พระคาถาชินบัญชร

พระคาถาชินบัญชร

Time reading :: 3 minutes

ความหมายที่ควรรู้และอานิสงฆ์ที่ควรได้รับ

พระคาถาชินบัญชร เป็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ พระอรหันต์สาวก พระปริตร มาสถิต ณ ร่างกายของเรา

หากจะให้เห็นภาพ เราค่อยๆ มาไล่ดูความหมายของแต่ละบท และสร้างภาพดู จะได้เห็นว่าพระคาถานี้ได้เป็นปราการ หรือ กรอบล้อมรอบตัวเราอย่างไรบ้าง

  1. ชะยาสะนาคะตา พุทธา
    เชตะวา มารัง สะวาหะนัง
    จะตุสัจจาสะภัง ระสัง
    เย ปิวิงสุ นาราสะภา

พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ผู้องอาจในหมู่ชน ทรงมีชัยบัลลังก์ อันบุญบารมีสร้าง (ถวาย) ทรงพิชิตพญามาราธิราช ผู้พรั่งพร้อมทั้งหมู่เสนามาร เสวยอมตรส คือ ทรงดื่มรสพระอริยสัจธรรมทั้ง 4 ประการแล้ว

** อมตรส ในที่นี้หมายถึง รสแห่งพระธรรม คือ อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)

  1. ตัณหังกะราทะโย พุทธา
    อัฏฐะวีสะติ นายะกา
    สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง
    มัตถะเก เต มุนิสะรา

พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลส และกองทุกข์ ทั้งหมด 28 พระองค์ อันมีพระพุทธเจ้าตัณหังกรเป็นอาทิ พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น ข้าพเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้า

** นับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีพระพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้วนับไม่ถ้วน ดังจะเห็นได้จากบทสวด สัมพุทเธ (สัมพุทเธ แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหมด) โดยรวมมีทั้งหมด 3 ล้านกว่าพระองค์ที่ได้ตรัสรู้มาแล้ว โดยแบ่งเป็น

  1. พระพุทธเจ้าปัญญาธิกะ ๕๑๒,๐๒๘ พระองค์
  2. พระพุทธเจ้าศรัทธาธิกะ ๑,๐๒๔,๐๕๕ พระองค์
  3. พระพุทธเจ้าวิริยาธิกะ ๒,๐๔๘,๑๐๙ พระองค์

ในพระคาถาชินบัญชร กล่าวถึงพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ โดยมีพระตัณหังกร (ผู้กล้า) เป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ 1 เหตุที่ได้อันเชิญพระพุทธเจ้า 28 พระองค์นี้ เนื่องจากพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เริ่มสร้างบารมีจนถึงตรัสรู้ มีพระพุทธเจ้าอุบัติมา 28 พระองค์

นอกจากนี้ยังมีบทสวดมนต์ อีกหลายๆ บท ได้แก่

อุปปาตะสันติ – บทสวดสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต อีกทั้งสรรเสริญพระคุณของผู้ทรงคุณทรงฤทธิ์และทรงอำนาจต่างๆ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ – พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

  1. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง
    พุทโธ ธัมโม ทะวิโรจะเน
    สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง
    อุเร สัพพะคุณากะโร

ขออัญเชิญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานบนศีรษะ พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง และพระสงฆ์ผู้เป็นบ่อเกิดแห่งคุณงามความดีทั้งปวงอยู่ที่อุระของข้าพเจ้า

  1. หะทะเย เม อะนุรุทโธ
    สารีปุตโต จะ ทักขิเณ
    โกทัณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง
    โมคคัลลาโน จะ วามะเก

ขออัญเชิญ พระอนุรุทธ์ อยู่ที่หัวใจของข้าพเจ้า พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา พระโกณฑัญญะอยู่เบื้องหลัง และพระโมคคัลลานะอยู่เบื้องซ้าย

