พระถังซัมจั๋ง – ประวัติ และบันทึกการเดินทางบนเส้นทางสายไหม # ภาคแรก
“ศิษย์ตั้งใจไปอัญเชิญพระสูตรที่อินเดีย ไม่ใช่เพื่อทรัพย์สินเงินทอง ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลิน เพียงมุ่งหวังได้มาซึ่งอนุตตรสัทธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งหลาย ขอมหาเมตตามหากรุณาโพธิสัตว์สืบเสาะตามเสียงมาดับทุกข์แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากเถิด” – หนังสือภาพ ประวัติพระถังซัมจั๋ง
นี่คือจิตอธิฐานของพระถังซัมจั๋ง ในขณะที่หายใจรวยริน ล้มลงกลางทะเลทรายหลังจากเดินทางมา 5 วัน 4 คืน โดยไม่มีน้ำสักหยดเข้าปาก พระถังซัมจั๋ง ได้หลับไปด้วยความเหนื่อยล้า ในความฝันได้เห็นยักษ์ตกหนึ่ง สูงหลายเมตรยืนตระหง่านอยู่เบื้องหน้าแล้วตวาดพระถังซัมจั๋งด้วยสุรเสียงอันดังว่า “เหตุใดไม่ฮึดสู้เดินทางต่อ มานอนอยู่ทำไม”
หนังสือที่ผู้เขียนหยิบขึ้นมาอ่าน ชื่อ ภาพประวัติพระถังซัมจั๋ง หนังสือเล่า ประวัติพระถังซัมจั๋ง หรือสมณะเสียนจั้ง (เสวียนจ้าง) ได้อย่างสนุก อ่านง่าย และเพลิดเพลิน ตัวอักษรใหญ่ อ่านง่าย สบายตา หนังสือมีทั้งหมด 322 หน้า ถ้าเราพลิกดูด้านซ้ายมือจะเป็นรูปภาพประกอบพร้อมคำอธิบายสั้นๆ ส่วนด้านขวาจะเป็นตัวหนังสือล้วนๆ ที่เล่าการผจญภัยของพระถังซัมจั๋ง
หลังจากอ่านหนังสือภาพประวัติพระถังซัมจั๋งจบ ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะเขียนเรื่องราวการเดินทางฉบับย่อขึ้นมา จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมจากสื่อต่างๆ รวบรวม และเรียบเรียงตามความเข้าใจ โดยที่จริงแล้วหนังสือที่เกี่ยวกับพระถังซัมจั๋ง มีทั้งหมดอยู่ 2 เรื่อง คือ
- จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง หรือ “บันทึกแว่นแคว้นตะวันตก” ซึ่งพระถังซัมจั๋งได้เขียนไว้ ตามรับสั่งของพระเจ้าถังไท่จง (แปลไทย โดย ซิว ซูหลุน ปี พ.ศ. 2547)
- ประวัติพระถังซัมจั๋ง
หนังสือ “ประวัติพระถังซัมจั๋ง” ที่หยิบมาอ่าน แปลโดย คุณอรุณ โรจนสันติ นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกเล่มที่พิมพ์ขาย ชื่อ “บันทึกพระถังซัมจั๋ง” โดยนายเคงเหลียน สีบุญเรือง ซึ่งเป็นคนแรกของประเทศไทยที่แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ และต้นฉบับภาษาจีน โดยได้แปลเป็นต้นฉบับภาษาไทยพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2484
สื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับ พระถังซัมจั๋ง
- สารคดี Xuanzang’s Pilgrimage สร้างโดยโทรทัศน์ของจีน ช่อง CCTV เมื่อปี ค.ศ. 2016 เล่าเรื่องราวประกอบด้วยตัวละคร สารคดีทำได้น่าติดตามและน่าดูมาก โดยมีทั้งหมด 12 ตอน
