คาถามหาเมตตาใหญ่ – คำแปล

คาถามหาเมตตาใหญ่ – คำแปล

Time reading :: 5 minutes

จิตคิดถึงธรรมนั้น ชื่อว่า เจโตฯ จิตหลุดพ้นจากกิเลส ชื่อว่า วิมุตติฯ จิตมีเมตตาด้วย เป็นเจโตวิมุตติด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เมตตาเจโตวิมุตติ

คาถามหาเมตตาใหญ่ เป็นหนึ่งในคาถาที่หลายคนนิยมสวด เหตุเพราะมีเรื่องเล่าต่างๆ ที่ผู้ที่เคยสวดมนต์นี้ประสบพบเจอ และรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นหลังจากที่ได้สวดมนต์พระคาถานี้ แท้จริงบทสวดมนต์นี้ เดิมทีเป็นการสวดเพื่อทำสมาธิโดยการทำจิตให้ตั้งอยู่กับการแผ่เมตตา และปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก ชื่อว่า “เมตตากถา”

ในบทสวดมนต์ คาถามหาเมตตาใหญ่ ผู้เขียนจะเน้นในเรื่องของ “คำแปล” และความหมายของแต่ละบท เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่าเราระลึกถึงใคร เราต้องการกล่าวถึงใคร เราอยากแผ่เมตตาหาใครบ้าง ซึ่งพระคาถานี้ เป็นการแผ่เมตตาไปยังสิบทิศ และแผ่ไปแบบเจาะจง และไม่เจาะจง แผ่ไปไม่มีจำกัด


ทิศทั้ง 10

คาถามหาเมตตาใหญ่ จะเริ่มกล่าวจากทิศหลักก่อน คือ ทิศตะวันออก และจากนั้นตามด้วยทิศรอง และปิดท้าย ที่ทิศเบื้องล่าง และทิศเบื้องบน โดย คำแปล ในภาษาบาลี มีดังนี้

  1. ทิศตะวันออก (ทิศบูรพา)        – ปุรัตถิมายะ ทิสายะ
  2. ทิศตะวันตก (ทิศประจิม) – ปัจฉิมายะ ทิสายะ
  3. ทิศเหนือ (ทิศอุดร) – อุตตะรายะ ทิสายะ
  4. ทิศใต้ (ทิศทักษิณ) – ทักขิณายะ ทิสายะ
  5. ทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ทิศอาคเนย์) – ปุรัตถิมายะ อะนุทิสายะ
  6. ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ทิศพายัพ) – ปัจฉิมายะ อะนุทิสายะ
  7. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศอีสาน) – อุตตะรายะ อะนุทิสายะ
  8. ทิศตะวันตกเฉียงใต้ (ทิศหรดี) – ทักขิณายะ อะนุทิสายะ
  9. ทิศเบื้องล่าง – เหฏฐิมายะ ทิสายะ
  10. ทิศเบื้องบน – อุปริมายะ ทิสายะ
คาถามหาเมตตาใหญ่ - คำแปล


พระคาถามหาเมตตาใหญ่ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1. ทิศ – แผ่ไปในทิศ 10

2. ผู้รับ

  • แผ่เมตตา โดยไม่เจาะจงผู้รับ 5 อย่าง
  • แผ่เมตตา โดยเจาะจงผู้รับ 7 อย่าง

3. แผ่เมตตาด้วยอาการ 5 อย่าง

  • อย่าได้มีเวรต่อกันและกัน
  • อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
  • อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
  • จงมีความสุขกายสุขใจ
  • รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด
คาถามหาเมตตาใหญ่ - คำแปล

แผ่เมตตา โดยไม่เจาะจงผู้รับ 5 อย่าง

1. สัตตา

คำว่า สัตว์ ความหมายโดยทั่วไป คือ สิ่งมีชีวิต ซึ่งถ้าความหมายตรงตัว คือ สัตว์ ที่ไม่รวมถึงคน 

ในทางพุทธศาสนา “สัตว์” หมายถึง บุคคลผู้ข้องติดอยู่ในความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน คือ ผู้ที่ยังอยู่ในวัฏสงสาร ไม่ว่าจะเทวดา พรหม หรือสัตว์ชั้นต่ำอย่างสัตว์เดรัจฉาน หรือแม้แต่พวกที่เกิดในอบายภูมิ แม้แต่ “โพธิสัตว์” ก็มาจาก โพธิ กับ สัตตะ  ภาษาบาลี พอพูดถึงสัตว์ ต้องนึกถึงคนก่อน เช่น มหาสัตว์ ก็คือ มหาบุรุษ พระโพธิสัตว์ ก็คือ สัตว์ ผู้มุ่งตรัสรู้

