วิถีแห่งเซน :: บรรลุธรรมแบบฉับพลัน

วิถีแห่งเซน :: บรรลุธรรมแบบฉับพลัน

Time reading : 7 minutes

วิถีแห่งเซน : การตื่นรู้ผ่านสมาธิและการดำรงอยู่ในปัจจุบันขณะ ปล่อยวางจากการยึดติดในความคิดและเข้าถึงความจริงของชีวิตอย่างเรียบง่าย

พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมมากมาย แต่สิ่งที่พระองค์เลือกนำมาสอนนั้นเปรียบเสมือน “ใบไม้กำมือเดียว” คือ เรื่องทุกข์และการดับทุกข์เท่านั้น ในพุทธศาสนาเถรวาท การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์จนบรรลุธรรมมีสองแนวทางหลัก คือ เจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ โดยอาศัยองค์ฌานและวิปัสสนา

แนวทางแห่งการบรรลุธรรม
แนวทางแห่งการบรรลุธรรม

ผู้เขียนขอสารภาพว่า ความรู้เรื่องเซนของผู้เขียนยังน้อยนัก จึงได้ศึกษาจากหนังสือและสื่อต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ แม้จะยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเข้าถึงแก่นแท้ของเซน แต่ความสงสัยในเรื่อง “วิถีแห่งเซน” ได้จุดประกายความสนใจให้ผู้เขียนศึกษาเรื่องราวรอบตัว “เซน” มากขึ้น

เมื่อนึกถึงเซน “เซน” แวบแรกที่นึกถึง คือ ประเทศญี่ปุ่น ผู้เขียนเคยไปเที่ยว วัดเรียวอันจิ – Ryoanji Temple ซึ่งมีชื่อเสียงจากสวนหินอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งตอนนั้นไม่เข้าใจว่า มานั่งดูหินทำไม แต่สิ่งที่สัมผัสได้ คือ ความรู้สึกสงบ และผ่อนคลายอย่างน่าประหลาด

ที่จริงแล้ว สวนนี้มีหินทั้งหมด 15 ก้อน วางเป็นกลุ่มเล็กๆ และไม่ว่าจะมองจากจุดไหน หินอย่างน้อยหนึ่งก้อนจะถูกซ่อนจากผู้ชมเสมอ และไม่มีคำอธิบายใดๆ ว่าผู้ออกแบบต้องการสื่อสารถึงเรื่องอะไร และนี่จึงเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่เราสามารถจินตนาการหรือขบคิดว่า อาจจะมีปริศนาธรรมอะไรซ่อนอยู่ก็เป็นได้

วัดเรียวอันจิ
วัดเรียวอันจิ– Ryoanji Temple
ดารุมะ
  • เซน เริ่มต้นจากอินเดียและเผยแพร่ไปยังประเทศจีน และญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันเซนกลับงอกงามในประเทศญี่ปุ่น ดังจะเห็นได้จากตุ๊กตา “ดารุมะ (Daruma)” ซึ่งเป็นตุ๊กตาประจำชาติ และถือเป็นเครื่องรางของคนญี่ปุ่น มีต้นแบบมาจากภาพวาดของพระโพธิธรรม ส่วนเหตุที่ตุ๊กตาใช้สีแดง เพราะเพราะในสมัยก่อน พระโพธิธรรมทรงสวมจีวรที่มีสีแดง

จุดเริ่มต้นของเซน # ท่านโพธิธรรม

จุดเริ่มต้นของเซน คือ ประเทศอินเดีย โดยท่านโพธิธรรม หรือ ที่เรารู้จักกันดีในหนังกำลังภายใน คือ ท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ ซึ่งเป็นพระภิกษุชาวอินเดีย นิกายมหายาน ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติจนบรรลุธรรม และเป็นพระสังฆปรินายกองค์ ที่ 28 ท่านได้นำ เซน มาเผยแพร่ในประเทศจีน

โดยจุดเริ่มแรกสุดของเซนนั้นคือ พระพุทธเจ้าได้ชูดอกไม้ขึ้นดอกหนึ่งท่ามกลางพุทธบริษัทแทนคำเทศนา แต่ปรากฎว่า ไม่มีใครเข้าใจความหมายนอกจากพระมหากัสสปะ ซึ่งยิ้มน้อยๆ อยู่ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนกัสสปะ ตถาคตมีธรรมจักษุอันบริสุทธิ์และจิตที่หยั่งถึงนิพพาน ลักษณะที่แท้จริงย่อมไม่มีลักษณะ เธอพึงรักษาสัจธรรมนี้ไว้ให้ดี”

เหตุการณ์นี้ถือเป็นการถ่ายทอดธรรมะแบบเซนครั้งแรก ที่เน้นการเข้าใจโดยตรง โดยไม่ผ่านคำพูดหรือตัวอักษร