- ภาพยนต์ Xuanzang เสวียนจ้าง บุรุษพุทธานุภาพ ออกฉายเมื่อปี 2016 รับบทโดย หวง เสี่ยวหมิง นักแสดงจากจีนแผ่นดินใหญ่ ถ่ายทำในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ และในเขตชายแดนระหว่างจีนกับอินเดียอีกหลายแห่ง
ตัวอย่างภาพยนต์ : https://www.youtube.com/watch?v=TbHIdRCWICo
- สารคดี พื้นที่ชีวิต ตามรอยพระถังซัมจั๋งบนเส้นทางสายไหม ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 2018 โดย Thai PBS มีทั้งหมด 9 ตอน เป็นสารคดีที่ไปยังสถานที่ต่างๆ ที่พระถังซัมจั๋งได้บันทึกไว้ในหนังสือ จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง และสอดแทรกเรื่องราวของปริศนาธรรมในวรรณกรรมไซอิ๋ว Journey to the West ได้อย่างลงตัว ทำให้เรื่องราวของพระถังซัมจั๋งน่าติดตามมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้เห็นภาพจากสถานที่จริงต่างๆ
- สารคดีสั้นๆ 2 ตอน (ภาพแอนิเมชั่น)
The Historical Xuanzang Was A Badass – The Real Journey to the West 1
How Xuanzang Became the Most Famous Chinese in Indian History – The Real Journey to the West 2 (End)
ประวัติพระถังซัมจั๋ง (ย่อ)
ผู้เขียนชอบสารคดีของจีนมากที่สุด เนื่องจากเห็นภาพของ พระถังซัมจั๋ง ที่ดูสุขุม ลุ่มลึก สุภาพอ่อนโยน นอบน้อมถ่อมตน ประกอบกับมีเนื้อหาบางตอนที่ไม่มีอยู่ในหนังสือประวัติพระถังซัมจั๋งฉบับแปลไทย ดังนั้นลำดับเรื่องราว จะขออ้างอิงตามสารคดี Xuanzang’s Pilgrimage เป็นหลัก และสอดแทรกเนื้อหาจากหนังสือหรือสารคดีทาง Thai PBS โดยทั้งหมดจะเขียนเป็น 3 ชุด หรือ สามภาค
ตอนที่ 1 # เริ่มต้นสู่การเดินทาง
พระถังซัมจั๋ง จริงๆ เป็นชื่อในนิยายไซอิ๋ว ส่วนบุคคลทางประวัติศาสตร์จริง ชื่อ เสวียนจั้ง หรือ เสวียนจ้าง เป็นชาวมณฑลเหอหนาน เกิดปี พ.ศ. 1139 (ค.ศ 596) ตั้งแต่อายุยังน้อยก็มีความสามารถอันโดดเด่นและน่าทึ่ง เนื่องจากท่านศึกษาพระคัมภีร์ต่างๆ ด้วยตนเองและสามารถท่องจำพระคัมภีร์ต่างๆ ได้
หลังจากที่บิดาเสียชีวิต ท่านได้ติดตามพี่ชายคนรองซึ่งเป็นพระภิกษุไปยังเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน จนเมื่อท่านอายุได้ 13 ปี ตอนนั้นมีพระบรมราชโองการให้อุปสมบทพระสงฆ์จำนวนจำกัด โดยมีการสอบคัดเลือกก่อน แต่เนื่องจากท่านอายุยังน้อยจึงไม่ผ่านเกณฑ์ ท่านจึงไปยืนอยู่ที่ริมประตูหอหลวง
ขณะนั้นข้าหลวงผู้คุมงานเห็นเข้า รู้สึกประหลาดใจ ถามว่า “เธอคิดจะบวชเพื่ออะไร” ท่านตอบว่า “เพื่อสืบทอดภารกิจแห่งพระตถาคตเจ้า และนำพระธรรมคำสอนไปเผยแผ่ให้ปกแผ่ไพศาลยิ่งขึ้น” ท่านข้าหลวงสรรญเสริญในความคิดนี้ จึงได้คัดเลือกให้บวชเป็นกรณีพิเศษ
