสเท่านั้น หากแต่ได้แผดเผากระดูกในร่างกายให้กลายเป็นพระธาตุไปด้วยในขณะเดียวกัน” ดังนั้น พระธาตุ จึงเป็นวัตถุที่ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ หมดกิเลส ของเจ้าของกระดูก หรืออัฐิธาตุนั้นเอง และอัฐิของหลวงปู่ตื้อเอง ก็กลายเป็นพระธาตุ ด้วยเช่นกัน

หลวงปู่ตื้อ สอนว่า นิมิตมีหลายแบบ นิมิตนะ ดีก็มีมาก นิมิตหลงก็มีมาก แต่มันจะดีหรือมันจะหลอกนั้น ผู้ภาวนาเป็น มันจะรู้เองหรอก คนที่ถูกนิมิตหลอกก็เพราะภาวนาไม่เป็น มันหลงทางนะ ก็ถ้านิมิตมันหลอกเอาคนไปกินจริง พระพุทธเจ้า เพราะสาวกเจ้า ครูอาจารย์ ก็คงเหลือแต่กระดูกเท่านั้นซิ คนฉลาด มีปัญญา นิมิตมาหลอกไม่ได้หรอก คนโง่ นั่งเซ่อไม่ลืมหูลืมตาต่างหาก ที่นิมิตพาไปบ้าบอเสียสตินะ ก็สติมันเสียแต่แรกแล้วนะ คนเช่นนั้นน่ะ

เมื่อได้ฝึกอบรม มีองค์พุทธโธ อยู่ในจิตใจแล้ว สมควรแล้วก็จะรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น

ที่ว่ารู้ รู้อะไรน่ะ ก็รู้เท่าทันกิเลส คนมีปัญญาต้องรู้อย่างนี้นะ อย่าไปรู้เรื่องอื่นๆ ยิ่งไปกว่ารู้เท่าทันกิเลส
เห็น น่ะเห็นอะไร เห็นหนทางที่จะฆ่าจะดับกิเลส เปิดประตูเข้าพระนิพพานไป อย่าไปเห็นสิ่งที่เขาไม่อยากให้เห็นนะ อย่าไปเห็นว่าเป็นผัว อย่าไปเห็นว่าเป็นเมียเขามาก่อนในอดีตชาติ เป็นต้น

ธรรมะคือ คำสอนของพระพุทธเจ้า พวกเรามองข้ามไปเสียหมด อยู่ที่ตัวของเรานี้เอง มิใช่อื่น พุทธะ คือ ผู้รู้ ก็ตัวของเรานี้เองมิใช่ใครอื่น เช่นเดียวกันกับไข่ ไข่อยู่ข้างในของเปลือกของไข่ ทำให้เปลือกไข่แตก เราก็ได้ไข่ พิจารณาร่างกายของเราให้แตก แล้วเราก็จะได้ธรรมะ

พระอริยสงฆ์

12.หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปัณโน ท่านได้เล่าเรียนปริยัติธรรมเป็นเวลา 7 ปี แต่ท่านก็มุ่งมั่นที่จะศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ระยะแรกที่ศึกษากับหลวงปู่มั่น ท่านเกรงกลัวมาก ตัวสั่น ท่านเล่าว่า ตาท่านเหลือบมาพั้บเท่านั้น มันก็อยากจะหงายไปแล้ว ตาท่านสำคัญมากนะ ตามีอำนาจด้วย เสียงก็มีอำนาจ พูดออกมานี้แหลมคม ไม่ขนาดนั้นกิเลสก็ไม่หมอบจะว่ายังไง


ท่านทำความเพียรอย่างมาก ไม่ฉันอะไรเลยหลายวัน ซึ่งท่านพิจารณาแล้วว่า จริตของท่านถูกกับการอดอาหาร เพราะการเจริญภาวนาได้เร็วกว่าขณะที่ฉันตามปกติ จนกระทั่งสมาธิของท่านมั่นคงมากมีความสุออย่างยิ่งที่จิตใจไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ ท่านติดสมาธิแบบนี้ถึง 5 ปีเต็ม จนกระทั่งหลวงปู่มั่น ฉุดลากออกมา โดยท่านสอนว่า “ท่านรู้ไหม ? สุขในสมาธิ เหมือนกับเนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม ? สมาธิก็เหมือนกับเนื้อติดฟันนั้นแหละ … สมาธิทั้งแท่งนั้นละ คือ ตัวสมุทัยทั้งแท่ง ท่านรู้ไหม ?

ท่านอดทนพากเพียร ถึง 9 ปี แม้ในช่วงหลังๆ หลวงปู่มั่น ไม่ได้อยู่เป็นที่พึ่งอีกแล้ว ติดขัดอันใด ท่านยังคิดถึงหลวงปู่มั่นเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่ง ในคืนแห่งความสำเร็จ ท่านได้เล่าถึงสภาวะธรรมในขณะนั้น ว่า

“จิตดวงเดียวนี้ ทำไมจึงเป็นไปได้หลายอย่างนักนะ เดี๋ยวเป็นความเศร้าหมอง เดี๋ยวเป็นความผ่องใส เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยวเป็นทุกข์ ไม่คงที่ดีงามอยู่ได้ตลอดไป ทำไมจิตละเอียดถึงขนาดนี้แล้ว จึงยังแสดงอาการต่างๆ อยู่ได้” ความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่คาดฝันก็ผุดขึ้นมาว่า “ความเศร้าหมองก็ดี ความผ่องใสก็ดี ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เหล่านี้เป็นสมมติทั้งสิ้น และเป็นอนัตตาทั้งมวลนะ”


..จิตและสติปัญญา วางตัวเป็นอุเบกขามัธยัสถ์ ไม่กระเพื่อมตัว จิตเป็นกลางๆ ไม่จดจ่อกับอะไร ไม่เผลอส่งใจไปไหน ปัญญาก็ไม่ทำงาน สติก็รู้อยู่ธรรมดาของตนไม่จดจ่อกับสิ่งใด ..

ขณะจิต สติ ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิต อันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจได้กระเทือน และขาดสะบั้นบรรลัยลงมาจากบัลลังก์คือ ใจ กลายเป็น วิสุทธิจิต ขึ้นมาแทนที่ ในขณะเดียวกันกับอวิชชาขาดสะบั้นหั่นแหลกแตกกระจายหายซากลงไปด้วยอำนาจสติปัญญาที่เกรียงไกร ..

ก่อนที่หลวงปู่มั่นจะมรณภาพ ท่านได้กล่าวว่า “ให้พึ่งท่านมหานะ มหาฉลาด ทั้งภายนอกภายในนะ..”
และนับว่าเป็นเมตตาอย่างยิ่ง ที่ท่านได้เขียนหนังสือเพื่อเผยแพร่ ข้อธรรม และบันทึกประวัติของ พระอริยสงฆ์ หลายๆ ท่าน รวมถึงคำสอนและหนังสือของท่าน

ที่มา : หนังสือหยดน้ำบนใบบัว

พระอริยสงฆ์