ปฏิจจสมุปบาท – Wheel of life
Time reading :: 3 minutes
เราผู้ที่ยังไม่ได้แม้กระทั่งโสดาบัน จะตัดวงจร “ปฏิจจสมุปบาท” นี้ได้อย่างไร
ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ กล่าวว่าเป็นธรรมะที่ยากที่จะเข้าใจเพราะลึกซึ้งมาก พุทธศาสนามหายาน ได้วาดภาพที่เรียกว่า กงล้อแห่งชีวิต (Wheel of life) หรือ ภวัตจักรา (Bhavacakra) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ แมนดารา (mandala)
แผนภาพนี้นำเสนอแนวคิดพื้นฐานของพุทธศาสนา เช่น กรรมและการเกิดใหม่ ในลักษณะที่คนที่ไม่มีการศึกษาหรือผู้ไม่รู้หนังสือสามารถเข้าใจได้ แต่จริงๆ แล้วความหมายเชิงสัญลักษณ์ของภวัตจักราก็ซับซ้อนเช่นกัน
Mandala เป็นสัญลักษณ์ของจักรวาลสำหรับชาวพุทธและชาวฮินดู ส่วนใหญ่มีลวดลายหรือการออกแบบทางเรขาคณิตที่มีสีสันและมีรายละเอียด แมนดาราดั้งเดิมคือสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีวงกลม และการออกแบบนั้นต้องมีความสมมาตรและสมดุลเท่ากันทุกด้าน |
ในประเทศไทย มีผู้คนสาธยายธรรมนี้กันมาก รวมถึงการนำภาพ wheel of life มาอธิบายกันอย่างละเอียดอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่มักไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง คือ วิธีการใดที่จะตัดวงล้อแห่งทุกข์และอวิชานี้ได้บ้างและทำได้อย่างไร
อาการของปฏิจจสมุปบาท
ปฏิจจสมุปบาท อ่านว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-หมุบ-บาด ตอนแรกผู้เขียนอ่านว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-มุ-ปะ-บาด กว่าจะรู้ตัวก็พูดจนติดปากไปแล้ว พระพุทธทาสภิกขุ ท่านได้อธิบายอาการของปฏิจจสมุปบาทอย่างเข้าใจง่ายๆ โดยขอนำมาเรียบเรียงดังนี้
ปฏิจจสมุปบาท คือ อาการที่มันอาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น น้ำ เมื่อถูกความร้อน น้ำนั้นก็ระเหยเป็นไอน้ำ จะเห็นว่าไอน้ำนั้นเป็นของเพิ่งเกิดเป็นมายาที่เพิ่งเกิด เพราะถูกความร้อน เมื่อไอน้ำลอยขึ้นไปก็เกิดเป็นเมฆ เมฆนั้นก็เป็นของเพิ่งเกิด เป็นมายาที่เพิ่งเกิด เพราะมีไอน้ำจับตัวกันเมื่อเมฆมันจับตัวกันมากเข้าๆ และเมื่อถูกความเย็นมันก็กลายเป็นฝน
ฝนนั้นมันก็เพิ่งเกิด เพราะอาศัยเมฆ ทีนี้ถ้าฝนตกลงมาทำให้ถนนลื่น ความลื่นของถนนก็เพิ่งเกิด เพราะฝนตก แล้วนาย ก หกล้ม มันก็เพราะถนนมันลื่น หรืออะไรก็ตามแต่ นาย ก. ก็ไปหาหมอ ให้หมอรักษา เพราะหมอถูกหา หมอก็ต้องทำการรักษา มันก็จะเป็นเหตุให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ อาการที่เป็นแต่เพียงมายา อาศัยสิ่งอื่นเกิดขึ้นชั่วคราว เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
หัวใจของ ปฏิจจสมุปบาท
อิทัปปัจจยตา คือ หัวใจของปฏิจจสมุปบาท อธิบายได้ว่า
ปฏิจจสมุปบาท คือ อิทัปปัจจยตาแต่ละอันที่ร้อยเรียงกัน หรือกล่าวว่า เป็นหลักธรรมที่อธิบายถึงการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น เช่น ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย 12 เรื่องเกิดขึ้นสืบ ๆ เนื่องกันมาตามลำดับ