2. ปาณา

ใน ศีล ๕ ข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ คำว่า ปาณา มาจากคำว่า ปาณ ,ปาณะ

ปาณา (ปาณ) นี้ จึงหมายถึง สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ที่ยังมีลมหายใจ รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในครรภ์

3.ภูต

ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ความหมายของคำว่า ภูต หรือ ภูตะ ว่าเป็นสัตว์ที่เกิดแล้ว หรือเกิดเสร็จไปแล้ว หรือสัตว์ในครรภ์และในไข่ที่ยังอยู่ระหว่างจะเกิด อีกนัยหนึ่งภูติ หมายถึง ผี, อมนุษย์
     

4. บุคคล (ปุคคะลา)

บุคคล ก็คือ คน

ในพระอภิธรรมปิฎก  มีการกำหนดลักษณะของบุคคลประเภทต่างๆ โดยบัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่น “โสดาบัน” ในบทสวดอิติปิโส ตรงวรรค สังฆานุสติ ที่ขึ้นต้นด้วย สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ จะมีวรรคหนึ่งว่า ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐปุริสปุคคะลา แปลได้ว่า ได้แก่ บุคคลเหล่านี้คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ

คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ ได้แก่
โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล
อนาคามิมรรค อนาคามิผล
อรหัตตมรรค อรหัตตผล

5.อัตภาพ (อัตตะภาวะปะริยาปันโน)

แปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สิ่งมีชีวิตที่มีตัวตน คือ มีรูป ไม่ใช่สิ่งที่มองไม่เห็น อันได้แก่ เทวดา พรหม เป็นต้น

การแผ่เมตตาไปโดยไม่เจาะจงด้วยอาการ 5 นี้ โดยสรุปก็คือ การแผ่เมตตาแบบรวมๆ เช่น สัตตา อาจจะเป็นได้ทั้งสัตว์ หรือคน สัตว์ที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น โดยความหมายกว้างๆ เลย คือ สัตว์ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏจักรสงสาร นั่นเอง


แผ่เมตตา โดยเจาะจงผู้รับ 7 อย่าง

6.อิตถิโย

อิตถี หมายถึง ผู้หญิง เพศหญิง

อิตถิโย หมายถึง ผู้หญิงทั้งหลาย

บทนี้เป็นการแผ่เมตตาไปยังเพศหญิงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น คน หรือ สัตว์

7.ปุริสา

ปุริสา ในทีนี้ หมายถึง เพศชายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคน หรือ สัตว์

8.อะริยา

อะริยา หรือ พระอริยะ ก็คือ ผู้ที่บรรลุธรรม โดยสามารถละกิเลสอย่างละเอียด หรือสังโยชน์ 10 ได้ ตามลำดับขั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์

9.อะนะริยา

อะนะริยา คือ ผู้ที่ไม่ใช่อริยะ ในที่นี้ก็หมายถึง ปุถุชน ทั่วไป

10.เทวดา

เทวดา คือ ผู้ที่อยู่บนชั้นสวรรค์ มีกายทิพย์ ผู้ที่เกิดในสวรรค์ 6 ชั้น และพรหมโลก 20 ชั้น ถ้าใครสนใจเรื่องของเทวดา ในมหาสมัยสูตร เป็นสูตรที่ว่าด้วยการชุมนุมของเทวดา โดยพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบอกนามของพวกเทวดาให้ภิกษุทั้งหลายได้ทราบ โดยทรงไล่นามของเทวดาชั้นต่างๆ ลำดับต่างๆ

  • มหาสมัยสูตรนี้ เป็นที่รักที่ชอบใจของพวกเทวดา ไม่ควรสวดพระสูตรนี้ในบ้านเรือนเนื่องจากเทวดาจะมาประชุมกันมาก ส่วนมากมักจะสวด ในสถานที่ที่สร้างใหม่ สวดในวัด

