จิตตนคร # เรื่องย่อ และเพลง “สุขที่ใจ”
Time reading :: 5 minutes
เพลงธรรมะพร้อมความหมายดีๆ ดนตรีวัยรุ่น และเรื่องราวของจิตตนคร
จิตตนคร เป็นหนังสือพระนิพนธ์โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นการนำเอาหลักธรรมของพระพุทธเจ้ามาสร้างเป็นเรื่องราว โดยเปรียบเทียบจิตของคนกับเมืองที่อยู่อาศัย จิตของเรา คือ เจ้าเมืองจิตตนคร ฝ่ายดี คือ คู่บารมี (ความดี) ส่วนฝ่ายร้าย คือ คู่อาสวะ และสมุทัย (ความอยากดี) ซึ่งเปรียบเสมือนกับจิตของเราในบางช่วงที่บางครั้งก็ดี บางคราวก็ร้าย ขึ้นอยู่กับว่าจะคบกับฝ่ายดีหรือฝ่ายร้าย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงบันทึกการสนทนาธรรมระหว่างพระองค์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงมีรับสั่งถึงเรื่อง หนังสือสอนพระพุทธศาสนา ยากเกินไปแก่สมองเด็กที่จะปรากฏในพระลิขิต ความตอนหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีรับสั่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกว่า อย่างสอนอริยสัจจ์แก่เด็กเล็กๆ เหมือนอย่างจะให้เด็กเป็นพระอรหันต์ จะให้เด็กเข้าใจได้อย่างไร น่าจะสอนบทธรรมง่ายๆ ที่เป็นประโยชน์ในการอบรมเด็กด้วย โดยสมเด็จพระสังฆราช ได้ทูลว่า จะนำกระแสพระราชดำรินี้ไปจัดทำ แต่การเขียนเรื่องให้เด็กอ่านนั้น เขียนแล้วคิดว่าง่ายเด็กเข้าใจ ครั้งไปลองสอนกับเด็ก คือ ให้เด็กอ่าน เด็กไม่เข้าใจ ซึ่งต่อพระสมเด็จพระสังฆราชได้พระนิพนธ์ หนังสือเรื่อง จิตตนคร นครหลวงของโลก ซึ่งทรงอธิบายเรื่องจิตอันเป็นแก่นแท้ของธรรมะ โดยการเปรียบเทียบจิตของคนกับเมืองที่เราอยู่อาศัยได้อย่างแยบยล ลุ่มลึก |
วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ร่วมกับกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือซิป้า จัดสร้างการ์ตูน“แอนิเมชันเรื่อง เมืองนิรมิต แห่งจิตตนคร ออกฉายครั้งแรกในงานวันเด็กแห่งชาติ ปี พ.ศ.2560
เรื่องราวนำเสนอผ่านตัวละครหลักคู่พี่น้องน่ารัก เต้ยและเตย ที่ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์แห่งจิตตนคร โดยตัวละครในเรื่องถูกออกแบบให้มีความชัดเจนระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรม เพื่อสื่อแง่คิดและคติธรรมได้อย่างเด่นชัด
ตัวละครที่โดดเด่นในเรื่องประกอบด้วย ท่านเจ้าเมือง ท่านมโน ฝ่ายอธรรมนำโดย สมุทัย พร้อมเหล่าสมุนอย่าง โลโภ โทโส และโมโห ที่คอยสร้างความวุ่นวายและพยายามชักจูงท่านเจ้าเมืองรวมถึงชาวเมืองอยู่เสมอ