พระอนุรุทธ์ เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “ตาทิพย์”
พระสารีบุตร เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “ปัญญา”
พระโกณฑัญญะ เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “รัตตัญญู” (แปลว่า ผู้รู้ราตรีนาน หมายถึง เป็นผู้รู้ธรรมก่อนใครในพระพุทธศานาและได้บวชก่อนผู้อื่น)
พระโมคคัลลานะ เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “มีฤทธิ์มาก”

  1. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง
    อาสุง อานันทะราหุลา
    กัสสะโป จะ มะหานาโม
    อุภาสุง วามะโสตะเก

ขออัญเชิญ พระอานนท์ และ พระราหุล อยู่ที่หูข้างขวา พระกัสสปะ และพระมหานามะทั้งสอง อยู่ที่หูข้างซ้าย

พระอานนท์ เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “พหูสูตร”
พระราหุล เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “ใฝ่ศึกษา”
พระกัสสปะ เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “ธุดงควัตร”
พระมหานามะ เป็นสาวกที่น่าเลื่อมใส เป็นนักเทศน์ผู้เป็นเลิศในการเผยแพร่ธรรม

  1. เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง
    สุริโยวะ ปะภังกะโร
    นิสินโน สิริสัมปันโน
    โสภิโต มุนิปุงคะโว

ขออัญเชิญพระโสภิต ซึ่งเป็นปราชญ์ผู้รุ่งเรืองดั่งพระอาทิตย์สมบูรณ์ด้วยสิริจงสถิตยังส่วนหลังตั้งแต่เส้นผมลงไป

พระโสภิตะ เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “ระลึกชาติ”

  1. กุมาระกัสสโป เถโร
    มะเหสี จิตตะวาทะโก
    โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง
    ปะติฏฐาสิ คุณากะโร

ขออัญเชิญพระกุมารกัสสปเถรเจ้าผู้แสวงหาคุณยิ่งใหญ่ มีวาทะอันวิจิตรไพเราะ เป็นบ่อเกิดแห่งคุณอันประเสริฐ จงประดิษฐานที่ปากของข้าพเจ้าเป็นนิตย์

พระกุมารกัสสปะ เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “วาจาไพเราะ”

  1. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ
    อุปาลีนันทะสีวะลี
    เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา
    นะลาเต ตีละกา มะมะ

ขออัญเชิญพระปุณณะ พระองคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวลี พระเถระทั้งห้าพระองค์นี้ มาประดิษฐานเกิดเป็นประดุจรอยเจิมที่หน้าฝากของข้าพเจ้า (เพื่อความเป็นสิริมงคล)

พระปุณณะ เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “บรรยายธรรม”
พระองคุลิมาล เป็นผู้มีขันติ
พระอุบาลี เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัย”
พระนันทะ เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “สำรวมอินทรีย์”
(การสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย เวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ)
พระสีวลี เป็นผู้มีเอตทัคคะด้าน “มีลาภมาก”

  1. เสสาสีติ มะหาเถรา
    วิชิตา ชินะสาวะกา
    เอตาสีติ มะหาเถรา
    ชิตะวันโต ชิโนระสา
    ชะลันตา สีละเตเชนะ
    อังคะมังเคสุ สัณฐิตา

ขออัญเชิญพระอสีติมหาเถระ ที่เหลือ ซึ่งเป็นพระสาวกของผู้ทรงชัย พระมหาเถระ 80 องค์เหล่านั้นเสมือนโอรสทางธรรมแห่งพระชินเจ้า ล้วนรุ่งเรืองอยู่ด้วยเดชแห่งศีล จงสถิตทั่วอวัยวะน้อยใหญ่

พระอสีติมหาสาวก เป็นพระเถระสาวกผู้ใหญ่ของพระพุทธเจ้า มี 80 องค์ ในทีนี้หมายถึง พระมหาสาวกที่เหลือจากที่กล่าวมาทั้งหมดอีก 65 องค์ อาราธนามาสถิต ณ อวัยวะน้อย ใหญ่ เพื่อป้องกันอันตราย

พระคาถาชินบัญชร
  1. ระตะนัง ปุระโต อาสิ
    ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
    ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ
    วาเม อังคุลิมาละกัง