วิถีแห่งเซน
เซน สอนให้เข้าถึงการบรรลุธรรมหรือที่เรียกกันว่า “ซาโตริ” คือการรู้แจ้งความเป็นจริงในสรรพสิ่งอันเป็นหนึ่งเดียว คือ ความว่าง หรือ ความปล่อยวางจากความยึดถือในตัวตนและสิ่งต่างๆ (รูปจากรายการ พื้นที่แห่งชีวิต ตามรอยโพธิธรรม)
ในทางมหายาน อัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้ายไม่ใช่พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ แต่จะเป็นพระมหากัสสปะและพระอานนท์

ในรายการพื้นที่แห่งชีวิต ตามรอยโพธิธรรม โดย Thai PBS ตอน ปริศนาแผ่นดินเกิด (24 พ.ค. 61) ได้เดินทางไปยังประเทศอินเดีย จีน และญี่ปุ่น เพื่อไขปริศนา และตามรอยการเดินทางของท่านโพธิธรรม ซึ่งประวัติของท่านเองนั้นก็ไม่ได้ชัดเจนมาก คนอินเดียเองแทบจะไม่รู้เรื่องราวของท่านเลย เพราะหลักฐานเอกสารทั้งหมดมีบันทึกไว้ในประเทศจีนเท่านั้น สมมติฐานที่ดูเป็นไปได้มากสุดคือ ท่านกำเนิดที่เมืองกาญจีปุรัม ออกเดินทางไปประเทศจีน ที่ท่าเรือ เมืองมหาพลีปุรัม และในอินเดียสมัยก่อน ก็มีมวยอินเดีย ซึ่งก็เป็นข้อสันนิฐานว่า ท่านโพธิธรรมนำมวยอินเดีย นี้ไปเผยแพร่ยังจีน

เมืองมหาพลีปุรัม
วิหารริมทะเล หรือวัดชายฝั่ง เป็นวัดที่แกะสลักจากหิน เมืองมหาพลีปุรัม

อีกสมมติฐาน โดย อ.ราอูล ผู้ก่อตั้งสำนักมวย “ไสลุม” โดยแนวคิดคือ ไสลุม อาจจะเป็นต้นกำเนิดของมวยเส้าหลิน ซึ่งชื่ออาจจะเพี้ยนจากไสลุม เป็นเส้าหลิน และมีแนวความคิดที่ว่าท่านโพธิธรรมเกิดที่หุบเขาสายไสลุม นี้


วัดเส้าหลิน

เล่ากันว่าท่านโพธิธรรม พระภิกษุชาวอินเดีย ใช้เวลาถึง 3 ปีในการเดินทางจากอินเดียมาถึงจีน ท่านมีโอกาสได้สนทนาธรรมกับจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ แต่ดูเหมือนว่าจักรพรรดิจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านสื่อ ทำให้ท่านต้องปลีกวิเวกและเดินทางขึ้นเหนือ จนในที่สุดก็ได้ก่อตั้งวัดเส้าหลินขึ้นมา

ในสารคดีของ BBC ได้ถ่ายทำเกี่ยวกับวัดเส้าหลินเรื่อง The extraordinary final test to become a Shaolin Master | Sacred Wonders – BBC โดยเป็นเรื่องราวการฝึกซ้อมของพระรูปหนึ่งเพื่อจะสอบเลื่อนขั้นรอบสุดท้าย โดยที่พระรูปนี้ได้ทำการฝึกฝนกังฟูมา 10 กว่าปี และต้องเลือกใช้เทคนิคขั้นสูง นอกจากวิชากังฟูแล้ว ก็ต้องยังสอบเรื่องพระธรรมคำสอนต่างๆ ภาพในสารคดีสวยงามมาก และเรื่องราวก็ชวนติดตามว่าการสอบของพระรูปนี้จะเป็นยังไงบ้าง (ความยาวประมาณ 8 นาที)

วัดเส้าหลิน

แต่! หลังจากดูสารคดีนี้จบ ผู้เขียนก็บังเอิญเปิดไปเจอวิดีโอ ที่โพสต์โดย Ranton โดยเนื้อหาชวนน่าสงสัยว่า สารคดีที่ BCC ฉายด้านบนนี้ Fake หรือ Real กันแน่ ชื่อวิดีโอ Real Shaolin Disciple Reacts to BBC Shaolin Master Documentary ซึ่ง Ranton เป็นคนเยอรมันและเคยฝึกกังฟูที่วัดเส้าหลินมาประมาณ 3 ปี เขาจึงรู้ทุกสิ่งในวัดเส้าหลิน ที่น่าสนใจ คือ ในสารคดี ของ BBC บรรยายไว้ว่า กังฟู ไม่ใช่แค่ศิลปะการต่อสู้ แต่มันคือ จิตวิญญาณ Spiritual  ซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึง การฝึกฝนจิตใจตนเองตามแนวทางพุทธศาสนา Ranton ถึงกับบอกว่าเอาตรงๆ นะ คนที่รู้จักฝึกหนักมาก เครซี่มาก ไม่มีใครพูดถึงเรื่อง Spiritual กันเลย และการเทรนปกติก็จะมี Hall สำหรับฝึกซ้อมต่างหาก สถานที่ที่เห็นจากรูปนี้ปกติบริเวณนี้มีแต่นักท่องเที่ยว