  • นอกจากนี้ หลวงปู่ชอบ ได้เล่าถึงเรื่องเทวดาที่ชอบมาฟัง ธรรม หลวงปู่กล่าวว่า เทวดาจะชอบฟังธรรมต่างๆ กัน เช่น สังโยชน์เบื้องบน สังโยชน์เบื้องต่ำ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร กรณียเมตตสูตร เมตตาสังนะสูตร สังคหธรรม เมตตาหรหมวิหาร อย่างท่านอาจารย์มั่น แม้แต่ท้าวจตุโลกบาล ก็มาฟังธรรมกับท่าน ขอให้อาจารย์มั่นเทศนาเรื่อง นะรักกันตัง คือเรื่องที่กล่าวถึง กุศลมูล อกุศลมูล เกี่ยวกับเรื่องนรกเรื่องสวรรค์ ซึ่งแม้แต่หลวงปูชอบ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่า นะรักกันตัง คือเรื่องอะไร
  • 11.มนุษย์

    มนุษย์ หมายถึง คน สามัญชน,บุคคล,ปุถุชน ถ้ามองในแง่ของภพภูมิ มนุษย์ภูมิ ถือ เป็นภูมิที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อจะไปยังภพที่สูงกว่า หรือแล้วแต่อำนาจบุญกุศล

    12.วินิปาติกา

    วินิปาติกา คือ สัตว์ที่เกิดในภพต้องโทษ หรือเกิดในอบายภูมิทั้งสี่ คือ นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน

    การแผ่เมตตาไปโดยเจาะจงด้วยอาการ 7 นี้ มีการแผ่เมตตาไปยังบุคคลซึ่งมีคุณธรรมสูงกว่าเรา อันได้แก่ พระอริยบุคคล และเทวดา เหตุใดผู้มีคุณธรรมด้อยอย่างเราควรแผ่เมตตาไปยังพระอริยบุคคล ผู้เขียนลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ตัวเราคือ ผู้ใหญ่คนหนึ่ง ระหว่างที่เราเดินอยู่ มีเด็กน้อยอายุราวๆ 5 ขวบ นั่งเล่นอยู่ในสวน เด็กคนนี้หันมาพูดกับเราว่า ขอให้คุณลุง/คุณป้า/คุณน้า/คุณอา มีความสุข ขอให้สุขภาพแข็งแรงนะครับ เราจะรู้สึกยังไง ? เชื่อว่าเราต้องรักและเอ็นดูเด็กคนนี้แน่ๆ ถ้าเปรียบเทียบก็ดังเช่น การที่เราระลึกถึงพระอริยบุคคล หรือ เทวดานั้น ย่อมส่งผลให้เราเป็นที่รักและเมตตาของเหล่าเทวดา และพระอริยบุคคล อีกทั้งยังเป็นการฝึกให้จิตใจเรานั้นอ่อนโยน


    วิธีการสวดมนต์

    เริ่มจากสวด นะโม 3 จบ และตามด้วย ไตรสรณคมน์ พุทธังสะระณัง คัจฉามิ … และเริ่มสวดด้วย เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง….

    ส่วนบทแผ่เมตตาจะเปลี่ยนคำ ตรง ทิศ และ ผู้รับ

    คาถามหาเมตตาใหญ่ - คำแปล

    ในแต่ละบท จะสวดแผ่เมตตาไปยังผู้รับ โดยเริ่มจาก สัตตา ก่อน และกล่าวแผ่เมตตาไปให้ครบสิบทิศ

    (๑) สัพเพ ปุรัตถิมายะ ทิสายะ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ฯ

    (๒) สัพเพ ปัจฉิมายะ ทิสายะ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ฯ

    (๓) สัพเพ อุตตะรายะ ทิสายะ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุ ฯ

    (๔) สัพเพ ทักขิณายะ ทิสายะ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆาสุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ฯ

    (๕) สัพเพ ปุรัตถิมายะ อะนุทิสายะ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ฯ

    (๖) สัพเพ ปัจฉิมายะ อะนุทิสายะ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ฯ

    (๗) สัพเพ อุตตะรายะ อะนุทิสายะ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานังปะริหะรันตุฯ

    (๘) สัพเพ ทักขะณายะ อะนุทิสายะ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ฯ

    (๙) สัพเพ เหฏฐิมายะ ทิสายะ สัตตา อะเวราอัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ฯ

    (๑๐) สัพเพ อุปะริมายะ ทิสายะ สัตตา อะเวรา อัพยาปัชฌา อะนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ ฯ

    จากนั้นแผ่เมตตาไปยังผู้รับ อื่นๆ โดยเปลี่ยนเป็น ปาณา,ภูตา,ปุคคะลา,อัตตะภาวะปะริยาปันนา,อิตถิโย,ปุริสา,อะริยา,อะนะริยา,เทวา,มะนุสสา,วินิปาติกา