ขออัญเชิญพระรัตนปริตร จงพิทักษ์เบื้องหน้า พระเมตตปริตร พิทักษ์เบื้องขวา พระธชัคคปริตรพิทักษ์เบื้องหลัง พระอังคุลิมาลปริตร พิทักษ์เบื้องซ้าย

ปริตร แปลว่า เครื่องคุ้มครองจากอันตรายภายนอก โดยมีทั้งหมด 12 ปริตร

พระรัตนปริตร (รัตนสูตร) เป็น ปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย โดยพระพุทธองค์ให้พระอานนท์ร่ายสวดพระปริตร เพื่อใช้สวดขจัดปัดเป่าภัยภัยแล้งและโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้นในกรุงเวสาลี

พระเมตตปริตร (กรณียเมตตสูตร) เป็นพระปริตร เพื่อป้องกัน คุ้มครองภยันตรายต่าง ๆ เมื่อครั้งพุทธกาล เมื่อคราวที่พระภิกษุหลายร้อยรูปจำพรรษาและปฏิบัติธรรมอยู่ ณ โคนต้นไม้ ซึ่งเป็นที่สถิตย์ของรุขเทวดา ทำให้รุกขเทวดาไม่พอใจ จึงได้จำแลงกายหลอกหลอน เพื่อขัดขวางและขับไล่พระภิกษุ เมื่อพระพุทธองค์ทรงสดับเรื่องราวแล้วจึงแนะนำให้ แผ่เมตตาแก่รุขเทวดา ภายหลังเมื่อพระภิกษุปฏิบัติตาม จึงสามารถเอาชนะใจเทวดาได้

พระธชัคคปริตร (ธชัคคสูตร) ธชัคคะ แปลว่า ยอดธง ธชัคคสูตรคือพระสูตรที่แสดงถึงยอดธง เป็นพระปริตร เพื่อป้องกันภัยหรือเมื่อเกิดความหวาดกลัว ให้ระลึกถึงพระรัตนตรัยก็จะสามารถระงับความสะดุ้งหวาดกลัวลงได้

พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าเรื่องสงครามระหว่างเทวดากับอสูร เมื่อเทวดาเกิดความกลัวขึ้น ท้าวสักกะจึงบอกให้หมู่เทพทั้งหลายมองดูยอดธงหรือชายธงของพระองค์ หรือว่าของเทพชั้นรองลงมาตามลำดับความกลัวก็จะหายไปได้หรือไม่ได้บ้าง เพราะเทพผู้เป็นใหญ่เหล่านั้นยังเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า

เมื่อเวลาเข้าไปอยู่ในป่า เกิดความกลัวขึ้น ก็ให้ระลึกถึงพระองค์ซึ่งเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในบทว่า อิติปิโส… ภะคะวาติ. หรือระลึกถึงพระธรรมในบทว่า สวากขาโต…วิญญูหีติ. หรือระลึกถึงพระสงฆ์ในบทว่า สุปะฏิปันโน…โลกัสสาติ.เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ความกลัวทั้งหลายก็จักไม่มีเลย


พระอังคุลิมาลปริตร
เป็นพระสูตรว่าโดยการแผ่เมตตา ทำให้คลอดลูกง่ายและปลอดภัย โดยท่านพระองคุลิมาล กล่าวกับหญิงท้องแก่ ว่า “ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เวลาที่ฉันเกิดแล้วในอริยชาติ จะแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตทั้งรู้หามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ ของท่านเถิด”

  1. ขันธะโมระปะริตตัญจะ
    อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
    อากาเส ฉะทะนัง อาสิ
    เสสา ปาการะสัณฐิตา

ขออัญเชิญพระขันธปริตร พระโมรปริตร พระอาฏานาฏิยปริตร เป็นเครื่องกางกันดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ และพระปริตรที่เหลือตั้งไว้เป็นกำแพงล้อมรอบ

พระขัทธปริตร เป็นพระสูตร ว่าด้วยการแผ่เมตตาและป้องกันภยันตรายจากอสรพิษและสัตว์มีพิษอื่น