ตามประวัติพระถังซัมจั๋ง ช่วงเวลาที่ท่านเกิดในช่วงนั้น เป็นช่วงที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในจีน แต่ใช่ว่าอยู่ๆ พุทธศาสนาจะมาถึงจุดนี้ได้อย่างง่ายดาย เพราะในสมัยนั้นคนจีนไม่ยอมรับพุทธศาสนา คนส่วนใหญ่นับถือลัทธิขงจื้อกับลัทธิเต๋าอยู่ ซึ่งการที่พุทธศาสนาทิ้งครอบครัวเพื่อออกบวช หรือการที่พระสงฆ์ไม่ต้องทำความเคารพกษัตริย์ ยังเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่ออยู่ เนื่องจากกษัตริย์ถือเป็นบุคคลที่มีความสำคัญสูงสุด
|
ช่วงปลายราชวงศ์สุย เกิดการจลาจลไปทั่วทุกแห่งหน ท่านจึงออกเดินทางไปยังเมืองฉางอาน (ปัจจุบันคือ เมืองซีอาน Xi’an) ถึงแม้จะเป็นเมืองใหญ่แต่พระถังซัมจั๋งก็รู้สึกผิดหวัง เพราะเมืองฉางอานไม่มีสถานที่ศึกษาพุทธศาสตร์ และคัมภีร์ที่มีอยู่ก็สู้ที่ลั่วหยางไม่ได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะในช่วงสงครามคัมภีร์พระสูตรต่างๆ จะถูกเก็บซ่อนไว้
พระถังซัมจั๋งได้ตัดสินใจเดินทางไปนครฮั่นซวน มณฑลเสฉวน ศึกษาธรรมะกับพระอาจารย์หลายท่านจนแตกฉาน และได้เดินทางไปยังเฉิงตู ท่านอ่านหนังสือทุกเล่ม จนไม่ที่ให้ศึกษาเพิ่มเติมอีกแล้ว ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามพระวินัยเมื่ออายุได้ 20 ปี
หลังจากนั้นท่านตัดสินใจเดินทางกลับไปฉางอานอีกครั้ง ท่านได้เดินทางเสาะแสวงหาอาจารย์เพื่อศึกษาเพิ่มเติมที่มณฑลเหอเป่ย มณฑลเหอหนาน จนกระทั่งเมื่อท่านอายุได้ 23 ปี ท่านจึงได้กลับไปฉางอาน ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่เมืองสงบ คัมภีร์และพระสูตรต่างๆ ได้เปิดออกมา ฉางอานจึงเป็นเมืองสำคัญในการศึกษาพุทธรรมอีกครั้ง
สาเหตุที่พระถังซัมจั๋งตัดสินใจเดินทางไปอินเดีย
- เนื่องจากท่านศึกษากับพระอาจารย์หลายท่าน แต่ความเข้าใจของพระอาจารย์แต่ละท่านก็ต่างกันไป
- การแปลคัมภีร์พระสูตรจากภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาจีน มีไม่มากและมีข้อผิดพลาด
- เส้นทางการคมนาคมที่ไปอินเดียไม่สะดวก การนำคัมภีร์กลับมาจึงเป็นเรื่องยาก
พระถังซัมจั๋ง ได้พบกับพระอาจารย์จากอารามนาลันทาซึ่งเดินทางถึงฉางอานทางทะเล และได้แนะนำท่านว่า “เพื่อให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของตำราศักดิ์สิทธิ์ท่านต้องไปที่อารามนาลันทา” ด้วยคำกล่าวนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้ท่านอยากเดินทางไปตะวันตกมากยิ่งขึ้น
พระถังซัมจั๋งได้ถวายฎีกาต่อองค์ฮ่องเต้ เพื่อขออนุญาตเดินทางแต่ก็ไม่สำเร็จ จนในรัชสมัยถังไท่จง ฉางอานประสบภัยธรรมชาติ ราชวงศ์จึงให้ราษฏรออกไปหากินนอกพื้นที่ ท่านเลยถือโอกาสนี้ หนีปะปนไปกับชาวบ้าน แต่ไม่ว่าท่านไปที่ไหน ก็จะมีคนอาราธนาท่านไปแสดงธรรมเทศนา ผู้คนก็พากันมาฟังธรรมเทศนาจากท่านและพากันยกย่องสรรเสริญท่านต่างๆ นาๆ