ในด้านฝ่ายธรรมะ มีตัวละครสำคัญอย่างท่านศีล วินัย หิริ โอตตัปปะ สันโดษ และปัญญา คอยต่อกรกับฝ่ายอธรรม โดยตัวละครที่ผู้เขียนประทับใจมากที่สุดคือ “ท่านศีล” ด้วยบุคลิกลักษณะที่โดดเด่นชัดเจน ในฐานะผู้พิทักษ์ความดีที่คอยต่อสู้กับฝ่ายอธรรมและใกล้ชิดกับชาวเมืองมากที่สุด การออกแบบตัวละครนี้สะท้อนถึงความสำคัญของศีลธรรมในการดำเนินชีวิตได้อย่างน่าสนใจ
สมุทัย ตัวละครที่มีบทบาทซับซ้อน มักปรากฏตัวในฐานะที่ปรึกษาของเจ้าเมือง เสนอแนวทางการปกครองที่เน้นความสุขสบายและความบันเทิงของชาวเมืองเป็นหลัก บุคลิกของสมุทัยมีทั้งด้านสร้างสรรค์และทำลายล้าง
ในแง่สร้างสรรค์ สมุทัยริเริ่มโครงการต่างๆ เช่น การสร้างแหล่งบันเทิงมากมาย เพื่อให้ชาวเมืองได้สนุกสนาน รื่นเริง และเพลิดเพลิน แต่เบื้องหลังความสนุกนั้น แฝงไว้ด้วยเจตนาที่จะปลูกฝังนิสัยโลภ ไม่รู้จักพอ และละเลยคุณธรรม
สมุทัยยังคอยยุยงให้ชาวเมืองละเมิดกฎหมายและศีลธรรม โดยมีคู่หูอาสวะคอยสนับสนุนแผนการต่างๆ การนำเสนอตัวละครเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดซับซ้อนของกิเลสที่แฝงตัวมาในรูปแบบที่ดูน่าพึงพอใจ แต่แท้จริงแล้วนำพาไปสู่หนทางที่ผิด
การ์ตูนแอนิเมชันเมืองนิรมิต แห่งจิตตนคร มีทั้งหมด 30 ตอน ตอนละประมาณ 20 นาที สามารถดูได้ทั้งหมดที่ link นี้ โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
เพลงประกอบการ์ตูนแอนิเมชัน จิตตนคร
สุขที่ใจ เป็นเพลงประกอบการ์ตูนแอนิเมชัน เรื่อง เมืองนิรมิตแห่งจิตตนคร โดยเพลงนี้มีทั้งหมด 2 เวอร์ชัน ในเวอร์ชันการ์ตูนเราจะได้ยินเสียงนักร้องเป็นเสียงเด็ก ฟังเพลินๆ น่ารักๆ แต่ในเวอร์ชันผู้ใหญ่ ดนตรีจะออกแนววัยรุ่น ฟังแล้วโยกตัว ขยับหัวตามจังหวะเพลงได้เลย ไม่คิดเลยว่าจะมีเพลงธรรมะและดนตรีที่เพราะมากขนาดนี้
เนื้อเพลง สุขที่ใจ
วันนี้โลกหมุนไหวเหลือเกิน ฉันเดินตามไม่ค่อยทัน
ทุกสิ่งนั้นมาไว มันล่อตาล่อใจ
อะไรที่เข้ามาใหม่ ก็อยากได้ไปหมด
ใครเขามีฉันมีเหมือนกัน ยิ่งได้นำล้ำหน้าใคร รู้สึกว่าดีใจ รู้สึกน่าภูมิใจ
แต่พอได้แล้วไง ก็ไม่เห็นเป็นสุข ….
นี่ใจฉันเป็นอะไร ทำไมไม่เคยพอ
ได้ยินคำพุทธองค์ ชี้ทางสะท้อนใจ
ขอเพียงตั้งมั่นรู้อยู่ที่ใจ ไม่ให้ลอยไปภายนอกกาย หนักแน่นไว้
แค่พอลดละโลภโกรธหลงในวัตถุนอกกาย ครองสติไว้
สุขที่ใจ สุขที่ใจ ….