    คาถามหาเมตตาใหญ่ สวดพร้อม คำแปล

    การสวดมนต์นี้ เราสามารถฟังจากคลิปเสียงสวดมนต์ หรือ สวดออกเสียงด้วยตัวเอง หากไม่สบายก็สวดแบบไม่ออกเสียง เนื่องจากพระคาถาค่อนข้างยาว ถ้าฟังคลิปเสียงอาจจะทำให้คงสติได้ไม่นาน

    วิธีการสวดอีกแบบคือ สวดข้ามในส่วนของ เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง…. มาเริ่มต้นสวดที่บทแผ่เมตตาเลย คือ สัพเพ ปุรัตถิมายะ ทิสายะ โดยผู้เขียนแนะนำให้อ่านคำแปลของแต่ละบท โดยพูดขึ้นต้นในแต่ละท่อนของผู้รับว่า

    “ต่อไป เป็นการแผ่เมตตาไปยังทิศทั้งสิบ ให้แก่ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง” แล้วสวด สัพเพ ปุรัตถิมายะ ทิสายะ สัตตา … จนจบท่อนสัตตา

    “ต่อไป เป็นการแผ่เมตตาไปยังทิศทั้งสิบ ให้แก่ ปาณา สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย” แล้วสวด สัพเพ ปุรัตถิมายะ ทิสายะ ปาณา … จนจบท่อนปาณา

    สวดแบบนี้ ไปจนจบ การที่เรากล่าวแปลก่อนนั้น ก็เพื่อให้เข้าใจความหมาย และมีสติรู้ว่าตอนนี้เรากำลังแผ่เมตตาถึงใคร มีสมาธิ มันจะส่งผลให้กำลังจิตของเรามีมากขึ้น

    เมื่อสวดมนต์จบแล้ว ให้กรวดน้ำ หรือให้กล่าวอุทิศส่วนกุศลในใจ

    >> อ่านเพิ่มเติม :: บทกรวดน้ำ # สัพพปัตติทานคาถา บทกรวดน้ำที่อุทิศส่วนกุศลให้กับบิดามารดา เจ้ากรรมนายเวร รวมถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในภูมิทั้งสาม


    ต้องใช้พลังขนาดไหนเพื่อแผ่เมตตา

    การแผ่เมตตานั้น เป็นการใช้สมาธิ เพื่อสร้างตัวจิตที่ตั่งมั่น มุ่งมั่น เพื่อให้เกิดพลัง พลังมากก็ส่งได้มาก เหมือนเราดูนักร้อง ที่สามารถส่งพลังเสียง และสะกดคนดูได้ยังไง การแผ่เมตตาอาจจะใช้เทคนิคนี้ โดยให้ตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง และกล่าวคำสวดมนต์ด้วยถ้อยคำฟังชัด ผิดถูกไม่เป็นไร


    สวดพระคาถานี้ แก้กรรมได้จริงมั้ย

    ความจริงแล้ว “บุญ” ก็ส่วนบุญ “กรรม” ก็ส่วนกรรม การสวดมนต์นั้นเป็นการเจริญภาวนา สร้างบุญ เกิดกุศลจิต เกิดเมตตาจิต กรรมนั้นจึงถูกบรรเทาเบาบางลง อันเนื่องมาจาก บุญ และการอโหสิกรรม บทสวดมนต์ใดๆ ก็ตาม ให้อานิสงส์อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับผู้ที่สวดมนต์ จะมีสมาธิจดจ่อมากน้อย ถึงแม้การสวดมนต์บางวันเราอาจจะรู้สึกว่าสวดแย่ ฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ หรือบางวันรู้สึกว่าสวดดี จิต นิ่ง สงบ อันนี้เป็นการบอกให้เราเห็นถึงไตรลักษณ์ ว่าบังคับไม่ได้ เมื่อข้อธรรมผุดขึ้นระหว่างสวดมนต์นั้น แสดงให้เห็นว่า “ปัญญา” เกิดขึ้นแล้ว “บุญ” ย่อมเกิด และจะเป็นมือที่มาโอบล้อม ให้เรารอดพ้นจากวิกฤตต่างๆ ได้เอง

    หลวงพ่อจรัญท่านได้กล่าวไว้ว่า บางคนเชื่อผิดๆ ว่ากรรมฐานทำให้ตัดกรรมได้ ถ้าตัดกรรมได้ ไปฆ่าใครเขามาก็ตัดกรรม ไม่ต้องใช้หนี้

    ขอบคุณข้อมูลจาก

  • หนังสือโครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม 9 หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
  • หนังสือคาถามหาเมตตาใหญ่ แก้ไขเวรกรรม