พระโมรปริตร ว่าด้วยการขอความคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัยจากผู้คิดร้าย มาจากเรื่องราวที่พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นนกยูง ได้ขอความคุ้มครองจากพระอาทิตย์ พระพุทธ พระธรรม และผู้รักษาศีลทั้งก่อนออกหากิน และก่อนนอน

พระอาฏานาฏิยปริตร ว่าด้วยบทนมัสการพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ เพื่อให้พ้นจากการถูกเบียดเบียนจากพวกอมนุษย์ ผู้ไม่เลื่อมในในพุทธศาสนา หรือพวกที่กระทำสิ่งร้ายเป็นนิตย์ (บนสวดนี้ท้าวเวสสวรรณทูลถวายแด่พระพุทธเจ้า)

พระปริตรที่เหลือ 5 ปริตร จากที่ได้กล่าวมาแล้ว 7 ได้แก่

  • มงคลสูตร – มงคล 38 ประการ
  • วัฏฏกปริตร – ว่าด้วยการป้องกันไฟ พระพุทธองค์พระเสวยพระชาติที่เป็นพระโพธิสัตว์ ได้เกิดเป็นนกคุ่ม แล้วทำสัจกิริยา เพื่อให้พ้นจากภัยไฟป่าขณะที่อยู่ในรังตามลำพัง “ปีกของเรามีอยู่ แต่ก็บินไม่ได้ เท้าทั้งสองของเรามีอยู่ แต่ก็เดินไม่ได้ มารดาและบิดาของเรา ออกไปหาอาหาร ดูก่อนไฟ ท่านจงถอยกลับไปเสีย” สัจกิริยา คือการกล่าวอ้างความสัจจะ คุณความดีของพระรัตนตรัย หรือของตนเพื่อขจัดปัดเป่าทุกข์ภัยที่เกิดขึ้นกับตนเอง หรือบุคคลอื่น
  • โพชฌังคปริตร ว่าด้วยการหายจากโรคภัยไข้เจ็บ
  • อภยปริตร ว่าด้วยการให้อภัยและอโหสิกรรม มักสวดเพื่อไม่ให้ฝันร้าย
  • ชยปริตร (มหาการุณิโก) ว่าด้วยการสรรเสริญชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๘ ครั้ง (จากบทสวด พาหุง ) แล้วขอให้สัจวาจานั้นคุ้มครองผู้สวดให้พบพานสุขสวัสดี เพื่อให้เกิดชัยมงคล นิยมใช้สวดในงานพิธีมงคลต่างๆ เวลาพระสงฆ์ประพรมน้ำพุทธมนต์จะสวดว่า “ชะยันโต โพธิยา มูเล สักยานัง นันทิวัฒฑะโน”
พระคาถาชินบัญชร
  1. ชินา นานาวรสังยุตตา
    สัตตัปปาการะลังกะตา
    วาตะปิตตาทิสัญชาตา
    พาหิรัชฌัตตุปัททะวา
  1. อะเสสา วินะยัง ยันตุ
    อะนันตะชินะเตชะสา
    วะสะโต เม สะกิจ
    สะทะ สัมพุทธะปัญชะเร

พระชินพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงประกอบด้วยพระคุณอันประเสริฐนานาประการ ประดับด้วยอาภรณ์กำแพงป้องกันเจ็ดชั้น เมื่อข้าพเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อมแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยกิจของตนทุกเมื่อ ขอให้อุปัทวะทั้งภายนอก และภายในอันเกิดแต่ลม และน้ำดีเป็นต้น จงถึงความพินาศดับสูญ โดยไม่มีส่วนเหลือ