- ในอดีตเส้นทางสายไหม มีสามทาง โดยเริ่มต้นจากเมืองซีอาน แบ่งเป็น 3 สาย คือ ทางบก มีสายเหนือและสายกลาง ส่วนทางใต้เป็นการเดินทางทางทะเล พระถังซัมจั๋ง ได้เดินทางผ่าน จีน โซเวียด อัฟกานิสถาน ปากีสถาน แคชเมียร์ อินเดีย บังคลาเทศ
เส้นทางหฤโหด ได้แก่
- ผ่านทะเลทรายโกบี
- ข้ามเทือกเขาเทียนซาน
- ข้ามเทือกเขาฮินดูกุช
พระถังซัมจั๋งถูกบีบบังคับให้กลับฉางอาน แต่เผอิญมีภิกษุหัวหน้าสงฆ์ท่านหนึ่งช่วยหาช่องทางลักลอบเดินทางให้กับท่าน ท่านเดินทางในตอนกลางคืนและซ่อนตัวในเวลากลางวัน ในที่สุดก็ไปถึงกัวโจว อย่างไรก็ตามเอกสารจากหัวเมืองที่สั่งให้จับท่านมาถึงในเวลาเดียวกัน โชคดีที่เจ้าหน้าที่กัวโจวเป็นพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาพุทธศาสนา จึงระงับเอกสารดังกล่าว ท่านพักอยู่กัวโจวนานนับเดือน ท่านรู้สึกสลดหดหู่ อับจนหนทาง และเป็นทุกข์ที่ไม่ได้เดินทางและไม่มีคนนำทาง
ตอนที่ 2 # ข้ามทะเลทรายโกบี
โดยไม่คาดหมาย ท่านได้ผู้อาสานำทาง และมีผู้เฒ่าท่านหนึ่งมอบม้าแก่สีแดงผอมกระหร่องให้แก่ท่าน อย่างไรก็ตามอันตรายที่แท้จริงยังคงอยู่ตรงหน้าท่าน ไม่เหมือนในเรื่อง Journey to the West ซึ่งภัยคุกคามนั้นไม่ได้มาจากปีศาจ แต่ธรรมชาติที่เป็นเรื่องธรรมดาดูจะอันตรายไม่แพ้กัน ท่านออกเดินทางได้ไม่ทันไร คนนำทางก็เกิดหวั่นไหว รู้สึกกลัวตายขึ้นมา ท่านจึงปล่อยให้กลับบ้าน ถึงตอนนี้เหลือเพียงท่านลำพังตัวคนเดียว
พระถังซัมจั๋ง ก้าวเข้าสู่อันตรายแรกนั่นคือ ทะเลทรายโกบีอันกว้างใหญ่ที่แห้งแล้งด้วยอุณหภูมิที่รุนแรงทั้งความร้อนที่แผดเผาของวันและความหนาวเย็นตอนกลางคืน ซึ่งเป็นอันตรายต่อนักเดินทาง อุณหภูมิที่สูงมากประกอบกับการขาดน้ำอาหารและที่พักพิงทำให้ทะเลทรายกลายเป็นกับดักแห่งความตายสำหรับนักเดินทางในศตวรรษนั้น ความตายนอนอยู่ริมถนนทางทิศตะวันตกอย่างแท้จริง
อันตรายจากธรรมชาติยังไม่เพียงพอ มีป้อมยามห้าแห่งในทะเลทราย ท่านต้องหาช่องทางผ่านหอสังเกตุการณ์ทั้งห้านี้ให้ได้ หลังจากเดินทางได้ 40 กม. ทหารยามได้ยิงธนูลงมาเฉียดท่าน แต่ด้วยความที่ท่านมีจิตใจมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ที่จะเดินทาง จึงรู้สึกซาบซึ้ง และชี้ช่องทางลับไปยังหอสังเกตการณ์ที่ 4 ท่านได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากนายทหาร ซึ่งนายทหารแนะนำให้ท่านหลีกหอสังเกตการณ์ที่ 5 ซึ่งต่อจากนั้นคือ ด่านมหาโหดทะเลทรายโกบี
พระถังซัมจั๋งต้องเจอกับพายุทะเลทรายในช่วงกลางวัน และกลางคืนก็จะมีดวงไฟลอยไปลอยมาเต็มท้องฟ้า ท่านเดินทางโดยไม่เหลือน้ำดื่มสักหยด จนกระทั่งผ่านไป 5 วัน 4 คืน ท่านเหนื่อยล้าและได้หลับไป ในความฝันท่านเห็นยักษ์ตนหนึ่งตวาดว่ามานอนอยู่ทำไม จนท่านตกใจตื่นและออกเดินทางต่อไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร อยู่ๆ ม้าแก่ก็รีบวิ่งห้อ จนกระทั่งพบแหล่งน้ำ