วัดเส้าหลิน
Real Shaolin Disciple Reacts to BBC Shaolin Master Documentary

บางส่วนที่ Ranton เล่า ตรงกับคำบรรยายในสารคดี พื้นที่แห่งชีวิต ตามรอยโพธิธรรม ตอน เส้าหลินแห่งซงซาน (31 พ.ค. 61) ที่คนส่วนใหญ่มาที่นี่เพื่อฝึกกังฟู และมีโรงเรียนสอนกังฟูรอบวัดนี้ บางทีฝึกซ้อมกันตั้งแต่เช้าถึงสามทุ่ม ซึ่งแม้แต่อาจารย์ราอูล ผู้ก่อตั้งสำนักมวยไสลุม ที่อินเดีย ยังตั้งข้อสังเกตว่า การฝึกกังฟูของวัดเส้าหลินปัจจุบัน มุ่งเน้นแต่ฝึกกายอย่างเดียว แต่ละเลยการฝึกจิตไปหรือไม่? อาจารย์ราอูล กล่าวว่า วิชากังฟูที่แท้จริง ต้องประกอบด้วยการฝึกฝน 3 ส่วน คือ

1. นิรมาณกาย คือ กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น

2. สัมโภคกาย คือ สมองและระบบประสาท

3. ธรรมกาย คือ การฝึกจิตเพื่อเข้าถึงธรรม

แต่แท้ที่จริงแล้ว ในวัดเส้าหลินยังมีพื้นที่บางส่วนที่ปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเพื่อใช้ในการปฏิบัติธรรม ในสารคดีพื้นที่แห่งชีวิตพาเราไปดูห้องปฏิบัติธรรม โดยมีรูปท่านพระโพธิธรรมประดิษฐานอยู่ตรงกลางห้อง เวลาปฏิบัติ พระแต่ละรูปก็จะเดินวนรอบๆ และเดินอย่างเร็ว และมีเบาะนั่งรอบๆ ห้อง เพื่อนั่งสมาธิ เป็นที่น่ายินดีว่าคำสอนของท่านโพธิธรรมเองยังได้รับการปฏิบัติสืบเนื่องอยู่ แม้พระบางรูปเข้ามาครั้งแรกเพื่อฝึกกังฟู แต่สุดท้ายความปรารถที่แท้จริง ก็เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย นั่นคือ เพื่อการ “บรรลุธรรม”

วัดเส้าหลิน

หลายคนอาจไม่รู้ว่า มีสำนักเส้าหลินตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี ที่นี่ไม่ใช่แค่โรงเรียนสอนกังฟูธรรมดา แต่เป็นสถานที่ที่รักษาแก่นแท้ของวัฒนธรรมเส้าหลินไว้อย่างเข้มงวด

การเข้าเป็นศิษย์ที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มจากการสอบสัมภาษณ์ หากผ่านด่านแรก จะได้รับเชิญให้อยู่ในวัด 1 สัปดาห์เพื่อทำความรู้จักกัน ถ้าทุกอย่างราบรื่น ก็จะได้เป็นศิษย์ทดลองเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนจะเข้าสู่หลักสูตรฝึกฝนเต็มรูปแบบ 1 ปี

ชีวิตในสำนักเส้าหลินแห่งนี้เต็มไปด้วยระเบียบวินัยที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตารางกิจกรรมของทุกๆ วันเริ่มตั้งแต่ 6 โมงเช้า เตรียมอาหารเช้า เตรียมอาหารเช้า เรียนคลาสเช้า พักเที่ยงจนถึงบ่ายสาม เรียนคลาสบ่ายและ 3 ทุ่มทำพิธีเย็น เข้านอนตอน 4 ทุ่ม โดยจะได้เรียนเกี่ยวกับพุทธศาสนา ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื๊อ ตลอดจนกังฟู ชี่กง และศิลปะ “เส้าหลิน” อื่น ๆ รวมทั้งวัฒนธรรมจีนและพิธีชงชา

Shi Heng Yi

อาจารย์สำนักเส้าหลินรุ่นที่ 35 อาจารย์ Shi Heng Yi ท่านสอบผ่านปริญญาโทเมื่ออายุได้ 18 ปี และเป็นอาจารย์ที่อายุน้อยที่สุดของวัดเส้าหลินในยุโรป ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น Shou Shifu (Meister 师父) รับหน้าที่ฝึกอบรมทางร่างกายและจิตใจของสามเณรของอารามใน Otterberg

shaolin

บรรลุธรรม แบบฉับพลัน

ตำนานของเซนเล่าว่า ท่านโพธิธรรมได้ส่งมอบบาตรและจีวร สัญลักษณ์แห่งการสืบทอดธรรม จากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึงยุคของท่านเว่ยหล่าง หรือที่รู้จักกันในนามท่านฮุ่ยเหนิง สังฆปริณายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซน

ท่านฮุ่ยเหนิงเกิดในสมัยราชวงศ์ถัง ช่วงเวลาที่บ้านเมืองยากไร้ ด้วยความขัดสน ท่านจึงไม่มีโอกาสได้ร่ำเรียน ทำให้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่แล้ววันหนึ่ง เมื่อได้ฟัง “วัชรสูตร” จิตใจของท่านก็เกิดความสว่างไสวขึ้นมา

วัชรสูตร หรือชื่อเต็มว่า “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” สอนว่าทุกสิ่งในโลกนี้เป็นเพียงชื่อที่มนุษย์สมมติขึ้น ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่อย่างแท้จริงและยั่งยืน นี่คือแก่นของ “หลักสุญญตา” หรือความว่าง ซึ่งถ้าเทียบกับคำสอนในฝ่ายเถรวาท ก็คล้ายคลึงกับ “อนัตตลักขณสูตร” ที่กล่าวถึงความไม่มีตัวตนนั่นเอง

ประวัติของท่านฮุ่ยเหนิงนี้ แสดงให้เห็นว่าปัญญาแท้นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการศึกษาทางโลก แต่เกิดจากการเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งอย่างลึกซึ้ง

“สูตรของเว่ยหล่าง” PDF แปลโดย ท่านพุทธทาสภิกขุ คลิ๊กที่นี่

การบรรลุธรรมแบบฉับพลันเป็นแนวคิดที่พบได้ในหลายสำนักของพุทธศาสนา โดยเฉพาะในนิกายเซน ซึ่งเน้นการเข้าถึงสภาวะรู้แจ้งอย่างฉับพลัน หรือที่เรียกว่า “ซาโตริ” (Satori) การบรรลุธรรมในลักษณะนี้เชื่อว่าผู้ปฏิบัติต้องมีคุณสมบัติพร้อม ทั้งในด้านศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งเรียกรวมกันว่า “อินทรีย์ 5”

ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมแบบฉับพลัน มีวิธีการหลักๆ 3 แบบ ได้แก่:

  1. ซาเซ็น (Zazen) คือ การนั่งสมาธิ
  2. ซันเซ็น (Sanzen) คือ การขบคิดปริศนาธรรม โกอาน
  3. มอนโด (Mondo) คือ การถามตอบอย่างฉับพลัน

ในนิกายเซน มีสองสาขาหลักที่มีแนวทางปฏิบัติแตกต่างกัน คือ

รินไซเซน (Rinzai Zen) เน้นการใช้วิธีการที่เฉียบขาด เช่น การตะคอก หรือตี เพื่อกระตุ้นให้ศิษย์หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น และเข้าถึงสภาวะรู้แจ้ง รินไซเซนให้ความสำคัญกับการแก้ปริศนาธรรม (โกอาน) มากกว่าการนั่งสมาธิ และมีพื้นฐานความเชื่อว่า ซาโตริสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะไม่ว่าจะทำอะไรอยู่
โซโตเซน (Soto Zen) เน้นการปฏิบัติด้วยการนั่งสมาธิ หรือซาเซ็น (Zazen) เป็นหลัก

เป็นที่น่าคิดว่า คนที่บรรลุธรรมอย่างฉับพลันได้ อย่างน้อยต้องมีอินทรีย์ 5 สมบูรณ์ ซึ่ง ปัจจุบันจะมีพระอาจารย์ท่านใดที่มีใครสามารถมองเห็นและส่งให้ลูกศิษย์ได้มีดวงตาเห็นธรรมหรือไม่ ในสารคดี พื้นที่ชีวิต : ตามรอยโพธิธรรม 4 รอยทางอันรางเลือน (14 มิ.ย. 61) ถามไปยังพระอาจารย์ท่านหนึ่งว่า การที่อาจารย์ถามศิษย์ จนกระทั่งบรรลุธรรมนั้น ทุกวันนี้ยังมีอยู่มั้ย ซึ่งท่านก็ได้ให้คำตอบว่า “ทุกวันนี้ไม่ได้นำมาเป็นหลักสำคัญแล้ว แค่ใช้อ้างอิงเท่านั้น ที่แน่ๆ ก็คือ ทุกคนต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ขึ้นเขามาแล้วปฏิบัติเลย เพราะโอกาสที่คนจะบรรลุธรรมด้วยโกอานหรือการถามตอบแบบนั้นมีน้อยมาก”

ในปัจจุบัน หลายสำนักเริ่มให้ความสำคัญกับการปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น โดยเฉพาะการฝึกสมาธิและวิปัสสนา ซึ่งเป็นแนวทางที่พบได้ทั่วไปในพุทธศาสนาทุกนิกาย