พอได้ทำได้รู้ซึ้งในคำสอนให้ตามรู้ใจ ไม่หลงสิ่งเร้านอกกาย
ไม่เผลอใจเคลิ้มไป กับโลกที่วุ่นวายและสิ่งเร้ารอบกาย
นี่ใจฉันเป็นอะไร ทำไมไม่เคยพอ
ได้ยินคำพุทธองค์ ชี้ทางสะท้อนใจ
ขอเพียงตั้งมั่นรู้อยู่ที่ใจ ไม่ให้ลอยไปภายนอกกาย หนักแน่นไว้
แค่พอลดละโลภโกรธหลงในวัตถุนอกกาย ครองสติไว้ สุขที่ใจ สุขที่ใจ
ในเพลง สุขที่ใจ มี 2 ท่อน ที่เขียนไว้น่าสนใจ คือ
ท่อนที่ 1
ผู้เขียนขอขยายคำว่า โลภโกรธหลง ถ้าเทียบในการ์ตูนจิตตนคร ก็คือตัวละคร โลโภ โทโส โมโห (ราคะ โทสะ โมหะ) ซึ่งเปรียบเสมือนแม่ทัพของกิเลส มีอิทธิพลเหนือโลกทั้งสาม (ไตรโลก) ได้แก่ กามโลก รูปโลก และอรูปโลก หรือ ถ้าพูดเป็นภูมิ ก็คือ กามภูมิ (นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดียรฉาน มนุษย์ และสวรรค์ 6 ชั้น) รูปภูมิ อรูปภูมิ สัตว์ที่เกิดมาอยู่ใน 3 โลกนี้ ตกอยู่ในอำนาจของแม่ทัพกิเลสนี้ทั้งหมด เว้นแต่ว่าเราสามารถอยู่เหนือโลกหรือพ้นโลกทั้งสามนี้ไปได้ เรียกว่า โลกุตรภูมิ
เมื่อปี พ.ศ. 2557 ได้มีการจัดงานวัดลอยฟ้า ญาณสังวร 101 ที่สยามพารากอน ในธีม จิตตนคร THE HIDDEN CAPITAL เมืองแห่งจิต ที่จะเผยความลับของทุก(ข์) ชีวิต
เรามาทำความรู้จักกับ โลโภ โทโส โมโห จาก Guide book จิตตนคร เล่มนี้ ดูสักหน่อย
- โลโภ เป็นคนโลภมาก อยากได้อยู่ตลอดเวลา
- โทโส เป็นคนเจ้าโทสะ มีใครมาขัดข้องใจก็ต้องบันดาลโทสะเสมอ
- โมโห เป็นคนเฉยๆ บางทีก็ชอบคิดฟุ้งซ่าน บางทีก็โง่อวดฉลาดแต่ธาตุแท้ของโมโหนั้นเป็นคนหลง เพราะไม่รู้อะไรจริง
ภายในงานมีการแจกหนังสือ และ CD ต่างๆ รวมถึงแผ่นพับ แผนผังรหัสธรรมจากพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งถ้าคลี่ดูแล้วจะมีขนาดเท่ากับแผ่นโปสเตอร์ ในแผนผังเราอาจจะเริ่มต้นอ่านจากตรงกลางก่อน คือ เจ้าเมือง (นครสามี) จะเห็นว่ามีเส้นสีเขียวด้านล่างแยกออกไปสองฝั่ง ก็คือ คู่หูของเจ้าเมือง คือ คู่บารมี และคู่อาสวะ คู่อาสวะจะเป็นคนให้ความช่วยเหลือสมุทัยอย่างลับ ๆ
เราลองมาซูมกันดูชัดๆ ว่า ลูกสมุนของสมุทัย มีใครบ้าง
- หัวโจก – โลโภ โทโส โมโห
- ลูกมือ – กายทุจริต วาจาทุจริต มโนทุจริต
- พรรคพวกหัวไม้ 16 – ละโมบ ร้ายกาจ โกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ มารยาเจ้าเล่ห์ โอ้อวด หัวดื้อ แข่งดี ถือตัว ดูหมิ่น มัวเมา เลินเล่อ
- หัวโจก 3 + พรรคพวก 7 + กิเลส 1500 โลภ โกรธ หลง ถือตัว เห็นผิด ลังเล ง่วงเหงา ฟุ้งซ่าน ไม่ละอายใจ ไม่เกรงกลัวชั่ว
- ตัณหา 108 – กามตัณหา ภวตัณหา (ความอยากเป็น) วิภวตัณหา (ความไม่อยากเป็น)
- สังโยชน์ 10 (เครื่องผูกใจสัตว์) แบ่งเป็น ขั้นต่ำ (หยาบ) และขั้นสูง (ละเอียด)
ขั้นต่ำ (หยาบ)
1. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นเป็นเหตุถืออัตตา ว่ามีตัวมีตน)
2. วิจิกิจฉา (ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในการปฏิบัติ)
3. สีลัพพตปรามาส (ความถือศีลและวัตรต่างๆ ด้วยความปรารถนาผล มีลาภ)
4. กามราคะ (ความยินดีด้วยอำนาจกิเลส)
5. ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งแห่งจิตหรือความหงุดหงิด)
ขั้นสูง (ละเอียด)
