พระมหาชนก

พระมหาชนก

บุคคลซึ่งไม่ละซึ่งความเพียรและรักษาความเพียรนั้นโดยไม่ย่อท้อ

Time reading :: 4 minutes

“พระมหาชนก” เป็นแอนิเมชันไทยที่สร้างจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยพระองค์ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้างและควบคุมทุกขั้นตอน ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านแอนิเมชัน ใช้เวลาผลิต 4 ปี (พ.ศ. 2553-2557) เนื้อเรื่องแบ่งเป็น 3 องค์: กำเนิด ความเพียร และปัญญา

พระมหาชนก
ภาพจาก ภาพยนตร์อนิเมชั่น เรื่อง พระมหาชนก : องค์ ๑ “กำเนิด” โดย Thai PBS

พระมหาชนก : ตอนที่ 1 “กำเนิด”


ในช่วงเวลาของความทุกข์ใจ เศร้าโศก และสูญเสีย บุญบารมี บุญญาธิการ
และความเชื่อมั่น ในความดี อัน
เป็นสิ่งประเสริฐ จะช่วยทำให้ผ่านพ้นช่วงเวลา ที่ยากลำบากนั้นไปได้

พระมหาชนก

แม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับเรื่องราวของพระมหาชนกมาก่อน การได้รับชมแอนิเมชันนี้กลับสร้างความประทับใจอย่างยิ่ง ทั้งความงดงามของภาพ ความประณีตในรายละเอียด และการเล่าเรื่องที่ชวนติดตาม

เสน่ห์อันโดดเด่นของการ์ตูนเรื่องนี้คือ การขับเสภา โดยเฉพาะในฉากที่ท้าวสักกะ (ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช หรือ พระอินทร์) ประสบภาวะ ‘บัลลังก์ร้อน’ บทเสภาพรรณนาไว้อย่างไพเราะว่า ให้ร้อนรุ่มดังสุมไฟ ไหม้รอนรา สมาธิธรรมบันดาลให้ขุ่นมัว’ สะท้อนถึงจิตใจเมตตาของท้าวสักกะ ผู้เป็นเทวดาที่คอยปกป้องผู้มีคุณธรรมและบุญญาธิการ เปรียบดั่งการกระทำความดีของมนุษย์ ที่แม้ไม่ปรากฏแก่สายตาผู้คน แต่เทวดานั้นรับรู้

พระมหาชนก : ตอนที่ 2 “ความเพียร”

บุคคลใดไม่ละซึ่งความเพียร และรักษาความเพียรนั้นโดยไม่ย่อท้อ เมื่อกระทำการใดไปแล้วย่อมทำให้ถึงสิ่งที่ปรารถนา เปรียบเป็นทุนและพลังที่ก่อกำเนิด ให้บรรลุวัตถุประสงค์ สมดั่งใจหมาย

พระมหาชนก

แก่นแท้ของเรื่องคือ ความเพียรเป็นสิ่งจำเป็นในทุกการกระทำ แม้ไม่เห็นจุดหมาย เราก็ต้องมุ่งหน้าต่อไป เพราะหากเรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นไม่สำเร็จ ก็คงเกียจคร้านที่จะทำตั้งแต่เริ่มต้น ดังบทสนทนาระหว่างพระมหาชนกและนางเมขลาที่ว่า

                        นางเมขลา-   นี่ใคร เมื่อแลไม่เห็นฝั่งก็อุตสาหพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้นักหนา

                        พระมหาชนก– ดูก่อนเทวดา เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลก และอานิสงฆ์แห่งความเพียร เพราะฉะนั้น ถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร

                        นางเมขลา– ฝั่งมหาสมุทรลึกจนประมาณไม่ได้ ย่อมไม่ปรากฏแก่ท่าน ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่านก็เปล่าประโยชน์ ท่านไม่ทันถึงฝั่งก็จักตาย

                        พระมหาชนก– บุรุษเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตายก็ชื่อว่า ไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ญาติ เทวดา และบิดามารดา อนึ่ง บุรุษเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชายย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง

                        นางเมขลา–   การงานอันใด ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม การงานอันนั้นก็ไร้ผล มีความลำบากเกิดขึ้น การทำความพยายามในฐานะอันไม่สมควรใดจนความตายปรากฎขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรใดจนความตายปรากฏขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรนั้น จะมีประโยชน์อะไร