วิถีแห่งเซน
พระอาจารย์ เย้าเหว่ย วัดเจินหรู มณทลเจียงซี ท่านเน้นเรื่องการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด

การปฏิบัติธรรมในวัดเซนที่จีน ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เริ่มแรก ปฏิบัติตามระเบียบปกติ ทำวัตร ฉันอาหาร เข้าห้องปฏิบัติธรรม ให้เข็มงวดอย่างน้อย 3 ปี เมื่อผ่านแล้วจึงสามารถแยกไปปฏิบัติในห้องมืด ที่มีการส่งข้าวส่งน้ำ ห้ามออกมาภายนอก

ถึงแม้พระอาจารย์จะกล่าวว่ามีคนบรรลุธรรมด้วยโกอานน้อยมากนั้น แต่ผู้เขียนยังมองว่า ขึ้นชื่อว่า มี แปลว่า ย่อมเป็นหนทางปฏิบัติอีกวิธีหนึ่ง เหมือนที่เรารู้ว่ากรรมฐานมี 40 วิธี คนที่ฝึกก็เลือกในสิ่งที่ตรงกับจริตของตัวเอง แต่สำหรับการบรรลุธรรมนั้น ย่อมไม่มีเส้นทางลัด

ในสารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้า 2 เรื่อง “โกอาน” การแก้ปริศนาธรรม เพื่อบรรลุสภาวะรู้แจ้ง ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของพระฝึกหัด ชื่อ ไทจุน ที่จะต้องเข้าพบ โรชิ Roshi (คำเรียก อาจารย์เซน) เพื่อรับโจทย์โกอานหรือปริศนาธรรมมาแก้ หากได้ยินเสียงกระดิ่งแปลว่า คำตอบของลูกศิษย์นั้นไม่เป็นที่น่าพอใจ

โกอาน
ห้องนี้ถูกเรียกว่าสนามรบแห่งธรรมะ บทสนทนาโกอานถือว่าเป็นความลับของโรชิกับศิษย์

รินไซเซน มีโกอานมากว่า 1,700 บท ผู้ที่จะเป็นโรชิ ได้ ต้องแก้โกอานให้ได้ทุกข้อ อย่างน้อยเป็นเวลา 10-15 ปี โดยการแก้โจทย์ปริศนาธรรมแต่ละข้อ เป็นการสำรวจจิตใจของตัวเอง ไม่แตกต่างจากการศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และบทสนทนาโกอานระหว่างโรชิกับศิษย์ก็ถือว่าเป็นความลับห้ามเปิดเผยให้คนนอกรับรู้โดยเด็ดขาด

โกอาน มี 2 แบบ

  1. โกอานที่เป็นคำถาม เพื่อนำไปสู่การรู้แจ้ง (ซาโตริ Satori)
  2. โกอานที่สอนการดำรงชีวิตประจำวัน

ปริศนาธรรมไม่สามารถตอบได้ด้วยสามัญสำนึกหรือเหตุผล พระฝึกหัดบ่อยครั้งที่ปฏิเสธการเข้าพบโรชิเพราะไม่สามารถตอบปัญหาโกอานได้จริงๆ พระฝึกหัดจะถูกโรชิต้อนจนมุมเพราะไม่สามารถตอบให้โรชิพอใจได้ ครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้ายพระฝึกหัดจะเห็นความไร้ประโยชน์ของเหตุผลและความรู้โลกภายนอก เมื่อนั้นพวกเขาจะพบสิ่งที่ซ่อนอยู่ และท้ายที่สุดจะค้นพบตัวตนที่แท้จริง


ปรมาจารย์เซน : ท่าน ติช นัท ฮันห์

นอกจากการฝึกสมาธิ การขบคิดปัญหาธรรมแล้ว การฝึกสติก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ปรมาจารย์เซน ท่าน ติช นัท ฮันห์ แนวทางและคำสอนของท่านเน้นไปที่เรื่องการของมีสติอยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าจะเดิน นั่ง และในทุกอิริยาบท ท่านมักจะยกตัวอย่างเรื่อง “เมฆ” เรื่องของการเกิดใหม่ ว่า คนเราไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ทุกอย่างเป็นเพียงการต่อเนื่องเปลี่ยนสภาพเท่านั้น

 ติช นัท ฮันห์
ศิลปะลายพู่กัน ติช นัท ฮันห์ หมู่บ้านพลัม ฝึกสติทุกลมหายใจ

ในรายการ timeline สุทธิชัย หยุ่น ได้นำคำสอนบางตอนของท่านติช นัท ฮันห์ เรื่องเกี่ยวกับการสืบเนื่อง โดยท่านได้อธิบายว่า