เช่น ถ้าผัสสะมี เวทนาจะมี สุข ทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้น อะไรเป็นเหตุ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาลอยๆ เช่น เรารู้สึกไม่สบายใจ ก็เพราะเราได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ หรือเราเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจ เพราะฉะนั้น ถ้าผัสสะไม่มี เวทนาก็จะไม่มี ถ้าไม่มีผัสสะทาง หู ตา จมูก ก็ไม่เกิดเวทนา จึงกล่าวได้ว่า ทุกวันนี้ ที่เราสุข หรือทุกข์ อยู่ที่ผัสสะ นี่เอง
ทุกขสัจ
ในทางพุทธศาสนาได้จำแนกทุกข์ออกเป็น 2 อย่าง คือ
1. สภาวะทุกข์ คือ ทุกข์ประจำขันธ์ พูดง่ายๆ ก็คือ ร่างกายของเราคือก้อนทุกข์ เพราะมันทนอยู่ยาก สุดท้ายมันต้องแตกดับไป สภาวะทุกข์นั้น มี 3 อย่างคือ
- ชาติทุกข์ ชาติ คือ การเกิด คือ เป็นทุกข์ตั้งแต่เกิด มีความทุกข์ ทรมาน ด้วยโรคภัยต่างๆ
- ชราทุกข์ คื การแก่ เป็นทุกข์ ไม่ได้หมายความว่าอายุ 70 ปีแล้วถึงจะทุกข์ แต่จริงๆ แล้ว คือ ความแก่มีมาแต่เบื้องต้นแล้ว และแก่มาโดยลำดับ เพียงแต่มันปกปิดเราอยู่ เช่น ผมหงอก ฟันหลุด ผิวหนังเหี่ยวย่น
- มรณทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ คือ ความตายมีมาแต่เบื้องต้น เราตายมาทีละนิดทีละหน่อย ค่อยๆ หมดแรง อ่อนล้า ทรุดโทรมลง สุดท้ายบั้นปลาย ก็ถึงจบสิ้นชีวิต ความตายจึงเป็นของแน่นอน อันคนเราจะพึงตายเป็นแท้
2. ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร คือ ทุกข์ที่มากระทบกระทั่งจิตใจเป็นครั้งคราว แล้วจากไป ถ้าจิตเราเข็มแข็งดี ก็ย่อมจะไปหวั่นไหว แต่หากจิตใจอ่อนแอ เราจะพบกับอาการทุกข์ 8 อย่างนี้
- โสกะ – ความโศก
- ปริเทวะ – ความร่ำไรรำพัน
- ทุกข์ – ความไม่สบายกาย
- โทมนัส – ความไม่สบายใจ
- อุปายาส – ความคับแค้นใจ
- ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ
- ความพลัดพลากจากสิ่งที่รักที่พอใจ
- ความปรารถสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น
ภพ เปรียบเสมือน ผืนนา
เมื่อความเกิดขึ้นแห่งภพใหม่ มีอยู่ “ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น” ย่อมเกิดขึ้น
ตาย มีเพราะ “ชาติ” ชาติ ก็คือ การเกิด เกิด มีเพราะ “ภพ” ภพ ก็คือ มีสถานที่เกิด หรือ ภพ เปรียบเหมือน “ผืนนา” เมื่อเมล็ดพืชตกลงไปในผืนนา เมล็ดพืชนั้นเมื่อมีสถานที่เกิด เมล็ดนั้นถึงจะงอกได้
เมล็ดพืช ก็เปรียบเหมือน “วิญญาณ” ซึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ในผืนนา เมล็ดพืชจะเจริญงอกงามได้ก็เมื่อมีน้ำ เปรียบเสมือนวิญญาณเจริญงอกงามได้ด้วยความกำหนัดและความเพลิน
พระพุทธองค์ได้อุปมาอีกนัยหนึ่งคือ
เมล็ดพืช เปรียบเหมือน “วิญญาณ” ภพ เปรียบเหมือน “กรรม” ยางในเมล็ดพืช เปรียบเหมือน ตัณหา
เมล็ดพืชตกลงไปบนเนื้อนา เปรียบได้กับวิญญาณตั้งอาศัยอยู่ในกรรม เมล็ดพืชถึง ความเจริญงามไพบูลย์ ได้ด้วยยางในเมล็ดพืช และผืนนานั้น เป็นผืนหน้าที่ ดี ปานกลาง หรือเลว ซึ่งมีผลให้การเกิดนั้นแตกต่างกัน
ดังนั้นการที่เราจะดับกองทุกข์ทั้งมวลได้นั้น ก็คือ เราก็ไม่ให้เมล็ดนั้น งอก ขึ้นมาได้นั่นเอง
เราจะควบคุมยังไง ?