6. รูปราคะ : ความติดอยู่ในรูปธรรม เช่น ชอบใจในบุคคลบางคนหรือในรูปฌาน
7.อรูปราคะ : ความติดอยู่ในอรูปธรรม เช่น ในสุขเวทนา หรือในอรูปฌาน
8.มานะ – ความสำคัญว่ายังมีเรา
9.อุทธัจจนะ – ความคิดพล่าน
10.อวิชชา ความไม่รู้จริง
จะเห็นได้ว่าบรรดากิเลสหรือลูกสมุนของสมุทัยมีมากมายเหลือเกิน แต่ในส่วนของฝ่ายดี ก็จะมีกองทัพคู่บารมี อันได้แก่ 3 กองทัพใหญ่ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ก็คือ มรรค 8
- ศีล เอาไปไว้ต่อสู้กับกิเลสขั้นหยาบที่เกิดขึ้นทาง กาย วาจา ใจ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ และดื่มสุรา
- สมาธิ เอาไว้ต่อสู้กับมาร 5 ยกตัวอย่างเช่น ขันธ์ 5 ซึ่งก็คือร่างกายของเรา ที่มันมักก่อกวนความสงบสุขของจิตตลอดเวลา บางครั้งก็ทำให้จิตผ่องใส บางครั้งก็เศร้าหมอง สุขบ้างทุกข์บ้าง หิว เจ็บป่วย โดนดุด่าว่ากล่าว หรือโดนบีบบังคับ ก็เป็นไปในทางเศร้าหมอง หรือ ที่เป็นนิวรณ์ทั้ง 5 เป็นต้น
- ปัญญา เอาไว้ต่อสู้กับกิเลสขั้นละเอียด สังโยชน์ 10
พุทธองค์สอนให้เราใช้ปัญญาภายในตัวของเราเอง เพื่อต่อสู้กับกองทัพกิเลส เพราะฉะนั้น การครองสติไว้ การตั้งมั่นรู้ ก็เพื่อกำจัดหรือลดละโลภโกรธหลง นั่นเอง
ถาม : พระพุทธภาษิตบางแห่งทําไมจึงทรงแสดงโลภะ โทสะ โมหะ บางแห่งก็ทรงแสดงราคะ โทสะ โมหะ ? ตอบ : ที่ทรงแสดงโลภะ โทสะ โมหะ สังเกตดูตามแบบโดยมาก พระองค์ทรงสอนชาวบ้าน เพราะชาวบ้าน นั้นเกี่ยวกับเงินทอง คือ เนื่องด้วยการทํามาหากิน ซึ่งเป็นเหตุให้โลภ อยากได้โดยไม่เป็นธรรม เอารัดเอาเปรียบกัน เมื่อไม่ได้อย่างใจก็โกรธ ส่วน ราคะ โทสะ โมหะนั้น โดยมากพระองค์สอนพระภิกษุ เพราะราคะมีหลายชั้น เช่น หยาบ คือ กามวิตก อย่างกลางเป็นกามราคะ สังโยชน์เบื้องต่ำ อย่างละเอียด เป็นรูปราคะ อรูปราคะ สังโยชน์เบื้องบน และเป็นชื่อของกิเลสละเอียด ที่เรียกว่าฉันทราคะในปัญจขันธ์ – เรียบเรียงจาก หนังสือ ธัมมานุธัมมปฏิบัติ – |
ตามรู้ VS รู้ทัน
ท่อนที่ 2
คำที่น่าสนใจคือ “ตามรู้ใจ” เพราะโดยปกติมักจะได้ยินคำสอนของพระอาจารย์หลายๆ ท่าน พูดว่า ตามรู้ ตามดู ดูจิต รู้เท่าทัน … มีครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยพูดกับอาจารย์ที่เป็นแม่ชี (ท่านได้เจโตปริยญาณ คือ กำหนดรู้วาระจิตผู้อื่น) ว่า “….ก็ตามดูจิตมันไปเรื่อยๆ” แต่แม่ชีทักขึ้นมา บอกว่า “ไม่ใช่นะ” แค่ดูมันไม่พอ !!! หลังจากนั้นอีกหลายปีผู้เขียนจึงได้มาอ่านเจอคำสอนของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งท่านเขียนไว้ดังนี้
- สติตามรู้ตามเห็น – จิตเป็นสภาวะธรรม ไม่มีตัวตน แต่แสดงออกมาเป็นอาการ ให้ผู้มีปัญญาญาณรู้ได้ว่า นี่จิต นี่คืออาการของจิต สติเป็นอาการของจิตที่ตามรู้ตามเห็น คือ ตามรู้ตามเห็นอาการกิริยาของจิต แต่มิใช่เห็นตัวจิต จิตแท้คือ ผู้รู้ ผู้ตามรู้ตามเห็นอาการของจิตไม่มีวันจะทันจิตได้เลย เหมือนบุคคลผู้ตามรอยโคที่หายไป ไม่เห็นตัวมันจึงตามรอยของมันไป แต่โคเป็นวัตถุ ไม่เหมือนจิตซึ่งเป็นนามธรรม เอาจิตไปตามอาการของจิตมันก็ผิดวิสัย เมื่อไหร่จะเห็นตัวจิตสักที