สุดท้ายท่านเดินข้ามทะเลทรายมาได้ จนถึงแคว้นอีอู๋ Yiwu (เมืองฮามี่ Hami มณฑลซินเจียง Xinjiang ในปัจจุบัน) ถ้าเทียบกับแผนที่ปัจจุบันจากเมืองซีอานถึงฮามี่ มีระยะทางเกือบ 2 พัน กิโลเมตร เลยทีเดียว
หลังจากพักที่แคว้นอีอู๋ได้สักสิบกว่าวัน ผู้ครองแคว้นเกาชาง (เมืองถูหลู่ฟาน Turpan ปัจจุบัน) ได้ส่งทูตมาอาราธนาพระถังซัมจั๋ง ด้วยความเลื่อมใสและอยากพบเจอท่าน ความจริงแล้วเส้นทางที่จะไปตะวันตก มีอยู่ 3 เส้น คือ จาก สายเหนือ สายกลาง และสายใต้ ท่านตั้งใจจะไปสายเหนือแต่เนื่องด้วย ได้รับเชิญจากแคว้นเกาชาง ทำให้ท่านต้องเปลี่ยนแผนการเดินทาง
ตอนที่ 3 # พี่น้องร่วมสาบาน
เจ้าผู้ครองแคว้นเกาชางต้อนรับขับสู้พระถังซัมจั๋งเป็นอย่างดี ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ถึงกระนั้นเจ้าผู้ครองแคว้นเองก็คอยเหนี่ยวรั้งมิให้พระถังซัมจั๋งเดินทางต่อ จนพระถังซัมจั๋งถึงกับต้องอดอาหารประท้วง
ในที่สุดเจ้าผู้ครองแคว้นเกิดความละอายใจ จึงยอมให้พระถังซัมจั๋งเดินทางต่อไป และได้ปฎิญาณ สาบานเป็นพี่น้องกับท่าน และมีข้อแม้ว่าขากลับให้ท่านอยู่เกาชัง 3 ปี หากท่านตรัสรู้ก็ขอได้เป็นผู้อุปัฏฐาก เช่นเดียวกับพระเจ้าปเสนทิโกศล และท่านต้องอยู่ที่แคว้นเกาชางต่ออีก 1 เดือน เพื่อแสดงธรรมเทศนา
ซึ่งต่อมาเจ้าผู้ครองแคว้นได้จัดสร้างศาลาธรรมขึ้นมาใหม่จุคนได้ประมาณ 300 คน มีผู้คนมากมายมาฟังพระธรรมเทศนาจากท่าน
เจ้าผู้ครองแคว้นเกาชางได้เขียนหนังสือ ถึง 24 แคว้น พร้อมทั้งของขวัญถึงเยฮูข่าน และของอีกนับไม่ถ้วน เพื่อฝากฝังให้แต่ละแคว้นดูแล และต้อนรับพระถังซัมจั๋งอย่างดีเสมือนหนึ่งต้อนรับพระองค์เอง นี่เป็นครั้งที่สองที่พระถังซัมจั๋ง แสดงออกถึงความรู้สึก ครั้งนี้เป็นความอาลัยอาวรณ์ ที่จะต้องจากแคว้นเกาชางแห่งนี้ แต่คราวนี้ท่านไม่ได้เดินทางคนเดียวแล้ว ท่านมีคณะเดินทาง 25 คน และม้าอีก 30 ตัว
เมื่อคณะเดินทาง เดินผ่านภูเขาเงิน ท่านได้เจอกับกองโจร แต่โดยไม่คาดคิด โจรต้องการปล้นเอาแค่เงินเท่านั้น จึงโชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ในขณะที่กองคาราวานอื่นๆ ถูกโจรปล้นและทำร้ายจนเสียชีวิต
|
ตอนที่ 4 # เส้นทางอันตราย ภูเขาเทียนซาน
ในสารคดีของ Thai PBS ตามรอยพระถังซัมจั๋งบนเส้นทางสายไหม ตอนที่ 2 ภูเขาห้ายอด เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงเมืองโฮตาน (Hotan) หรือเมืองเหอเถียน ในสมัยโบราณมีชือเรียกว่าหยูเถียน ซึ่งอยู่ในมณฑลซินเจียง จริงๆ แล้วเหอเถียนเป็นเส้นทางการเดินทางขากลับของพระถังซัมจั๋ง สิ่งที่น่าสนใจของสารคดีตอนนี้คือ มีการสอดแทรกปริศนาธรรมตอนหนึ่งของวรรณกรรมเรื่องไซอิ๋ว ด้วยภาพแอนิเมชั่นน่ารัก และอธิบายได้อย่างยอดเยี่ยม ! ต้องดูถึงจะรู้ว่า ภูเขาห้ายอด ในสารคดีตอนนี้คืออะไร