บางฉบับ ใช้ ชินาณา = ชิน + อาณา แปลว่า อำนาจแห่งพระชินเจ้า คือ พุทธคุณ ๙

พุทธคุณ ๙
๑. อะระหัง (เป็นผู้ไกลจากกิเลส)
๒. สัมมาสัมพุทโธ (ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง)
๓. วิชชาจะระณะสัมปันโน (เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา <ความรู้แจ้ง> และจรณะ <ความประพฤติ> )
๔. สุคะโต (เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี)
๕. โลกะวิทู (เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง)
๖. อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ (เป็นผู้สามารถฝึกคนที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า)
๗. สัตถา เทวะมนุสสานัง (เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย)
๘. พุทโธ (ป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม)
๙. ภะคะวาติ (เป็นผู้มีความเจริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์)
  1. ชินปัญชะระมัชฌัมหิ
    วิหะรันตัง มะฮีตาเล
    สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ
    เต มะหาปุริสาสะภา

ขอพระมหาบุรุษ ผู้ทรงคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น จงคุ้มครองข้าพเจ้าผู้อยู่บนภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชรทุกเมื่อเทอญ

  1. อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
    ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว
    ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
    สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
    สัทธัมมานุภาวะปาลิโต
    จะรามิ ชินะปัญชะเรติ

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย มีอานุภาพดังว่ามานี้ เป็นอันข้าพเจ้าได้รับความคุ้มครองรักษาเป็นอย่างดี ด้วยอานุภาพแห่งพระชินเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าชนะความอุบาทว์ ความขัดข้อง ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ขอให้ข้าพเจ้าชนะหมู่ข้าศึกศัตรู ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอให้ข้าพเจ้าชนะอันตรายทั้งหลาย

หมายเหตุ คำแปล พระคาถาชินบัญชร คัดลอกจากหนังสือ “คำแปล ๑๔๕ ความหมายจากพระคาถาชินบัญชร” แปลโดย พระมหาสมคิด ปิยวณฺโณ ป.ธ.๙ ท่านได้แปลด้วยถ้อยคำที่สละสลวยเข้าใจง่าย ดังที่กล่าวไว้ในหนังสือ คือ ท่องง่าย เกิดปัญญา ได้สมาธิ เกิดสติปัญญา ขออนุโมนาบุญกับคณะผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ที่ได้จัดทำและแบ่งปันเป็นธรรมทาน

เปิดอ่านหนังสือ คำแปล ๑๔๕ ความหมายจากพระคาถาชินบัญชร คลิ๊กที่นี่

หรือเข้าไปที่ website ของ วัดระฆัง http://www.watrakang.com/chinabanchon145.php

ส่วนเนื้อหาอื่นๆ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและได้สร้างภาพตามความเข้าใจเพื่อให้เห็นภาพว่า เมื่อได้อาศัยอยู่ในกรงล้อมแห่งชินบัญชร อุปัทวะทั้งหลายจักไม่มีแก่ผู้สาธยาย พระคาถาชินบัญชร นี้


ในตำรากล่าวว่า พระคาถาชินบัญชร ของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ถ้าใครท่องจำได้ขึ้นใจ ภาวนาทุกคืน จะมีคุณานุภาพมากมาย มีความศักดิ์สิทธิ์และทรงอานุภาพ ทุกบทจะทำให้เกิดโชคลาภ เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ใช้เสกทำน้ำมนต์ แก้เรื่องคุณไสย หรือแม้กระทั่งปลุกเสกพระ เครื่องรางของขลังจะเพิ่มอิทธิ์ฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากยิ่งขึ้น ถ้าจำไม่หมดสามารถเลือกจำแต่ละบทได้ ดังนี้

  • อาราธนาพระสมเด็จไปกับตัว ใช้บทที่ 3
  • สำหรับนักพูด นักแสดง ก่อนพูดก่อนแสดง ใช้บทที่ 7
  • สำหรับเสกน้ำล้างหน้า เสกแป้งเจิม ใช้บทที่ 8
  • แคล้วคลาดปลอยภัยจากอันตราย ใช้บทที่ 9
  • ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ใช้บทที่ 13
  • อาราธนาขอให้คุณพระคุ้มครอง ใช้บทที่ 14

อ่านเรื่อง บทสวดมนต์ “พาหุง” >>> คำแปลสั้นๆ ได้ใจความ แค่หนึ่งบรรทัดในแต่ละบท