ถ้าผู้ใดยังไม่ตรัสรู้อริยสัจ 4 ด้วยปัญญาอันชอบแล้ว ก็จะต้องวนเวียนอย่างนี้เรื่อยไป เรียกว่า สังสารวัฏฏ์ เป็น การหมุนเวียนที่น่าสงสาร แล้วเราผู้ที่ยังไม่ได้แม้กระทั่งโสดาบัน จะตัดวงจร “ปฏิจจสมุปบาท” นี้ได้อย่างไร
1.ควบคุมที่ผัสสะ
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ว่า คำว่า “ควบคุม” กับคำว่า “ทำลาย” นี้ มันต่างกันมาก ธรรมะพวกหนึ่งสำหรับควบคุมกิเลสตัณหา แต่ไม่สามารถทำลายให้หมดสิ้นเชิง
วิธีปฏิบัติในการควบคุมตัณหาในชีวิตประจำวันของเรา อย่างแรกเลย เราต้องควบคุม ผัสสะ คือ การกระทบของอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) กับ อายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) เช่น ตา เห็นรูป แล้วควบคุมอย่าให้เกิดเป็นว่า สวยหรือไม่สวย น่ารักหรือไม่น่ารัก พอใจหรือเกลียดชังขึ้นมา สังเกตว่าเราหยุดเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว คือ ตาเห็นรูป
ยกตัวอย่าง เช่น เราเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ เราเดินผ่านสวนแห่งหนึ่ง ได้กลิ่นหอมของดอกไม้ พอหันไปดู ก็เห็นดอกกุหลาบตูมๆ สีสวย เราเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า “ชอบ” กิเลสมันเกิดแทรกขึ้นมาแล้วตอนนี้ เวทนานี้เกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นสุขเวทนา
ดังนั้นการควบคุมผัสสะ ก็คือ มีสติรู้ทัน เมื่อกระทบแล้วหยุด เห็น ก็สักแต่ว่าเห็น ไม่ทำให้อารมณ์นั้นๆ มีอิทธิพลขึ้นมาครอบงำจิตใจของตน ไม่ให้การเห็นนั้นปรุงจิตจนเกิดความรู้สึกรักหรือชัง เป็นสุขเวทนา หรือทุกขเวทนา
ในทำนองเดียวกันกับ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ พึงฝึก สติ เพื่อไม่ให้ตาไปเห็นรูป ลิ้นไปรับรส แล้วเกิดฉุดเราไปในทางที่รัก หรือไม่ชอบ เมื่ออายตนะ คือ ตาและรูปที่เป็นที่ตั้งแห่งกระทบนั้น ดับไป เมื่ออายตนะนามรูปอันเป็นที่ตั้งของอายตนะนั้นก็ดับไปด้วย วิญญาณ สังขาร อวิชชาซึ่งปรุงแต่งสังขาร ก็ดับไปด้วย
ทีนี้ถ้าเราเกิดควบคุมผัสสะไม่ได้ล่ะ ? เราจะทำยังไง
2.ควบคุมที่เวทนา
เมื่อตาได้เห็นดอกไม้ที่สวยงาม แต่สติเราระลึกไม่ทัน มันเกิดความรู้สึก “ชอบ” ขึ้นมา ทีนี้ก็ต้องควบคุมคือ อย่าให้เกิดตัณหาขึ้นมา คือ ความอยาก เพราะเมื่อไหร่ที่ใจเราเริ่มอยาก จิตของเราก็จะเริ่มเคลื่อนออกไปแสวงหาอารมณ์ต่างๆ นี่แหละคือ ตัณหา คือ โลภะ
อธิบายง่ายๆ คือ เป็นความอยาก 3 อย่าง อยากได้ อยากมี อยากเป็น เช่น ดอกไม้ที่เห็นเมื่อกี้มันหอม มันสวย เกิดติดใจ “อยากได้” ขึ้นมา เริ่มเกิดอุปทาน คือ ตัณหาที่มันแรงกล้า คิดที่จะเด็ดหรือขโมย เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ควบคุมที่เวทนานี้ ด้วย สติ คือ เมื่อเกิดเวทนาขึ้น ก็สักแต่ว่าเวทนา คือ มันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ไปยึดถือด้วยตัณหา เพราะย่อมยังให้เกิดอุปาทาน สร้างภพขึ้นมา โดยภพในที่นี้ ก็คือ กรรม นั่นเอง
ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม
ธรรมะที่ชื่อว่า ปฏิจจสมุปบาท นี้ ต่อให้ท่องจำได้เก่งแค่ไหน แต่หากไม่เคยได้ฝึกปฏิบัติ ย่อมไม่สามารถเข้าใจได้ กล่าวว่าแม้แต่คนที่ฝึกสมาธิอย่างเดียวก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้
ผู้ที่ฝึกวิปัสสนาและหมั่นพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรม อยู่เสมอนั้น ย่อมสามารถที่จะ เห็น ธรรมนั้น เพราะมันเกิดขึ้นรวดเร็วมาก เวลาที่มันเกิดๆ ดับๆ และหมุนวนกันนี้
หลวงพ่อชาเอง ท่านอุปมาว่า เหมือนคนตกต้นไม้ หล่นทีไม่รู้หรอกว่าผ่านกี่กิ่ง แต่มันรู้อีกทีตอนถึงพื้นแล้ว เพราะฉะนั้นเราแค่จับกิ่งกลางๆ หรือปลาย ๆ เฉพาะจุดที่พอจะจับได้ เช่น ผัสสะ เวทนา แล้วค่อยๆ อาศัยความเพียร เพียรไปเรื่อยๆ ทุกวัน เห็นตรงไหนตัดตรงนั้น จนเข้าใจ และเห็นอวิชาและดับกองทุกข์ทั้งหมดให้สิ้นไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ::
|