“สมมติคุณเป็นก้อนเมฆ ทำขึ้นจากเกล็ดน้ำแข็งเล็กๆ คุณเบามาก ไม่หล่น แต่ลอยได้ มีเมฆก้อนใหญ่ ลอยอยู่ มีการชนกันระหว่างเกล็ดน้ำแข็งเล็กๆ ที่ว่านี้ อาจกลายเป็นน้ำแข็งก้อนใหญ่ก้อนเดียว แล้วตกมาเป็นน้ำแข็ง หรือไม่ก็เป็นฝน

แต่ครึ่งทาง คุณอาจเจออากาศร้อน แล้วคุณก็ระเหยอีกครั้ง แล้วขึ้นไปอีกครั้ง คุณขึ้นแล้วลงมาแล้วขึ้นไปอีก เป็นอยู่อย่างนี้ การเกิดใหม่ (re-birth) เกิดขึ้นตลอดเวลาในเมฆ เมฆไม่ต้องเป็นฝนเพื่อมีชีวิตใหม่ เมฆมีชีวิตใหม่ในทุกๆ ขณะ

การเกิดและตายเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา อย่าพูดว่าเราจะตายในอีก 20,30 ปี เราตายในปัจจุบันขณะ และเกิดใหม่เช่นกัน การเกิดใหม่เกิดขึ้นที่นี่ ขณะนี้และไม่ใช่อนาคต เมฆก็เป็นเพียงการสืบเนื่อง เมฆไม่ได้กำเนิดมาจากการไม่มีอะไรเลย เมฆมาจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสมอ ฉะนั้น ไม่มีการถือกำเนิด มีแต่การสืบเนื่อง การเกิดไม่ใช่จุดเริ่มต้นของคุณ เป็นเพียงการสืบเนื่อง เพราะคุณเป็นอะไรมาก่อนหน้านั้นแล้ว อยู่ในรูปแบบอื่น ก่อนที่คุณจะเกิด”

 ติช นัท ฮันห์
ภาพและข้อมูลจากรายการ บทสนทนาธรรม ระหว่าง หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ กับ สุทธิชัย หยุ่น

ขอยกอีกหนึ่งคำสอนของท่านเกี่ยวกับเมฆ ในภาพยนต์เรื่อง walk with me

มีเด็กคนหนึ่งถามว่า “หนูเคยเลี้ยงหมาแล้วน้องหมาตายไป หนูเศร้ามาก ไม่รู้ต้องทำยังไงถึงจะหายเศร้า”

ท่านตอบว่า .. เป็นคำถามที่ตอบได้ยากนะ ถ้าเธอลองแหงนหน้ามองท้องฟ้า และเธอเห็นเมฆงาม เธอชอบเมฆนั้นมาก แต่อยู่ๆ เมฆนั้นก็หายไป เธอคิดว่ามันตายไปแล้ว “เมฆที่รักของฉันไปไหนแล้ว” ถ้าเธอลองค่อยๆ พินิจพิจารณาดู จะรู้ว่าเมฆนั้นไม่ได้ตาย ไม่ได้หายไปไหน เมฆนั้นกลายเป็นฝน เวลามองสายฝนก็จะเห็นเมฆนั้น เวลาที่เธอดื่มชาอย่างมีสติ ก็จะเห็นน้ำฝนและเมฆนั้นอยู่ในชา ฉันรู้จักเธอนะ เธอไม่ได้ตายไป เธอยังคงมีชีวิตอยู่ในรูปลักษณ์ใหม่ เจ้าหมาก็เหมือนกัน ถ้าเธอตั้งใจมองดูให้ดี จะเห็นมันในรูปลักษณ์ใหม่

จะเห็นว่า คำสอนของท่าน ติช นัท ฮันห์ ดูเรียบง่าย การอธิบายเรื่องการเกิดใหม่ หรือการไม่มีตัวตน แม้แต่คนที่ไม่ได้เข้าถึงพุทธศาสนาก็สามารถเข้าถึงแก่นธรรมได้


หลวงพ่อชา สุภัทโท – ตอบคำถามเซน

ในรายการของคุณสุทธิชัย ได้พูดคุยกับท่าน ติช นัท ฮันห์ ว่าพระสงฆ์ในประเทศไทย จะยิ้มกว้างๆ ร้องเพลง เล่นดนตรี หรือ เล่นกีฬา แบบนี้ไม่ได้ เพราะต้องทำตัวให้สำรวม ท่าน ติช นัท ฮันห์ ตอบว่าตราบใดที่ไม่ขัดกับหลักธรรม และมีสติ ครองตนอยู่ตลอดเวลา ศรัทธาและความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนก็ยังคงอยู่

ประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะศึกษาทัศนะของพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในเมืองไทยว่ามีมุมมองต่อแนวคิดแบบเซนอย่างไร แต่น่าเสียดายที่พบข้อมูลเพียงกรณีของหลวงพ่อชา สุภัทโท เท่านั้น โดยในช่วงที่ท่านเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา ท่านได้มีโอกาสพูดคุยและตอบคำถามเกี่ยวกับแนวคิดเซนให้กับลูกศิษย์และญาติโยมหลายครั้ง ดังตัวอย่างบทสนทนาต่อไปนี้

พอล : มหายานนี้ ถือว่าจิตเดิมแท้ เป็นของบริสุทธิ์ สรรพสัตว์มีพุทธภาวะในใจอยู่แล้ว ฉะนั้น บางคนว่าไม่เห็นต้องประพฤติให้ลำบาก

หลวงพ่อชา : เรามีอะไรสะอาดบ้างไหม ถาดใบนี้นะ สมมติว่าเราเอาขี้ใส่ แล้วพูดดว่าถาดใบนี้เดิมแท้เป็นถาดสะอาด ฉะนั้นเราจึงไม่ต้องล้าง อย่างนี้จะถูกไหม ?