                        พระมหาชนก–   ดูก่อนเทวดา ผู้ใดรู้แจ้งว่าการงานที่ทำจะไม่ลุล่วงไปได้จริง ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นละความเพียรในฐานะเช่นนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งการเกียจคร้าน ดูก่อนเทวดา คนบางพวกในโลกนี้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตนจึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจักสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ดูก่อนเทวดา ท่านก็เห็นผลแห่งกรรมประจักษ์แก่ตนแล้วมิใช่หรือ คนอื่นๆ จมในมหาสมุทรหมด เราคนเดียวยังว่ายข้ามอยู่ และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆ เรา   เรานั้นจักพยายามเต็มสติกำลัง จักทำความเพียรที่บุรุษควรทำ ให้ไปถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร

                        นางเมขลา– ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม ไม่จมลงในห้วงมหรรณพซึ่งประมาณมิได้ เห็นปานนี้ ด้วยกิจคือความเพียรของบุรุษ ท่านนั้นจงไปในสถานที่ ที่ใจท่านยินดีเถิด

  • ปฏิทา แปลว่า ทางดำเนิน ข้อปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติ ความประพฤติ
  • มหรรณพ  แปลว่า มหาสมุทร

พระมหาชนก : ตอนที่ 3 “ปัญญา”

การกระทำการใดๆ ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบ ย่อมก่อให้เกิดซึ่งปัญหาและอุปสรรค แต่หากกระทำการใดๆ ที่ใช้ความรู้และสติปัญญา โดยคำนึงถึงหลักการ จะนำพาให้ทุกสรรพสิ่ง ไปสู่ความสำเร็จที่พอเพียง

พระมหาชนก

ทศชาติชาดกบอกเล่าการบำเพ็ญบารมี 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ โดย พระมหาชนกชาดกเป็นชาติที่ 2 แห่งการบำเพ็ญวิริยบารมี ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงโปรดและสนพระทัยเรื่องนี้มากที่สุดในบรรดาทศชาติชาดกทั้งหมด

ผู้เขียนได้พยายามค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม สุดท้ายไปเจอในหนังสือเรื่อง “พระราชาผู้ทรงศาสตร์ทรงศิลป์”  โดยท่าน  รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพนธุ์ เขียนไว้ในตอน พระมหาชนก คำสอนจาก “พ่อ”  จึงได้เข้าใจแจ่มแจ้งว่า เหตุใดในหลวงท่านถึงได้สนพระทัยเรื่องพระมหาชนกนี้ โดยมีที่มา ดังนี้

“เมื่อ พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม เรื่องพระมหาชนก เสด็จทอดพระเนตรพระราชอุทยานในกรุงมิถิลา เรื่องมีใจความว่า

ที่ทางเข้าสวนหลวงมีต้นมะม่วงสองต้น ต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทรงลิ้มรสมะม่วงอันโอชาแล้วเสด็จเยี่ยมอุทยาน เมื่อเสด็จกลับออกจากสวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่มีผลรสดีถูกข้าราชบริพารดึงทึ้งจนโค่นลง ส่วนต้นที่ไม่มีลูกยังคงตั้งอยู่ตระหง่าน แสดงว่าสิ่งใดดี มีคุณภาพ จะเป็นเป้าหมายของการยื้อแย่งและจะเป็นอันตรายในท่ามกลางผู้ขาดปัญญา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัย จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฏก (พระสุตตันปิฏก ขุททกนกายชาดก เล่มที่   4 ภาคที่ 2) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น”

พระองค์มิเพียงทรงพระวิริยะอุตสาหะในการปกครองบ้านเมือง แต่ยังทรงมุ่งสอนประชาชนเรื่องความเพียรผ่านพระราชนิพนธ์นี้ ด้วยการปรับเนื้อหาให้ร่วมสมัย เข้าถึงง่าย และเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ สะท้อนแนวคิดของพระมหาชนกในองค์ที่ 3 เรื่องปัญญา ที่เพียรสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน

ความเพียร: รากฐานแห่งมรรคา

  1. เพียรระวัง อกุศลที่ยังไม่เกิด – คือ อกุศลบางอย่างที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่อาจจะรับรู้จากผู้อื่น จากการเรียน ได้ยิน ซึ่งเราต้องระวังไม่ให้เกิด
  2. เพียรละ อกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว – คือ สิ่งที่เราประพฤติไม่ดี ทางกาย วาจา และใจ เช่น อาจจะผิดศีลมาก่อน โดยการลักทรัพย์ ให้ร้าย หรือพูดจาส่อเสียดผู้อื่น จะต้องเพียรละ
  3. เพียรสร้าง กุศลที่ยังไม่เกิด – คือ สิ่งที่เราไม่เคยได้ทำ เช่น การเจริญวิปัสสนา นั้นเป็นสิ่งที่ควรทำนอกจากที่เรารักษาศีล หรือทำบุญ ทำทานต่างๆ
  4. เพียรรักษา กุศลที่เกิดขึ้นแล้ว – คือ สิ่งที่เราทำมาแล้ว ที่เป็นกุศล ได้แก่ การรักษาศีล การภาวนา ก็ทำสิ่งนั้นให้เจริญขึ้น ดีขึ้น และทำอย่างสม่ำเสมอ
พระมหาชนก
ภาพจาก ภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง พระมหาชนก : องค์ ๒ “ความเพียร” โดย Thai PBS

อุปสรรคของความเพียร

ผู้เขียนตอนเรียนชั้นประถม ได้อ่านหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะเรื่องหนึ่งที่จำได้ถึงทุกวันนี้ (อาจจะดัดแปลงเล็กน้อย เพราะจำไม่ได้ทั้งหมด )

มีการจัดแข่งขันว่า ใครขี้เกียจที่สุดคนนั้นชนะ มีผู้ชายคนหนึ่งลงเข้าแข่งขัน โดยผู้ชายคนนี้นั่งอยู่เฉยๆ จนหยากไย่ขึ้น ประมาว่าขี้เกียจสุดๆ ไม่ทำอะไรเลย รับรองว่าต้องชนะแน่ๆ แต่แล้วคนชนะกลับเป็นอีกคนหนึ่งที่ลงชื่อแล้วไม่มาแข่งขัน คือ ประมาณว่าขี้เกียจแม้กระทั่งจะมาแข่งความขี้เกียจ

oldbook

แม้ในพระธรรมคำสอนเองก็มีปรารภไว้ เกี่ยวกับ เหตุที่เป็นที่ตั้งของความเกียจคร้าน 8 อย่าง

พยายามของคนขี้เกียจ

“I will always choose a lazy person to do a difficult job because he will find an easy way to do it.” ―Bill Gates

ผมจะเลือกคนขี้เกียจให้ทำงานยากๆ เสมอ เพราะพวกเขาจะพยายามหาหนทางที่ง่ายเพื่อทำให้มันสำเร็จ

คำพูดของบิล เกตส์ ชวนคิดว่าความขี้เกียจนั้นมีประโยชน์ ข้าวของที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกมากมายในชีวิตประจำวัน เช่น หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า หรือเครื่องล้างจาน ล้วนเกิดจากความพยายามแก้ไขความขี้เกียจของมนุษย์ แสดงให้เห็นว่าแม้ในความขี้เกียจ ยังแฝงไว้ด้วยความพยายาม

แต่คนส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นในทางโลก หากเราย้อนกลับไปในเรื่อง สัมมาวายะมะ จะเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงสอนให้เราเพียรพยายามเพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้น

บทสรุป

แม้การ์ตูนแอนิเมชันพระมหาชนกจะจบลงที่การสร้างความรู้เพื่อความมั่นคงของแผ่นดิน แต่แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงออกแสวงหาโมกขธรรม สะท้อนนัยอันลึกซึ้งทางธรรม

ความเพียรในการปฏิบัติธรรมเปรียบดั่งพระมหาชนกว่ายน้ำในมหาสมุทร แม้ไม่เห็นฝั่งก็มุ่งหน้าต่อไป เพราะยังไม่หลุดพ้น ผู้เห็นฝั่งคือผู้เข้าสู่กระแสแห่งนิพพาน การเพียรพยายามจึงต้องอาศัยพลังจิต วิริยะ อุตสาหะ ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ท้อถอยหรือหวั่นไหว วันหนึ่งเราอาจยืนบนฝั่งในฐานะผู้สิ้นอาสวะ