กลับมาที่เส้นทางขาไปของพระถังซัมจั๋ง หลังจากที่ท่านออกเดินทางจากแคว้นเกาชางแล้ว ท่านก็ได้เดินทางไปยังแคว้นอัคนี (เดิมเรียกว่าอันฉี) ต่อไปยังแคว้นคุจี ถ้าดูจากแผนที่ปัจจุบัน คิดว่าเป็น Qiūcí มีชื่อเรียกหลายๆ ชื่อ เช่น Kuqa, Kuchar, Kuchi , Kucha (Wiki)
เมืองคุชา Kucha โบราณเป็นเมืองที่อยู่ตรงกลางระหว่างเส้นทางสายเหนือและสายกลาง จึงเป็นจุดแวะพักของกองคาราวานพ่อค้า มีทรัพยากร เช่น ทองคำ ทองแดง ตะกั่ว ดีบุกและหนังถูกส่งออกจากเมืองนี้
“ภายในแคว้นคุจีมีอารามกว่า 100 แห่ง พระภิกษุกว่า 5,000 รูป ใฝ่ใจศึกษาในลัทธิหินยานนิกายสรรวาสติวาท พุทธคัมภีร์และหลักธรรมคำสอนต่างๆ อีกทั้งวินัยและพิธีการต่างๆ ก็ล้วนรับเอาแบบแผนจากอินเดียทั้งสิ้น”
ในช่วงสมัยนั้นแคว้นคุจีพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก อย่างไรก็ตามปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพังของ Subashi Ancient City และถ้ำพระคีซิลเป็นถ้ำที่มีค่าที่สุดและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
จากแผนที่ด้านบนจะเห็นเขตแดนของประเทศ คีร์กีซสถาน พระถังซัมจั๋งพักอยู่ที่แคว้นคุจีได้ประมาณ 3 เดือนเพื่อรอให้หิมะละลายและเส้นทางเปิด เมื่อถึงเวลาออกเดินทาง เจ้าครองแคว้นคุจีก็ได้ถวายม้าและลูกหาบ
1300 ปีก่อน พระถังซัมจั๋ง และคณะ เดินทางผ่านเทือกเขาเทียนซาน พวกเขาไม่มีใครเลยที่เคยปีนภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ นั่นแปลว่าพวกเขาไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้า ภูเขาสูงชันจรดถึงท้องฟ้า มองไม่เห็นขอบเขต ก้อนน้ำแข็งที่พังทลายลงมาขวางทาง บ้างก็สูงกว่า 30 เมตร และกว้างหลายเมตร เส้นทางนั้นเป็นทางสูงๆ ต่ำๆ ต้องปีนป่ายด้วยความยากลำบาก แม้จะใส่เสื้อผ้าอย่างหนาอย่างไร ก็ไม่วายหนาวสะท้าน และไม่มีที่แห้งพอจะอาศัยได้เลย
การข้ามภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะเป็นเรื่องยากมากสำหรับพวกเขา บางคนยอมจำนนต่อความเหนื่อยล้าและไม่สามารถไปต่อได้ ทุกคนต้องทนทุกข์ทรมานจากความหนาวจัด ภูเขาสูงชันประกอบด้วยยอดปกคลุมด้วยหิมะจำนวนมากที่มีความสูงมากกว่า 5,000 เมตร อากาศเบาบางและมีทางเดินน้อย ลมแรงและหิมะถล่มบ่อยครั้ง หินและทรายที่ตกลงมาเป็นอันตรายถึงชีวิต
เจ็ดวันให้หลัง พระถังซัมจั๋งและคณะก็ผ่านพ้นภูเขามาได้ ราวสามในสิบ เสียชีวิต ม้าและอูฐยิ่งเสียชีวิตมาก
|
คณะเดินทางได้มาถึงทะเลสาบอือซึก-เกิล และเดินทางเลียบชายฝั่งจนถึงเมืองซูยับ และรอเพื่อจะเข้าพบท่านเยฮูข่าน
|
อ่านต่อ ตอนถัดไป