พอล : บางคนไม่ยอมปฏิบัติ เพราะเห็นว่าเขาสบายแล้ว ไม่มีทุกข์

หลวงพ่อชา : ถ้าหากว่า เด็กน้อยไม่ยอมไปโรงเรียน ดื้อกับพ่อแม่ว่าไม่ไป ผมสบายแล้วอย่างนี้จะดีมั้ย

พอล : บางคนเขาเห็นว่า ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่่งของชีวิตที่สมบูรณ์ ชีวิตต้องมีสุขและทุกข์ ความทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับจึงจะเป็นธรรมชาติ ถ้าไม่มีความทุกข์ ความสุขก็ไม่มีรสชาติ

หลวงพ่อชา : จะเอาอย่างนี้ก็ได้ อย่าปล่อยนะ จับไว้ดีๆ จับไว้นานๆ ดูซิว่ามันจะเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าคนเราจะมีความเห็นต่างๆ อย่างนี้ และไม่ยอมรับความจริงก็ปล่อยเขาไว้อย่างนั้นก่อน

meditate

และมีโยมคนหนึ่งได้กราบเรียนข้อข้องใจว่า

คำสอนของเซน ให้คนอยู่ตามธรรมชาติ แต่หลวงพ่อรู้สึกพูดตรงกันข้าม ขอให้อธิบายหน่อยครับ ?

หลวงพ่อชา : เราสอนไม่ได้ตามใจคน ถ้าตามใจคน มันก็ยังเป็นคนอยู่อย่างนั้น ถ้าตามใจกิเลสก็ยังเหลืออยู่ ไม่ได้เป็นอะไรสักที เช่น ถ้ามันขี้เกียจก็ให้มันขี้เกียจเสีย มันอยากนอนก็ให้มันนอนเสีย อยากทำงานก็ให้ทำงานเสีย ถ้าอยู่ตามธรรมชาติจริงๆ นั้น ท่านให้อยู่ตามธรรมชาติ ต้องให้มีปัญญารู้เท่าทันธรรมชาติด้วย ไม่ผิดเหมือนกัน แต่กลัวพวกเราทั้งหลาย มันจะเป็นลิงหมดนะ ปล่อยให้เป็นลิง มันจะไม่เป็นมนุษย์สักที ก็เป็นลิงอยู่เรื่อย

เซน ท่านพูดอย่างนั้น ท่านก็มีปัญญาพูดนะ ให้มีปัญญาให้รู้เท่าธรรมชาติ ธรรมชาตินั่นแหละเป็นธรรมะ ธรรมะนั้นก็คือธรรมชาติ ถ้ารู้มันแล้วมันก็เป็นอย่างนั้น กลัวคนทั้งหลายจะไม่รู้ถึงนั้น ทีนี้พระท่านให้ฝืนใจของเรา ใจมีความโลภท่านฝืนเพื่อกำจัดความโลภออก ใจมีความโกรธท่านฝืน เพื่อกำจัดความโกรธออก ใจมีความหลงท่านฝืน เพื่อกำจัดความหลงออก เป็นอย่างนั้น

วิถีแห่งเซน

ทำไมคนสมัยพุทธกาล “บรรลุธรรม” กันง่ายจัง ?

ดังที่หลวงพ่อชากล่าวไว้ด้านบน ว่า ถ้าเราปฏิบัติตามศีล และไม่ยึดมั่นถือมั่น เมื่อนั้นเราจึงเข้าถึงธรรม หลายคนอาจจะมีความคิดว่า ทำไมคนสมัยพุทธกาลถึงบรรลุธรรมกันง่ายจัง ยกตัวอย่างเช่น นางวิสาขา ได้รับฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าเมื่ออายุเพียง 7 ขวบ ก็มีดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน หรือแม้กระทั่งพระสารีบุตร ที่ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น” ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม

ดวงตาเห็นธรรม คือ การเห็นตามความเป็นจริงของธรรมชาติ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีการดับไปเป็นธรรมดา เป็นภูมิธรรม ของ พระโสดาบัน