- รู้เท่าทัน – ผู้รู้คือจิต รู้เท่าก็คือรู้เท่าที่จิตรู้นั้น ไม่เหลือไม่เกิน เมื่อรู้เท่าอย่างนี้ แล้วอาการของจิตไม่มี เมื่ออาการของจิตไม่มี รอยของจิตก็ไม่มี แล้วใครจะเป็นผู้ไปตามรอยของจิตอีกเล่า รวมความแล้วสติระลึกอยู่ที่ไหน ใจผู้รู้ก็อยู่ตรงนั้น สติกับผู้รู้เท่ากันอยู่ ณ ที่เดียวกัน ทำงานร่วมกันขณะเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าวันหนึ่งๆ จิตของเรากระทบกับอะไรมากมายทางอาตนยะ ทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) บางครั้งอาจจะตามรู้ บางทีอาจจะตามดู หรือตามทัน สลับกันไปแบบนี้ ซึ่งหลวงปู่เทสก์ท่านบอกว่า “ตามรู้ก็ดีอยู่ แต่ยังไม่ดีพอ ต้องตามให้ทัน”
ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอน้อมนำคำสอนอันทรงคุณค่าจากครูบาอาจารย์หลายท่าน เกี่ยวกับการใช้สติในการเจริญภาวนาและการดำเนินชีวิตประจำวัน มาฝากไว้เป็นข้อคิด
คำสอนเหล่านี้ล้วนเป็นแนวทางอันประเสริฐที่ช่วยให้เราสามารถพัฒนาจิตใจ และนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีสติ ท่ามกลางความวุ่นวายของโลกปัจจุบัน
ขอให้ทุกท่านได้น้อมนำไปปฏิบัติ เพื่อความเจริญงอกงามทางจิตใจและปัญญา อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขในชีวิตอย่างแท้จริง
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ในช่วงนั้นถ้าเกิดความคิดขึ้นมา ปล่อยให้คิดไป แต่ให้มีสติตามรู้ สิ่งที่มันคิดนั้นจะเป็นอะไรก็ได้ เรื่องครอบครัว เรื่องการงาน เรื่องผู้เรื่องคน จิปาถะสารพัดที่จะคิดขึ้นมา เมื่อมันคิดขึ้นมาอย่างนั้น ปล่อยให้คิดไป แต่ให้มีสติกำหนดตามรู้ รู้ รู้ เป็นการส่งเสริมให้จิตของเรามีพลังเข้มแข็ง
หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ
ใช้สติดูจิตใจ ไม่ว่าความคิดอะไรเกิดขึ้น เห็นมันทันที และเราจะรู้ถึงความหลอกลวง รู้ทันเวลา รู้การป้องกัน รู้การแก้ไข รู้ถึงการเอาชนะความคิดปรุงแต่ง ศีล จะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง ไม่ใช่คน ที่รักษาศีล แต่ศีลต่างหากที่รักษาคน
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
เวลากิเลสมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นทางกาย เกิดขึ้นทางวาจา เกิดขึ้นทางใจ รู้ทันมันเดี๋ยวนี้ มันก็ดับไปเดี๋ยวนี้แหละ ตัวสติมันปกครองอยู่เสมอ ถ้ามีสติอยู่ทุกเมื่อ มันบ่ได้คุมมันหละ ครั้นเกิดขึ้น รู้ทันมันก็ดับ … คิดผิดก็ดับ คิดถูกก็ดับ พอใจไม่พอใจ ก็ดับลงทันทีที่ตัวสติ
ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร
ความสงบของจิตอยู่ที่เราปล่อยวางทุกสิ่งทั้งปวง ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร อยู่ที่เรามีสติรู้ทันสังขารตามที่เป็นจริง ไม่ปรุงแต่ง ยึดติดเอาใส่ใจ เห็นก็สักแต่เห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก – การ์ตูนแอนิเมชันมืองนิรมิต แห่งจิตตนคร : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม – App ธรรมะอรหันต์ – แผนผังรหัสธรรมจากพระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเมืองจิตตนคร : หอจดหมายเหตุ พุทธทาส อินทปัญโญ – เวปธรรมะ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี http://tesray.com/ |