คำถามหรือความคิดนี้ คงไม่ใช่แค่ฆราวาสอย่างเราๆ แม้แต่หลวงปู่ขาว อนาลโย ท่านเองก็ “พลาด” ที่ถามคำถามนี้กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนโดนดุเอา เพราะฉะนั้นใครที่คิดว่าคนสมัยก่อนบรรลุธรรมกันง่ายจัง แล้วตัวเราเองฝึกปฏิบัติแทบตายยังไม่ถึงไหนเลย ลองอ่านที่หลวงปู่มั่น ท่านเทศนาหลวงปู่ขาว โ่ดยผู้เขียนขออนุญาตเล่าสรุปและจับใจความบางตอนว่า

“.. ครั้งพุทธกาล ที่ท่านทำความเพียรด้วยความจริงจังหวังพ้นทุกข์จริงๆ กับสมัยที่พวกเราทำเล่นราวกับตุ๊กตาจึงนำมาเทียบกันไม่ได้ .. ขนาดที่พวกเราทำความเพียรแบบกระดูกจะหลุดออกจากกัน เพราะความขี้เกียจอ่อนแออยู่เวลานี้ ผมเข้าใจว่าเหมือนคนที่แสนโง่และแสนขี้เกียจ เอาสิ่งอันเล็กๆ น้อยๆ เท่านิ้วมือ ไปเจาะภูเขาทั้งลูก แต่หวังให้ภูเขานั้นทะลุในวันเวลาเดียว … คนสมัยนี้ เพียงใช้ฝ่ามือแตะมหาสมุทร ทำความเพียรเพียงเล็กน้อย แต่หมายมั่นปั้นมือ ว่าจะข้ามโลกสงสาร เมื่อไม่ได้ตามใจหวังก็หาเรื่องตำหนิศาสนาและกาลสถานที่ ตลอดจนคนสมัยนั้นสมัยนี้ไม่ละอาย..”

นี่ผู้เขียนแค่ตัดข้อความมาบางส่วนจากเทศนาหลายหน้ากระดาษ ซึ่งหลวงปู่ขาวเล่าว่า ที่ท่านเล่ามานี้ยังไม่ถึงเสี้ยวแห่งธรรมลึกซึ้งและเผ็ดร้อนที่หลวงปู่มั่นแสดงนั้นเลย นั้นยิ่งลึกซึ้งและเผ็ดร้อนยิ่งกว่ามหาสมุทรสุดสาครและไฟในนรก


บทสรุป

เหตุที่คนสมัยก่อนบรรลุธรรมกันมากนั้น จากเทศนาของหลวงปู่มั่น ผู้เขียนพอจะสรุปได้ว่า เป็นเพราะคนสมัยก่อนกิเลสเบาบาง อบรมสั่งสอนง่าย และมีความเพียร ประกอบกับผู้อบรบสั่งสอนก็คือพระพุทธเจ้ากับพระสาวก ซึ่งมีบารมีมากๆ จึงสามารถชี้แนะ เลือกเฟ้นคำสอน และวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับคนนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง

ถึงแม้ว่าการบรรลุธรรมแบบวิถีของเซน จะมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร แต่ถึงกระนั้นคนที่จะบรรลุธรรมได้นั้น ต้องเป็นไปตามอุปนิสัยวาสานา และต้องสั่งสมภูมิปัญญามาก่อน มีอินทรีย์สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ การเจริญวิปัสสนา การขบคิดปริศนาธรรม เมื่อถึงเวลาอันสมควรนั้น ก็ย่อมจะเข้าถึงความ “ว่าง” ได้อย่างแจ่มแจ้ง แค่วิธีการเท่านั้นที่จะนำไปสู่การบรรลุมรรคผล ต่างกันเท่านั้น

walkwithme
แหล่งข้อมูล

รายการพื้นที่แห่งชีวิต ตามรอยโพธิธรรม
สารคดี BBC The extraordinary final test to become a Shaolin Master | Sacred Wonders – BBC
สารคดี ตามรอยพระพุทธเจ้า 2 : ไตรปิฎก คำสอนมีชีวิต “โกอาน” การแก้ปริศนาธรรมของพระเซ็น
https://www.jnto.or.th/
อาจารย์สำนักเส้าหลินยุโรป https://www.shihengyi.online/
Timeline Suthichai : บทสนทนาธรรม ระหว่าง หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ กับ สุทธิชัย หยุ่น
ภาพยนต์ walk with me : คำสอนของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เมื่อเด็กน้อยถาม “หมาของหนูตาย ต้องทำยังไงถึงจะหายเศร้า”
แนวการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อชา สุภัทโท
หนังสือ “ผู้ไม่รู้หนังสือ ก็บรรลุธรรมได้”
หนังสือ อุปลมณี-หลวงปู่ชา
หนังสือหลวงปู่ขาว อลาลโย โครงการหนังสือบูรพาจารย์เล่ม 4
การบรรลุแบบฉับพลันและโพธิสัตว์ธรรมนั้นเป็นไฉน? http://oknation.nationtv.tv/blog/buddhabath/2008/03/10/entry-4